“ไชยา” ชี้โฆษณาไม่มีผลต่อการดื่ม ยก “ไม้จิ้มฟัน” ยังโฆษณาให้ใช้แทนแปรงสีฟันไม่ได้ ชี้ มีโฆษณามากยิ่งดียิ่งสร้างงาน พบมีสุราเถื่อนมัดปากถุงปล่อยปลา ขายราคาถูก กินแล้วเมาเร็ว ระบาดอีสาน-เหนือ เตรียมเดินสายตรวจโรงงานสุรา เครือข่ายเหล้าฯ เตรียมทำหนังสือถึง รมว.สธ.ให้ข้อมูล เดินหน้าให้ออกกฎกระทรวง พ.ร.บ.คุมเหล้า ที่ยังไม่ชัดเจน หวั่นตีความเข้าข้างธุรกิจสั่นคลอนรัฐบาล
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ในความเห็นส่วนตัว มองว่า การยิ่งจำกัดเวลาก็ยิ่งขายดี การห้ามโฆษณาเหล้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนจะดื่มเหล้าลดลง อย่ามองว่าจะได้ผลเช่นนั้น การทำธุรกิจเมื่อธุรกิจยิ่งใหญ่ก็สามารถเก็บภาษีได้มาก โดยออกมาในรูปนำเงินไปสร้างโฆษณาก็เป็นการสร้างงานให้มากขึ้น
“การโฆษณาแล้วคนเชื่อ ผมคงรวยไปแล้ว เพราะผมจะโฆษณาบ้างว่า ใช้ไม้จิ้มฟันของผมแล้วไม่ต้องแปรงสีฟันคนจะเชื่อไหม ใช้เขี่ยๆ ฟันก็สะอาดเลย ส่วนการควบคุมโฆษณาเหล้าของเก่าก็ถือว่าดีอยู่แล้ว อย่างผมนอนตั้งแต่หัวค่ำยังไม่เคยเห็นโฆษณา”นายไชยา กล่าว
นายไชยา กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญ คือ มีการร้องเรียนมาเยอะมาก ว่า ในต่างจังหวัดแถวภาคอีสานและภาคเหนือ พบว่า มีการต้มกลั่นเหล้าเอง ซึ่งเห็นแล้วก็ตกใจ เพราะเป็นการต้มเหล้าที่ไม่รู้ว่าใส่สารอะไร จึงกินแล้วเมาเร็วมาก โดยลักษณะที่พบว่าเป็นการนำเหล้าใส่ไว้ในถุงปล่อยปลาขนาดใหญ่บรรทุกไว้เต็มรถ ขายในราคาถูก เพียง 5-8 บาท แต่ไม่มีการจัดเก็บภาษี และขายดีอีกด้วย ดังนั้น คงจะปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และส่งผลต่อการรักษาบัตรทองด้วย
“ผมมีเอกสารหนาเป็นปึก คราวนี้จะทำงานเชิงบุกเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังโรค โดยที่ผ่านมาเป็นการตั้งรับเท่านั้น ซึ่งผมจะออกตรวจโรงงานสุรา โดยเฉพาะเรื่องของมาตรฐาน เพราะพบเยอะมาก ว่า มีเหล้าที่มาแบบโอทอปแต่ไม่ใช่โอทอปเห็นรูปแล้วจะตกใจ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เป็นเพราะเหล้าตัวนี้เยอะ” นายไชยา กล่าว
ด้านนพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 แต่จะต้องมีการออกกฎกระทรวงเพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิบัติ โดยเฉพาะเงื่อนไขเวลาที่สามารถโฆษณาได้ โดยเครือข่ายเหล้าฯ จะมีการหารือ และทำหนังสือถึง รมว.สธ.เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นตามพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ พร้อมทั้งเป็นผู้ที่ออกกฎกระทรวง
นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า การห้ามจำหน่าย หรือสถานที่ห้ามดื่ม สามารถดำเนินการได้ทันที ขณะที่เรื่องฉลาก คำเตือน โลโก้ เวลาในการโฆษณาต้องออกกฎกระทรวง โดยทำการชี้แจงและสร้างความเข้าใจชัดเจน โดยการกำหนดเวลาในการควบคุมโฆษณาจะต้องไม่ต่ำกว่าปัจจุบัน ซึ่งเดิมห้ามโฆษณาตั้งแต่ 05.00-22.00 น.โดยมีการเสนอให้ห้ามโฆษณาตั้งแต่ 05.00-24.00 น.รวมทั้งกรณีที่มีการตีความเข้าข้างธุรกิจ โดยให้โฆษณาภาพลักษณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงแต่ห้ามโฆษณาเชิญชวนตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตรงนี้ยังมีความไม่ชัดเจน
“จะแย่มาก ถ้าปล่อยให้มีการโฆษณาภาพลักษณ์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะส่งผลกระทบต่อเด็กโดยตรง ที่ผ่านมามีโฆษณาหลายตัว ที่สร้างภาพลักษณ์และความประทับใจให้กับเด็ก หรือการนำผ้าห่มไปแจกในต่างจังหวัด เป็นการสร้างบุญคุณ สร้างความรู้สึกว่าบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่ดี ที่ทำเพื่อสังคม และเมื่อเด็กโตขึ้นก็จะซื้อแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้นตอบแทน”นพ.บัณฑิต กล่าว
นพ.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า ภาวนาให้รัฐบาลชุดนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยตระหนักถึงผลจากการโฆษณาสินค้าประเภทนี้ เพราะหากมีการตีความใหม่แล้วเข้าข่างธุรกิจ ปัญหานี้ อาจสั่นคลอนรัฐบาล เพราะหากโกยแล้วโกยอีกก็ล่ม เพราะทุกอย่างมีกฎแห่งกรรม
นพ.บัณฑิต กล่าวต่อว่า ปัญหาเหล้าเถื่อนมีอยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า ขณะนี้มีปัญหาเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ได้มีการสนับสนุนทุนให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นผู้ศึกษาเรื่องเหล้าชุมชน ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างการทำวิจัย ว่า มีสิ่งปนเปื้อนใดหรือไม่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยสิ้นสุดโครงการวิจัยในช่วงปลายปี 2551 นี้
“ก่อนหน้านี้ เคยมีการตรวจพบว่า ในเหล้ามียาฆ่าแมลงปนเปื้อน ซึ่งยาฆ่าแมลงมีฤทธิ์ทำให้เมาเร็ว ซึ่งปกติสุรามีโทษต่อร่างกายอยู่แล้ว แต่เมื่อใส่ยาฆ่าแมลงลงจะมีฤทธิ์ในการทำลายสมอง” นพ.บัณฑิต กล่าว