xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์อ้อนดูแลผู้ฝากรายใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ประธานสมาคมธนาคารไทยระบุการคุ้มครองเงินฝากรายย่อยเป็นเรื่องดี แต่ควรมองภาพถึงรายใหญ่ด้วยหากเกิดปัญหาจะแนวทางแก้ไขอย่างไร แนะรัฐบาลชุดใหม่ดูโครงสร้างกฎหมายพร้อมเปิดช่องถึงการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า เพราะเมื่อเกิดความเสียหายสุดท้ายผู้ที่จะต้องรับภาระคือประเทศชาติ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในงานรำลึก ศาสตราจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตรเรื่อง "ทำความเข้าใจ กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก" จัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ในหลักการแล้ว พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะให้การคุ้มครองกับผู้ฝากเงินรายย่อยเป็นหลัก เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาทางสังคม เพราะที่ผ่านมาผู้ฝากเงินรายย่อยไม่ค่อยมีข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากเท่าที่ควร การคุ้มครองนี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การคุ้มครองให้ทั้งหมดนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากธนาคารต่าง ๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน

ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินต่างๆ จึงจะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาตนเองให้มากขึ้น โดยจากเหตุการณ์ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนั้นสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้มีการปรับตัวเองค่อนข้างมากและจากการมีประสบการณ์ ทำให้เชื่อว่าความเสี่ยงของสถาบันการเงินในอนาคตจะมีน้อยลง รวมถึงอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการเข้าดูแลตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะเกิดปัญหาทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินลงได้อีก

อย่างไรก็ตาม การเน้นคุ้มครองเฉพาะผู้ฝากเงินรายย่อยอาจจะเกิดปัญหาในเชิงปฎิบัติได้ หากสถาบันการเงินมีปัญหาก็จะไม่สามารถช่วยเหลือราย่อยได้ เนื่องจากกฎหมายนี้มีการเขียนค่อนข้างจำกัด เพราะการช่วยเหลือจะมีแต่รายย่อย ซึ่งในที่สุดแล้วสถาบันการเงินอาจต้องมีการปิดการกิจาร และผู้ที่ต้องแบกรับภาระต่อไปคือประเทศชาติ

“แบงก์ไม่ได้มีแค่ลูกค้าเงินฝากอย่างเดียว ถ้าเกิดปัญหาขึ้นแล้วลูกค้าเงินกู้จะทำอย่างไร ใครตะมารับดูแลและชดเชย ในส่วนตรงนี้เป็นส่วนที่ถูกละเลยไป ซึ่งจะเหมือนเมื่ออดีตที่มีปัญหาเกิดขึ้นมีการล้มกันเป็นแถว รายย่อยได้รับความคุ้มครองแล้วรายใหญ่ถ้าเกิดปัญหาจะทำอย่างไร” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในขณะนี้ยังมีเวลาอีก 4-5 ปี ที่จะจำกัดปัญหานี้ ซึ่งหน้าที่ของการจำกัดปัญหาก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามา โดยต้องดูในเรื่องของโครงสร้างว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะตอนนี้กฎหมายไม่ได้เปิดช่องไว้จึงอยากให้มีกฎหมายที่มารองรับเพิ่มเติมไว้ด้วย เพราะหากจะรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาแก้ไข ก็จะเป็นเรื่องที่ยากเพราะจะต้องมีการตีความใหม่ และหากมีการแก้ปัญหาที่ล่าช้าก็อาจจะมีการลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ได้อีกด้วย

ส่วนมุมมองของธนาคารพาณิชย์นั้นสิ่งที่ต้องทำในขณะนี้คือจะต้องรักษาเครดิตเรทติ่งของตัวเองไว้ให้ได้ โดยไม่ให้อันดับตกลง เนื่องจากอันดับเครดิตที่ดีก็จะช่วยให้ต้นทุนทางการเงินดีตามไปด้วย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นใจกับผู้ฝากเงิน เพราะลูกค้าจะเลือกไปใช้บริการฝากเงินย่อมมีการพิจารณาถึงความเสี่ยงขององค์กรด้วย

“นิสัยคนไทยไม่ค่อยชอบย้ายเงิน ยกเว้นจำเป็นจริง ๆ ทำให้ตอนนี้สถาบันการเงินพยายามจะเพิ่มฐานลูกค้าของตัวเองให้มากขึ้น ใครมีมากก็จะเป็นประโยชน์ และคงจะมีทั้งการย้ายเงินออกและย้ายเข้ามาด้วย แต่เชื่อว่าโดยรวมแล้วทางสถาบันการเงินไม่น่าจะกระทบอะไรมากมาย”นายอภิศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น