xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา”แฮงก์ดันโฆษณาสุรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “ไชยา” ชี้โฆษณาไม่มีผลต่อการดื่ม ชี้มีโฆษณามากยิ่งดียิ่งสร้างงาน พบมีสุราเถื่อนมัดปากถุงปล่อยปลา ขายราคาถูก กินแล้วเมาเร็ว ระบาดอีสาน-เหนือ ด้านเครือข่ายเหล้าฯ เตรียมทำหนังสือถึง รมว.สธ. ให้ข้อมูล เดินหน้าให้ออกกฎกระทรวง พ.ร.บ.คุมเหล้า ที่ยังไม่ชัดเจน หวั่นตีความเข้าข้างธุรกิจสั่นคลอนรัฐบาล ขณะที่เอ็นจีโอขู่ฟ้องศาลปกครองหากแช่แข็ง CL ส่วนอ็อกแฟมแถลงผลกระทบหากไทยเลิกซีแอลวันนี้

นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ในความเห็นส่วนตัว มองว่า การยิ่งจำกัดเวลาก็ยิ่งขายดี การห้ามโฆษณาเหล้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนจะดื่มเหล้าลดลง อย่ามองว่าจะได้ผลเช่นนั้น การทำธุรกิจ เมื่อธุรกิจยิ่งใหญ่ก็สามารถเก็บภาษีได้มากโดยออกมาในรูปนำเงินไปสร้างโฆษณาก็เป็นการสร้างงานให้มากขึ้น

“การโฆษณาแล้วคนเชื่อ ผมคงรวยไปแล้ว เพราะผมจะโฆษณาบ้างว่า ใช้ไม้จิ้มฟันของผมแล้วไม่ต้องแปรงสีฟันคนจะเชื่อไหม ใช้เขี่ยๆ ฟันก็สะอาดเลย ส่วนการควบคุมโฆษณาเหล้าของเก่าก็ถือว่าดีอยู่แล้ว อย่างผมนอนตั้งแต่หัวค่ำยังไม่เคยเห็นโฆษณา”

นายไชยา กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญ คือ มีการร้องเรียนมาเยอะมากว่า ในต่างจังหวัดแถวภาคอีสานและภาคเหนือ พบว่ามีการต้มกลั่นเหล้าเอง ซึ่งเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะเป็นการต้มเหล้าที่ไม่รู้ว่าใส่สารอะไร จึงกินแล้วเมาเร็วมาก โดยลักษณะที่พบว่าเป็นการนำเหล้าใส่ไว้ในถุงปล่อยปลาขนาดใหญ่บรรทุกไว้เต็มรถ ขายในราคาถูก เพียง 5- 8 บาท แต่ไม่มีการจัดเก็บภาษี และขายดีอีกด้วย ดังนั้น คงจะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะอาจเป็นอันตราต่อสุขภาพ และส่งผลต่อการรักษาบัตรทองด้วย

“ผมมีเอกสารหนาเป็นปึก คราวนี้จะทำงานเชิงบุกเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรค โดยที่ผ่านมาเป็นการตั้งรับเท่านั้น ซึ่งผมจะออกตรวจโรงงานสุรา โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐาน เพราะพบเยอมากว่า มีเหล้าที่มาแบบโอท็อปแต่ไม่ใช่โอท็อปเห็นรูปแล้วจะตกใจ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เป็นเพราะเหล้าตัวนี้เยอะ”นายไชยา กล่าว

ศูนย์วิจัยสุราฯ จี้เร่งออกกฎกระทรวง

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 แต่จะต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่สามารถโฆษณาได้ โดยเครือข่ายเหล้าฯ จะมีการหารือ และทำหนังสือถึงรมว.สธ. เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ออกกฎกระทรวง

นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า การห้ามจำหน่าย หรือสถานที่ห้ามดื่ม สามารถดำเนินการได้ทันที ขณะที่เรื่องฉลาก คำเตือน โลโก้ เวลาในการโฆษณาต้องออกกฎกระทรวง โดยทำการชี้แจงและสร้างความเข้าใจชัดเจน โดยการกำหนดเวลาในการควบคุมโฆษณาจะต้องไม่ต่ำกว่าปัจจุบัน ซึ่งเดิมห้ามโฆษณาตั้งแต่ 05.00-22.00 น.โดยมีการเสนอให้ห้ามโฆษณาตั้งแต่ 05.00 น.- 24.00 น. รวมทั้งกรณีที่มีการตีความเข้าข้างธุรกิจ โดยให้โฆษณาภาพลักษณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแต่ห้ามโฆษณาเชิญชวนตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตรงนี้ยังมีความไม่ชัดเจน

“จะแย่มาก ถ้าปล่อยให้มีการโฆษณาภาพลักษณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ที่ผ่านมามีโฆษณาหลายตัว ที่สร้างภาพลักษณ์และความประทับใจให้กับเด็ก หรือการนำผ้าห่มไปแจกในต่างจังหวัด เป็นการสร้างบุญคุณ สร้างความรู้สึกว่าบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ดี ที่ทำเพื่อสังคม และเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะซื้อแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้นตอบแทน”นพ.บัณฑิต กล่าว

นพ.บัณฑิตกล่าวด้วยว่า ภาวนาให้รัฐบาลชุดนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยตระหนักถึงผลจากการโฆษณาสินค้าประเภทนี้ เพราะหากมีการตีความใหม่แล้วเข้าข้างธุรกิจ ปัญหานี้ อาจสั่นคลอนรัฐบาล เพราะหากโกยแล้วโกยอีกก็ล่ม เพราะทุกอย่างมีกฎแห่งกรรม

สิงห์ยิ้มรับแนวคิด รมต.ใหม่

นายฉัตรชัย วิรัตน์โยสินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สิงห์คอร์ปปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ลีโอเบียร์ ไทเบียร์ อีสานเบียร์ กล่าวว่า สำหรับกฎหมายฉบับนี้ที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนเดิมนายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นตัวตั้งตัวตีผมมองว่าเป็นกฎหมายที่สุดโต่ง และไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง แต่หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่นายไชยา สะสมทรัพย์ กล่าวถึงกรณีอยากให้มีโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น เพราะมองว่าโฆษณาไม่ได้สื่อหรือชักชวนให้คนดื่มเหล้ามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ยืนยันในเรื่องดังกล่าวมาตลอดว่า โฆษณาไม่มีผลต่อการชักชวนให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามในฐานะผู้ประกอบการ แม้ว่ารัฐมนตรีคนใหม่วางแนวทางอย่างไรก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่อยากให้เป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการปฏิบัติได้จริงและไม่สร้างผลกระทบต่อส่วนรวม

เอ็นจีโอขู่ฟ้องศาล ปค.หากแช่แข็ง CL

นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) กล่าวว่า การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และมีความเหมาะสมในการนำมาใช้กับผู้ป่วยเพื่อให้เข้าถึงยามากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า รัฐบาลควรจะดำเนินการทำซีแอลต่อเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาโดยเร็วที่สุดและไม่ยืดเยื้อ แต่หากสธ.ไม่ดำเนินการใดๆ ตามที่ได้มีการประกาศทำซีแอลไว้ หากครบกำหนดเวลาที่มีทบทวนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ มูลนิธิผู้บริโภคฯ และเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน จะฟ้องศาลปกครองฐานที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากทุกฝ่ายก็ยอมรับแล้วว่า การทำซีแอลถูกต้อง และไม่มีการยกเลิกทำซีแอล ฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะชะลอการดำเนินการต่อจากที่มีการประกาศ

ส่วนความพยายามในการแบ่งแยก ผู้ติดเชื้อเอชไอวี /เอดส์ ออกจากผู้ป่วยกลุ่มอื่น โดยบอกว่า การทบทวนซีแอลไม่เกี่ยวกับกลุ่มผู้ติดเชื้อฯ เพราะไม่กระทบนั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความพยายามลดทอนกระแสความกดดันเท่านั้น ซึ่งเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ จะไม่ทิ้งผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ อย่างแน่นอน เนื่องจากเข้าใจหัวอกซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องสิทธิด้านสุขภาพที่คนไทยควรจะได้รับ

นางสาวสุภัทรา กล่าวด้วยว่า ส่วนที่หลายฝ่ายมีการตั้งโจทย์ใหม่เรื่องเรื่องจีเอสพีนั้น ไม่ควรนำมาโยงกับเรื่องการทำซีแอล เพราะการตัดจีเอสพีหรือไม่ มีเงื่อนไข เหตุผลอื่นมากมาย อีกทั้งประเทศไทยก็มีแนวโน้มจะถูกตัดจีเอสพีอยู่แล้ว เนื่องจากเรามีความสาสมารถในการแข่งขันได้ ดังนั้นอย่ายกมาอ้างลอยๆ ให้คนไทยสับสน และเลิกโกหกประชาชนผ่านสื่อ ซึ่งเป็นการความเข้าใจผิดอย่างมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เวลา 10.30 น.ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ (FCCT) ตึกมณียา นางซาราห์ ไอร์แลนด์ (Sarah Ireland) ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออก อ็อกแฟม น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์องค์กรหมดไร้พรมแดน นพ.พงษ์เทพ วงษ์วัชรไพบูลย์ ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท นายเกร็ก เกรย์ (Greg Grey) เจ้าหน้าที่ประสานงานInternational Treatment Preparedness Coalition นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานหอการค้าไทย ร่วมแถลงข่าว เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากการตัดสินใจของรัฐบาลในเรื่องซีแอลที่จะมีต่อคนยากจนในเรื่องการเข้าถึงยา ทั้งประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างปรากฎการณ์ในเชิงลบว่าบริษัทยาจะสามารถต้อนให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจนมุมและจำเป็นต้องยอมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องยาที่มีราคาแพงสูงลิ่ว และเท่ากับเป็นการส่งสาสน์ให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เข้าใจว่าอย่าได้พยายามนำสิทธิในข้อตกลงระหว่างประเทศมาใช้เพื่อการสาธารณสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น