xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.จัด 50 ขุนพลฝีปากกล้าร่วมชำแหละนโยบายรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปชป.จัด 50 ขุนพลฝีปากกล้า ชำแหละนโยบายรัฐบาล “สมัคร 1” วันนี้ เผยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ “ชวน” นำทัพเสนอทางแก้ปัญหาใต้ ติงรัฐไม่สนใจนโยบายสื่อ “อภิสิทธิ์” รับเตรียมอภิปรายอำนาจ “สมัคร”มีจริงหรือไม่ ด้าน นายกฯ สั่งลิ้วล้ออย่าเยินยอนโยบายและพรรคพวกจนเกินงาม พร้อมงัดหนังสือปราชญ์จีนสอนให้ ส.ส.พปช.อ่อนน้อมถ่อมตน ด้าน ครป.ชี้ นโยบายรัฐบาลขาดการปราบปรามทุจริต มุ่งประชานิยมแบบ “ทักษิณ”

วานนี้ (17 ก.พ.) นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียก ส.ส. ซึ่งเป็นแกนนำของพรรค อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคนาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ นาย ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค นายกรณ์ จติกวนิช รองเลขาธิการพรรค เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจและเตรียมความพร้อมการอภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่จะมีขึ้นในวันที่ 18-20 ก.พ.นี้

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคได้แบ่งคณะบุคคลตามหมวดหมู่ 8 หมวด และจากการประมวลข้อมูลแล้วได้ลดทอนจำนวนคนที่จะอภิปรายเหลือ 50 คน ใช้เวลาอภิปรายคนละ 15 นาที โดยจะเน้นนื้อหาสาระ และข้อมูลที่เชื่อถือได้ในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และมุ่งหวังให้ผลจากการอภิปราย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ

นายองอาจ ยังเรียกร้องให้ส.ส.รัฐบาลเปิดโอกาสให้ส.ส.ฝ่ายค้านได้อภิปราย แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ และขออย่าให้เกิดเหตุการณ์เหมือนสภาในอดีต ที่มีส.ส.บางคนลุกขึ้นประท้วงเป็นระยะ ดังนั้นในครั้งนี้จึงขอเรียกร้องว่าอย่าได้ประท้วง หรือตีรวนใดๆ หรือพยายามปิดช่องทางการดำเนินการทุกรูปแบบ เพราะรัฐบาลที่ดี ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านทำงานได้อย่างเต็มที่ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

สำหรับการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนนั้น นายองอาจ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการแถลงนโยบายครั้งนี้อย่างจริงจัง เพราะรัฐบาลใส่เรื่องนี้ไว้ในหมวดสุดท้ายและประโยคสุดท้ายก่อนที่จะจบคำแถลงนโยบาย โดยมีเนื้อหาเพียง 2 บรรทัดบอกเพียงว่าส่งเสริมให้ประชาชน มีโอกาสได้รับรู้ข่าวสารจากทางราชการ และสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรม และรวดเร็ว จึงอยากถามรัฐบาลถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะต้องได้รับความคุ้มครองอยู่ในส่วนไหน ทั้งที่รัฐบาลควรที่จะกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของ นโยบาย แต่กลับไม่มี

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.ระบบสัดส่วน กล่าวว่านายชวน หลีกภัย จะเป็นผู้นำทีมในการอภิปรายนโยบายการแก้ปัญหา 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการเสนอความคิดเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ หากทำไม่ได้พรรคก็จะเสนอแนวทางที่เป็นรูปธรรมต่อรัฐบาลเพื่อปรับปรุงแก้ไขด้วย

“เรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ที่ถือว่าเป็นนโยบาย แร่งด่วนจะต้องเป็นแนวทางที่ใช้แก้ปัญหาได้จริง จะต้องจัดการกับปัญหาได้ ต้องบอกให้ได้ว่ารัฐบาลจะทำอะไร อย่างไร และที่สำคัญจะใช้ระยะเวลาแก้ไขปัญหาถึงเมื่อใด หากไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้ ก็เท่ากับว่ารัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดในนโยบายแก้ไขปัญหา ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ี ที่ไม่มีคำตอบ และไม่มีนโยบายแก้ไขที่ทำได้จริง จนกระทั่งถึงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ก็ไมได้เข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ในการอภิปรายจะมีการพูดถึง กรณีอำนาจการบริหาร งานของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ว่า มีอำนาจที่แท้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมานายสมัครได้แสดงความอึดอัดใจไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เกี่ยวกับการตัดสินใจในหลายเรื่อง ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า แม้รัฐบาลเพิ่งเริ่มบริหารประเทศ แต่แนวทางแนวคิด ของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้หลายคนน่าเป็นห่วง และควรต้องปรับปรุงเพราะหลายเรื่อง ที่รัฐมนตรีออกมาแสดงความเห็น ปรากฎว่า ไม่ได้มีการเขียนไว้ในนโยบาย ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้ประชาชนสับสนเช่นกัน ดังนั้น รัฐมนตรีไม่ควรออกมา แสดงความคิดเห็นรายวัน โดยที่ความเห็นนั้นยังไม่ผ่านการหารือร่วมกันในรัฐบาล โดยจะเห็นได้ชัดในกรณีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ที่ออกมาแสดงความเห็นในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และเสนอแนวความคิดต่างๆ รายวันและสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดท้าทายว่านายสมัครมีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำพอที่จะคุมรัฐมนตรีได้หรือไม่

"สมัคร"ปรามลูกทีมอย่าเยินยอนโยบาย

ด้านพรรคพลังประชาชนแกนนำรัฐบาลมีการประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับฝ่ายค้านในการอภิปรายนโยบายรัฐบาล ระหว่างวันที่ 18-20 ก.พ.โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชาชนเป็นประธานการประชุม

ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน แถลงภายหลังการประชุมว่า นายสมัครได้ให้แนวทางว่า ไม่ประสงค์ให้ส.ส.ของพรรคชื่นชม สรรเสริญ เยินยอนโยบายรัฐบาลจนเกินจริง รวมทั้งไม่อยากให้เยินยอพวกเดียวกันจนเกินไป และวันนี้รัฐมนตรีรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆก็มาให้ข้อมูลกับส.ส.ของพรรคในเรื่องนโยบายของรัฐบาลเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจด้วย

นอกจากนี้ นายสมัครยังรู้สึกแปลกใจกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมผู้อภิปรายถึง 50 คน แต่ก็ยินดีและเต็มใจ หากฝ่ายค้านเห็นสมควรว่าจะอภิปราย 3 วันรัฐบาลก็ไม่ขัดข้อง และไม่ขอให้คาดหวังว่ารัฐบาลจะเตรียมทีมโต้ตอบฝ่ายค้าน เพราะการเมืองสมัยใหม่จะเป็นไปตามกติกา และพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะใช้เวลาและอภิปรายอยู่ในกรอบกติกา ไม่พาดพิงจนเกิดความเสียหาย

สำหรับพรรคพลังประชาชนนั้นได้เตรียมผู้อภิปรายไว้กี่คน ร.ท.กุเทพ กล่าวว่า มีผู้แจ้งความประสงค์ไม่มาก เนื่องจากนายสมัครไม่ต้องการให้มีการสรรเสริญเยินยอ เอาใจกัน โดยรวมแล้ว ส.ส.ทุกภาคของพรรคก็น่าจะไม่เกิน 30 คน

งัดหนังสือปราชญ์จีนเตือนสติ ส.ส.

ร.ท.กุเทพ กล่าวด้วยว่า ในการประชุม นายสมัคา ได้หยิบยกหนังสือของ ปราชญ์ชาวจีนคนหนึ่งมาเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ต้นข้าวที่ไม่มีรวงหรือเมล็ดนั้นมักจะชูช่อสูง แต่ต้นข้าวที่มีรวงมากมักจะโน้มต่ำลง เป็นการให้คติกับ ส.ส.ว่า ให้อ่อนน้อม ถ่อมตัว อย่าหยิ่งจองหอง อำนาจที่ได้มานั้นเพื่อรับใช้ประชาชน ไม่ใช่ไว้อวดเบ่ง

นอกจากนี้ นายสมัครยังกล่าวด้วยว่า วันนี้ยังมีขวากหนามอีกมาก ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการที่จะก้าวเดินไป ขอให้ทุกคนอย่าประมาทและระมัดระวัง

ยันจำเป็นต้องสานต่อประชานิยม

ด้าน นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ ถึงการเตรียม ความพร้อมในการแถลงนโยบายว่า สมาชิกของพรรคและพรรคร่วมรัฐบาล มีความพร้อมแล้ว ส่วนที่พรรคฝ่ายค้านตั้งเป้าที่จะอภิปรายโจมตีนโยบายประชานิยมนั้น นายนพดล กล่าวว่า รัฐบาลสามารถชี้แจงได้ทุกเรื่อง เพราะนโยบายประชานิยม ดำเนินการเพื่อบุคคลรากหญ้าระดับล่าง ฉะนั้นต้องทำให้เต็มที่ทั้งนโยบาย 30 บาท ธนาคารประชาชน และเรื่องของสาธารณูปโภค จึงไม่น่ามีปัญหา ซึ่งก่อนหน้านี้ ฝ่ายค้านก็พยายามที่จะนำแนวคิดของพรรคที่ถูกยุบไปใช้ในการหาเสียง ดังนั้นไม่ใช่นโยบายที่จะลดแลกแจกแถมแน่นอน

“เมื่อเราได้อำนาจมาจากประชาชนก็ต้องสานต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนตามที่ได้ให้ไว้ในการหาเสียง ถ้าพรรคฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายในประเด็นอื่นที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ผมเห็นว่าไม่สมควร และขอให้ออกจากเงามาวิจารณ์”

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้นโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิมทั้งหมดเลยหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า นโยบายใดที่ดีก็ไม่ยกเลิก ต้องสานต่อและมีการเพิ่มมาอีก หลายเรื่อง ทั้งเรื่องของการขยายเบี้ยยังชีพ เรื่องของผู้สูงอายุต้องต่อยอดดำเนินการ ถึงแม้จะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แล้วหากเป็นเรื่องที่ดีต้องทำต่อ

"นพดล"ติงตั้ง ปธ.กมธ.ต้องดูให้ดี

สำหรับกรณีที่คอลัมน์นายประดาบ ในเว็บไซต์ ไฮทักษิณ เตือน ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ให้ทำเพื่อพรรคไม่ใช่ครอบครัวนั้น นายนพดล กล่าวว่า ไม่มีปัญหาภายในพรรค เพราะการดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ไม่สามารถทำงานต่างๆ ได้เต็มที่ ดังนั้นไม่มีปัญหาแน่นอนทุกอย่างเรียบร้อยดี ตนอยากให้ทุกฝ่ายดูที่การทำงานให้เห็นผลงาน ไม่ใช่คำนึงถึงเรื่องตำแหน่งเป็นหลัก

ส่วนปัญหาการแต่งตั้งเลขานุการรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรี นั้น นายนพดล กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีคนมาก ก็ต้องพิจารณาให้ดี ไม่ใช่เรื่องของความ แตกแยก ส่วนตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ที่เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งนั้นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งประธานกรรมาธิการ เป็นผู้ที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และเป็นที่ฝึกคนเป็นรัฐมนตรี ดังนั้นจึงต้องดูให้ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสมัคร นั้น หนักใจหรือกดดันกับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า นายสมัครเป็นผู้ที่มีความสามารถ แต่อายุถึง 72 ปีแล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายในพรรคต้องช่วยกันทำงาน เพราะตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นงานที่หนัก ส่วนตนจะดูในแง่ของแนวคิดเป็นหลัก และหวังว่านายกรัฐมนตรีจะมีกำลังใจที่เข้มแข็ง

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่หัวหน้าพรรค การตัดสินใจต้องผ่านกลุ่มและมุ้งต่างๆนั้น นายนพดล กล่าวว่า แนวทางการเมือง ก็ต้องมีการเสนอความคิดเห็นร่วมกัน เสนอกลุ่มตัวเองเข้ามาสู่ที่ประชุม แต่ท้ายที่สุด ก็ต้องผ่านมติของพรรค และออกมาเป็นมติ ครม.

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายกรัฐมนตตรีเปลี่ยนตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีเพียง 1-2 ตำแหน่ง ทั้งๆ ที่เคยระบุว่ามีกว่าครึ่งที่ต้องนำกลับมาทบทวนนั้น นายนพดล กล่าวว่า ต้องดูความสามารถ บางคนอาจจะบุคคลิกไม่เหมาะแต่อาจจะมีความสามารถและตรงกับงาน ก็ต้องดูกันต่อไป

แฉนโยบายรัฐเมินปราบคอร์รัปชั่น

ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) แถลงว่า ภาพรวมแนวนโยบายของรัฐบาลคล้ายคลึงหรืออาจจะลอกแบบมาจากนโยบายของ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการใน 1 ปี จะเป็นนโยบายประชานิยมสารพัดรูปแบบ ทั้ง กองทุนหมู่บ้าน พักชำระหนี้ SML บ้านเอื้ออาทร ส่วนนโยบายเศรษฐกิจก็ยังเน้นเรื่องการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ การรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท ควบคุมราคาสินค้าและพลังงาน แต่ยังไม่เห็นนโยบายเร่งด่วน และกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร จึงมีความจำเป็นที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ต้องเร่งแปรนโยบายที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ไปสู่แผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้สังคมสามารถตรวจสอบ และประเมินผลงานรัฐบาลได้

ส่วนนโยบายที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนคือ 1.นโยบายการปราบปราม การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยเฉพาะการคอรัปชั่นทางนโยบายที่อาจเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเร่งรัดดำเนินการโครงการเมกะโปรเจกต์ และความเป็นไปได้ในการถอนทุน ของรัฐบาลชุดนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีการลงทุนสูง

2.ทิศทางของการปฏิรูปสื่อและปฏิรูปการเมืองไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการจัดระเบียบสื่อ รัฐบาลไม่ได้ระบุเป้าหมายและยุทธศาสตร์ว่าคืออะไร และ 3. การแก้ไขปัญหาความยากจนยังไปไม่ถึงการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เช่นการปฏิรูปที่ดิน การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินมรดก การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อให้คนยากคนจนพึ่งพาตัวเองได้ในระยะยาว

“รัฐบาลควรศึกษาข้อผิดพลาดบกพร่องและปัญหาที่เกิดจากการดำเนิน นโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มาเป็นบทเรียนเพื่อเตรียมมาตรการในการลด ผลกระทบหรือปรับปรุงนโยบายและแนวปฏิบัติให้เกิดความรัดกุมรอบคอบและเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง อาทิ ปัญหาสะสมจากนโยบายประชานิยม ไม่ว่าจะเป็นหนี้ต่อครัวเรือนที่สูงมากขึ้นและการดำเนินการปราบปรามยาเสพติดย์และการปราบปรามผู้มีอิทธิพลจะต้องยึดหลักกระบวนการยุติธรรมไม่เปิดช่องให้มีการตั้งศาลเตี๊ย หรือการฆ่าตัดตอนเหมือนในอดีต”

จี้"สมัคร"ทบทวนตัวเองก่อนเสื่อมเร็ว

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากการที่หาดใหญ่โพล ของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลสำรวจ ของคนภาคใต้ระบุว่า ร้อยละ 65.4 ไม่พึงพอใจกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาล “สมัคร 1” และมีรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญต่างๆ 9 กระทรวง มีความไม่เหมาะสมนั้นเป็นข้อมูลที่ตรงกับการได้สัมผัสในพื้นที่ และยังพบว่า เวลานี้ชาวภาคใต้ รู้สึกแปลกแยกกับการเมือง และปฏิเสธการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะไม่อยากดูข่าวโทรทัศน์เพราะเอือมระอากับข่าวผู้นำรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เหลิงลำพอง

นายอภิชาต กล่าวว่า ไม่เพียงแต่ชาวภาคใต้เท่านั้น แต่คนทั่วไปก็มี กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาล นายสมัครมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากท่าทีเหิมเกริมไม่แยแสต่อสังคมของผู้นำรัฐบาลและคนในคณะรัฐมนตรี นับตั้งแต่กรณีการตั้งรัฐมนตรีที่มีภาพลักษณ์ขี้เหร่ การเสนอตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีที่มีประวัติเป็นที่รังเกียจของสังคม การออกมาเชิดชูและปกป้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวอย่างออกนอกหน้า รวมถึงบทบาทของ นายสมัครเองที่ท้าทายสื่อมวลชนและกลุ่มฝ่ายต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการออกมา บิดเบือนอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

นายอภิชาต กล่าวว่า สภาพเช่นนี้ทำให้น่าห่วงว่า รัฐบาลนี้จะเสื่อมเร็วกว่าที่คิด การขอเวลาหรือขอโอกาสในการทำงานของรัฐบาลจะไม่ได้รับการสนองตอบจากประชาชน ตรงกันข้ามปฏิกริยาไม่พอใจจะก่อตัวรุนแรงและอาจขยายวงมากขึ้นหากนายกรัฐมนตรีและคนในรัฐบาลยังไม่ทบทวนตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ ที่เล่นลิ้นว่าจะอยู่ไม่นานแค่ 4 ปีนั้น วันนี้น่าห่วงว่า แค 4 เดือนจะประคองตัวเองได้รอดหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เพราะใครคิดจะโค่นล้มอย่าที่กลัวกัน แต่เพราะการกระทำของตัวเองทั้งสิ้น

“ประชาชนครึ่งประเทศผิดหวังกับผลการเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลนอมินีของอดีต ผู้นำกลุ่มอำนาจเก่า แต่เนื่องจากสถานการณ์ของประเทศไม่มีทางเลือกจึงให้โอกาส และพยายามทำใจยอมรับตามกติกาของระบบรัฐสภา แต่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ ไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็แสดงความย่ามใจทำตัวเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเสียงเอง ไม่สนใจความรู้สึกของคนในสังคม เพราะคิดว่าตัวเองได้อำนาจมาแล้วไม่มีใคร ขวางทางได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น