วงเสวนาจุฬาฯ ตั้งวงจัดเรตติ้งรัฐบาล เผยสังคมไม่เคยได้ตัวแทนตรงตามที่คาดหวัง นักวิชาการให้คะแนนนักเรียนอ่อนหัดสอบไม่ผ่าน จัดเกรด รมต.มือใหม่หัดขับ-มือสมัครเล่นเพียบ ขณะที่สื่ออาวุโสชี้ให้จับตานักการเมืองภูมิหลังเน่า เปรียบ “สมัคร” เป็น “ซูเปอร์ยี้” ทำแหยง “ยี้จูเนียร์” ชูภาพตัวเอง ทั้งๆ ที่มีชนักหลายเรื่องทั้งคดีความและปากคำในอดีตอาจารย์จุฬาฯ ชู “ครม.หมัก” ยี้สุดตั้งแต่เป็นประเทศเป็นประชาธิปไตย
วันนี้ (14 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่คณะรัฐศาสตรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้องประชุม จุมภฏพันธ์ทิพย์ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทยจัดเวทีวิชาการเรื่อง “เรตติ้ง ครม.” โดย นางสิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเปิดเผยผลการศึกษาการสำรวจพฤติกรรมในการใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 4,029 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ โดยมีผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 78.6 ของประชาชนที่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ส่วนเหตุผลที่ประชาชนเลือกไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะว่าไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร
ทั้งนี้ พบว่าผู้ใช้สิทธิไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชาชน มากสูงถึงร้อยละ77 แต่เลือกพรรคประชาธิปัติย์เพียงร้อยละ 17.6
นางสิริพรรณ กล่าวว่า ผลสำรวจในด้านพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของประชาชน พบว่า เหตุผลหลักในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเพราะชื่นชอบนโยบายของพรรคการเมืองเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ชื่นชอบตัวผู้สมัคร ส่วนความชื่นชอบในตัวหัวหน้าพรรคนั้น พบว่า ประชาชนอยากให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกฯ สูงเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 48.6 มากกว่าหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่ผลสำรวจต้องการให้เป็นนายกฯ เพียงร้อยละ 25.4
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 47.9 เพราะชื่นชอบผลงานในอดีต คิดเป็นร้อยละ 41 และต้องการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้น ชี้ให้เห็นว่าประชาชนตระหนักดีว่าพรรคพลังประชาชนคือพรรคไทยรักไทยในอดีต ส่วนของพรรคที่ได้รับความชื่นชมในนโยบายน้อยที่สุด คือ พรรคชาติไทย แต่ประชาชนที่เลือก เพราะมีเหตุผลคือชื่นชอบที่ตัวบุคคลเป็นหลัก
เธอกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผลสำรวจกลุ่มประชากรต่อความนิยมพรรคการเมือง พบว่า เพศชายจะชื่นชอบพรรคพลังประชาชน ส่วนเพศหญิงจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัติย์ ส่วนประชาชนที่ไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะเลือกพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย และพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นหลัก ซึ่งชื่อเสียงของพรรคการเมืองมีผลต่อตัวผู้สมัคร
โดยผลสำเรวจยังพบอีกว่า ส.ส.ที่ย้ายมาสังกัดอยู่พรรคพลังประชาชนจะได้รับเลือกมากกว่าย้ายไปอยู่พรรคอื่นส่วนมากจะสอบตก
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจยังพบว่า ความคาดหวังต่อพรรคการเมืองส่วนใหญ่ต้องการให้แก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจเป็นหลัก รองลงมาคือ การออกนโยบายที่ดีทำได้จริง
โดยความคาดหวังในตัวนักการเมือง คือ การออกกฎหมายที่ดีเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งผู้นำประเทศ ผลสำรวจประชาชนต้องการความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกิน
“ความคาดหวังของผลสำรวจจากประชาชนครั้งนี้ สวนทางกับความเป็นจริง เพราะสังคมไม่เคยได้ผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งสังคมไม่มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลการทำหน้าที่ของ ส.ส. ดังนั้นประชาชนจึงไม่รู้ว่า ในแต่ละปี ส.ส.ออกฎหมายอะไรบ้างและแต่ละคนเข้าประชุมสภาฯมากน้อยเพียงใด คุ้มกับเงินเดือนและความคาดหวังหรือไม่”
ผศ.สิริพรรณ กล่าวและว่า ในส่วนของรัฐธรรมนูญนั้น แม้ประเทศไทยจะอ้างอิงการปกครองมาจากประเทศอังกฤษ แต่มีสิ่งที่แตกต่างกัน การเมืองการปกครองของไทยจะมีการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
ขณะที่ประชาชนก็มีความเคยชินกับเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า มี ส.ส.ที่มีนามสกุลซ้ำกันมาก โดยมีอยู่ 40 ตระกูลในจำนวน 60 รายชื่อ แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยไม่สามารถคัดสรรกลุ่มการเมืองอื่นเข้ามาในสภาฯ ได้ แม้คนที่เข้ามาใหม่
หรือคนหน้าใหม่ ก็จะเป็นลูกหลานตระกูลเดิมๆ จึงต้องถามว่าเขาเป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหน ใครเลือกมา ดังนั้นคงต้องมีการทบทวนหาคำตอบต่อไป
ในขณะที่ นายปกรณ์ ปรียากร นักวิชาการรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าน่าเห็นใจที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ดูเหมือนจะยัดไส้นักเรียนที่สอบไม่ผ่านเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีบางคนอ่อนหัดไร้น้ำยา และไม่รู้ทิศทางในการทำงาน ทั้งๆ ที่
ครม.สำคัญมากในการบริหารราชาการแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม ตนแบ่งรัฐมนตรีใน ครม.ชุดนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงเช่น สมัคร สุนทรเวช ซึ่งคงไม่คิดว่าจะเล่นการเมืองอีกแล้ว แต่ก็ปรับตัวเพื่อแสดงกึ๋น นอกจากนี้ ก็ พล.ต.สนั่นขจรประสาสน์ นายสุวิทย์ คุณกิตติ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อนุรักษ์ จุรีมาส (เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคชาติไทยในอีสาน) แต่ในเชิงประสบการณ์ในการบริหารดูเหมือนว่าจะไม่ได้บริหารเป็นคณะและพยายามปกป้องผลงานของตัวเองเท่านั้น คนกลุ่มนี้ควรต้องลดทอนการอวดรู้ลงไปบ้าง รู้จักฟังบ้าง เพราะต้องอาศัยความรู้
นายปกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มที่สองมีเรตติ้งปานกลางหรือมีประสบการณ์บ้าง อาทิเช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งเข้ารับผิดชอบในกระทรวงสำคัญมากในระยะเปลี่ยน่ผ่านทางเศรษฐกิจ หากก้าวพลาดก็จะล้มพับได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แม้ว่ามีประสบการณ์ทางธุรกิจ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะช่วย รมว.คลังได้มากเพียงใด นอกจากนี้ ยังมี ดร.มั่น พัธโนทัย และนายวีรศักดิ์ โควสุรัตน์ ซึ่งทำงานที่เหมาะกับตัวเองอยู่บ้าง รับฟังผู้คนและมีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ ในกลุ่มนี้ยังมีชวรัตน์ ชาญวีรกุล เป็นนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญโครงการขนาดใหญ่ เกี่ยวโยงกับการเมืองในฐานะผู้สนับสนุน
เขากล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 3 คือ รัฐมนตรีมือใหม่หัดขับ แม้บางรายจะหน้าเก่าแต่ตนก็ยังถือว่าเป็นมือใหม่ ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีเครือข่ายของนักกฎหมายค่อนข้างสูง นิติศาสตร์ 09 มีเครือข่ายสูง ตอนขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงหรือเบื้องหลังไทยรักไทยก็ดึงเครือข่ายเข้ามีบทบาทมาก นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หลายคนบอกว่าเป็นมือเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ในชีวิตการทำงานอยู่ที่โตโยต้า แต่ประสบความสำเร็จที่ อสมท เพราะงานง่ายต่อการสำเร็จ แต่เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากคนเบื้องหลังพรรคพลังประชาชนก็เลยได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ ยังมีนายสหัสบัณฑิตกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นนักวิชาการ แต่ประสานทางการเมืองคงยาก นายจักรภพ เพ็ญแข ที่ประสบความสำเร็จจากการขึ้นเวที นปก. ในขณะที่ นายนภดล ปัทมะซึ่งถูกวางตัวไม่ค่อยเหมาะ
นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีในกลุ่มมือใหม่ยังได้แก่ นายสันติ พร้อมพันธุ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ, สิทธิชัย โค้วสุรัตน์ สจ.เก่าที่อุบลฯ กระทรวงที่ลงใหญ่เกินตัว ไม่ใช่เป็นกระทรวงทำงานเล่นๆ, อุไรวรรณ เทียนทอง มือใหม่อยู่เพรระคงไม่ได้บริหาร แต่ที่ห่วงที่สุด คือ ไชยา สะสมทรัพย์ มือใหม่ที่กระทรวง สธ. ซึ่งเป็นกระทรวงหลัก
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มสุดท้าย คือ มือสมัครเล่น ถ้าทำดีๆ ก็อาจทำดีได้ดีกว่ามืออาชีพได้ ถือว่าเป็นเด็กในคาถาของคนในครอบครัว ได้แก่ ร.ต.(หญิง)ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี เป็นเพียง ผอ.สาธารณสุข อบจ.อุบลฯ นายสุธา ชันแสง ไปรับผิดชอบกระทรวงสำคัญอย่าง พม. นายสมพัฒน์ แก้ววิจิตร นายธีรชัย แสนแก้ว เป็นนักกิจกรรมท้องถิ่น การบริหารคงต้องใช้เวลา, นายทรงศักดิ์ ทองศรี เป็นนักการเมืองเก่า อยู่ในคาถาของนักการเมืองจากบุรีรัมย์ , พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ จบด้านเคมีก็พอไปได้กับ รมว.พลังงาน มีประวัติเป็นพลโทเร็วมากแสดงว่ามีความสามารถสูง, นอกจากนี้ ก็มีนายสุพล ฟองงาม และนายวุฒิพงษ์ ฉายแสง
แต่ที่ห่อเหี่ยวใจที่สุดคือรมช.กระทรวงศึกษาธิการที่ชื่อนายบุญลือ ประเสริฐโสภา และนายพงษ์สกร อรรณนพพร
“อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่ การบริหารไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย แล้วต้องโยงกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ครม.จะต้องไปศึกษา เพราะทราบว่าแนวนโยบายที่กำลังจะประกาศไม่ค่อยชัดเจนมากนัก”
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเครือมติชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาคุณสันติ พร้อมพันธุ์ ถ้าไปดูบัญชีทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยยื่นกับ ป.ป.ช. เมื่อปี 2544 มีชื่อบริษัทฯ ที่ระบุคนนามสกุลพร้อมพันธุ์เป็นผู้ถือหุ้น และได้มีการกู้เงินหญิงอ้อ 150 ล้านบาท จึงคาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์อันดีกับคุณหญิงพจมาน ตนจึงไม่แน่ใจว่าการเข้ามาเป็นรัฐมนตรีของคุณสันติเป็นโควตาของคุณหญิงฯ หรือโควตาของ “เสี่ยเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล กันแน่
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ตนมีกฎเกณฑ์ 3 ประการในการประเมินคณะรัฐมนตรี คือ ตัวผู้กำหนดนโยบายหรือตัวคณะรัฐมนตรีที่ต้องพิจารณาถึงภูมิหลังและผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างไร เพราะในต่างประเทศหากมีเรื่องอื้อฉาวก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศเลย อย่าลืมว่าผู้บริหารเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เหมือนการสอบที่หากทำไม่ได้ตัวเองก็เพียงสอบตกคนเดียว แต่สังคมไทยไม่สนใจเรื่องพฤติกรรมหรือภูมิหลังเท่าไหร่
นายประสงค์ กล่าวต่อว่า กฎเกณฑ์ประการที่ 2 คือ เรื่องนโยบาย โดยต้องสนใจว่ากระบวนการกำหนดนโยบาย บางทีนั่งอยู่บนเครื่องบินแล้วนึกขึ้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีกระบวนการกันมากนัก อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการกำหนดนโยบายเหล่านี้พรรคประชาธิปัตย์ปชป.พยายามทำอยู่ แต่ไม่รู้ว่าทำเป็นพิธีกรรมหรือเปล่า ทั้งนี้ ต้องประเมินว่านโยบายเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือไม่ และประการที่ 3 คือ การดำเนินนโยบาย ว่าประสบผลหรือไม่ คอร์รัปชันหรือไม่ คงยังประเมินไม่ได้ชัดเจนนักเพราะเพิ่งเริ่มต้น
“ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ประหลาดขึ้น ซูเปอร์ยี้ปฏิเสธยี้จูเนียร์ หรืออัปลักษณ์ยี้ขี้เหร่ แต่คุณสมัครไม่ได้บอกนิยามว่าขี้เหร่คืออะไร ใช้มาตรฐานอะไรวัด การบอกอย่างนี้ต้องการสร้างภาพให้ตัวเองดูดีกว่าคนอื่นหรือไม่”
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ คตส.กำลังทำสำนวนคดีดับเพลิงก่อนที่จะส่งฟ้อง คาดว่าครึ่งปีน่าจะเสร็จและภายในสิ้นปีนี้จะรู้วาหมู่หรือจ่า นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงบทบาทของคุณสมัครในการมีส่วนปลุกระดมจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา คุณสมัครเคยใช้อำนาจเผด็จการปิดหนังสือพิมพ์ 23 ฉบับหลัง 6 ตุลา และต้องถามว่าประสบความสำเร็จอะไรบ้าง ตอนเป็นผู้ว่าทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ ต้องไปดูว่าคุณสมัครพูดอะไรในสภาบ้างหลังเกิดเหตุวางระเบิดครั้งสำคัญที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี 2520
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายมีอยู่ 2 ส่วน คือ นโยบาย 7 ยุทธศาสตร์ 11 นโยบายเร่งด่วนซึ่งเห็นได้ชัดว่า ก๊อบปี้ไทยรักไทยเป็นส่วนใหญ่บางประเด็นเป็นนโยบายหรือไม่ยังสงสัย นอกจากนี้ต้องถามว่าหากจะทำรถไฟรางคู่ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ส่วนอุโมงค์น้ำจะเอาเงินมาจากไหน นอกจากนี้ การดำเนินนโยบาย สธ.บอกว่าจะทบทวนการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ก็เพราะว่ามีข่าวว่าหนึ่งใน 111 คนไปพูดกับบริษัทยาเรียบร้อยแล้ว จริงๆ แล้วกระทรวงนี้ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะไม่ใช่กระทรวงพาณิชน์หรือกระทรวงการต่างประเทศ
เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าอเนจอนาถอย่างมาก คือ การลงทุนเป็นแสนล้านจะมีระเบียบและกฎหมายเพื่อความโปร่งใส แต่ก็ตั้งท่าจะตั้งกองทุนเหมือนเทมาเซ็คเพื่อที่จะไม่ต้องทำตามระเบียบกฎหมายเหล่านี้ จริงๆ แล้วก็ต้องให้คะแนนหมอสุรพงษ์ แต่ต้องกลับไปดูที่ปรึกษาของหมอคนหนึ่งที่เคยคุมกระทรวงพลังงานมีที่ส่งต่อมาเป็นที่ปรึกษาของหมอเลี้ยบ แต่ต้องคดีทุจริตขายเหรียญ ร.5 สามสิบล้านจนถูกไล่ออกจากราชการ แต่อุทธรณ์จนได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง
“ถ้ารัฐบาลอายุสั้น ก็ต้องใช้เงิน ตอนนี้ก็มั่วซิครับ อะไรจะเกิดขึ้น”
นายอนุสรณ์ ลิ้มมณี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า นายกฯ เองก็ยอมรับว่า ครม.ชุดนี้ขี้เหร่ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มาเรียกได้ว่าคณะรัฐมนตรีชุดนี้ขี้เหร่ที่สุด เพราะไม่มีความรู้สามารถเหมาะสมกับงาน อย่างไรก็ตาม
ต้องยอมรับว่าการฟอร์ม ครม.ชุดนี้ขึ้นมาภายใต้กรอบจำกัด 3 ประการ คือ หนึ่งกรอบด้านบุคลากรของพรรค ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่พรรคพลังประชาชนก็คือพรรคไทยรักไทย ต้องเข้าใจว่าผู้บริหารพรรคและมีความรู้สามารถหายไป 111 คน ถ้าเขาได้รับเลือก เขาจะเอาคนมาจากที่ไหน และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ดึงคนเหล่านี้เข้ามามีบทบาท อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามดึงคนเหล่านี้เข้ามาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ การฟอร์มรัฐบาลก็ต้องหาคนเท่าที่หาได้
เขากล่าวต่อว่า กรอบอีกประการคือกรอบกฎหมาย ที่มีข้อห้ามยุบยับเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อห้ามเหล่านี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งมีความเกรงกลัวที่จะรับตำแหน่งอย่างดีก็เป็นกุนซือให้เท่านั้น บางครั้งเราจะได้ รมต.แบบที่ไม่น่าจะนั่งตรงนี้ อย่างกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำไมเราต้องใช้หมอ จริงๆ แล้วอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ควรจะต้องมีประสบการณ์ แต่นี่เป็นผลมาจากข้อจำกัด
ประการที่ 3 คือ ความเป็นรัฐบาลผสมที่จำต้องมีการแบ่งโควตา หลายครั้งก็เลยต้องตั้งคนที่พรรคร่วมเสนอมา ดังที่เห็นว่า ตัวแทนของพรรคชาติไทย เพื่อแผ่นดินมัฌฌิมาฯซึ่งก็ไม่น่าเป็นที่พอใจเท่าไหร่ แต่ ครม.ชุดนี้ก็จำเป็นต้องทำ ผลที่ตามมาคือรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีใหม่ไม่ต่ำว่า 63 % อาจมีประสบการณ์ในการบริหาร ส่วนหนึ่งอาจมีประสบการณ์ทางการเมือง แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการก้าวกระโดดมาก น่าหวาดเสียวมาก เช่น คุณนภดล เคยเป็นเลขานุการ รมต.กระทรวงต่างประเทศ แล้วกระโดดเป็น รมต.เลย อาจขาดตกบกพร่องพอสมควร
“รัฐมนตรีจำนวนไม่น้อยมีฐานะเป็นตัวแทน ทั้งพ่อ น้อง คนสนิท ซึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดข้างต้น เมียอย่าง ร.ต.ระนองรักษ์ น้องอย่างคุณไชยา พ่ออย่างคุณชวรัตน์ น้องอย่างคุณวุฒิพงษ์”
เขากล่าวอีกว่า รัฐมนตรีหน้าใหม่บางคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งเลย ผมคิดว่าประสบการณ์สำคัญกว่าการศึกษา แต่คนพวกนี้เข้ามาในฐานะตัวแทน จึงค่อนข้างลำบากหน่อย เรามี ครม.ที่ด้อยประสบการณ์ หน้าที่คือการนำนโยบายของไทยรักไทยเดิมไปปฏิบัติมากกว่ามีบทบาทในเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นระหว่างนี้แต่ละคนก็จะโชว์ภูมิคิดของตัวเองว่าตนมีความสามารถ บทบาทที่แท้จริงก็คงตกอยู่ทีกุนซือ บางครั้งนโยบายมองจากท่าทีและพฤติกรรมที่แสดงออกได้ ซึ่งเน้นเมกะโปรเจค เน้นประชานิยมรวมทั้งนิรโทษกรรม 111 คน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสิ่งที่เกิดแน่ๆ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การสืบทอดเหล่านี้คงชัดเจน
“รูปแบบบริหารก็จะยังเดิมๆ แต่ก็แยบยลและผ่อนปรนมากขึ้น เพราะแตกต่างกับยุคของทักษิณ อีกท้งเป็นรัฐบาลผสม” เขากล่าว และว่าหากดูท่าทีของ ครม.ตนคิดว่าไม่แตกต่างกับ ครม.ทักษิณมากนัก แต่ก็มีการกลบเกลื่อนไปบ้างเช่นไม่ชนกับกลุ่มต่างๆ ชัดเจน
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ในแง่ผลงานแล้วก็ต้องการสร้างผลงานอย่างเร่งด่วนเพื่อหาเสียงสนับสนุนจากรากหญ้า โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ส่วนบทบาทของ รมต.ของแต่ละคน ก็มีลักษณะที่หลงบท ไม่รู้ว่าตนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหนกันแน่เนื่องจากเป็นมือใหม่ แต่การสร้างผลงานเหล่านี้จะนำไปสู่สถานการณ์ต่อต้านมากข้น โดยเฉพาะกลุ่มประชาสังคม เช่น นโยบายผันน้ำก็ต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ นโยบายสิทธิบัตรยา การจัดระเบียบสื่อซึ่งมีสิทธิที่จะเจอกับกระแสต้านรุนแรง ล้วนเป็นประเด็นร้อน
ด้าน นายวีระ สมความคิด ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) กล่าวว่า ตนอยากเรียก ครม.ฮาร์ดคอร์ที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ทักษิณได้ปูนบำเหน็จเป็นรัฐบาลนอมินี ถ้าเรามาดูเฉพาะคุณสมบัติผู้นำประเทศ แต่คุณสมัครมีคดีทุจริตคาอยู่ 2-3 คดี แต่ก็ถูกสั่งมาตั้งแต่ต้นแล้วตั้งแต่ ส.ค.ปีที่แล้วตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ 11 และ 7 นโยบายเร่งด่วน ล้วนเป็นแนวประชานิยม ปราบปรามยาเสพติด ฟื้นหวยบนดินกองทุนหมู่บ้าน แต่ไม่มียุทธศาสตร์แก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเลย ตนเชื่อว่าเรตติ้งรัฐบาลต่ำ