xs
xsm
sm
md
lg

เสน่ห์ท้อการเมืองถึงยุคเสื่อมชิงอำนาจมีวาระซ่อนเร้น-จัดเรตติ้งครม.ขี้เหร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จัดเรตติ้ง ครม.พบมีแต่นักการเมืองอ่อนหัด มีทั้งมือใหม่หัดขับ มือสมัครเล่น และพวกยุคสุดท้ายในอาชีพนักการเมือง ร้องเพลงคนละคีย์ต่างฝ่ายต่างทำเพื่อปกป้องผลงานตัวเอง แฉ “สันติ” สัมพันธ์โยงใยตระกูล “ชินวัตร” ถูก “หญิงอ้อ” ส่งมานั่งคุมคมนาคม เหน็บ “สมัคร” เป็นพวกซุปเปอร์ยี้ ทำตั้งข้อรังเกียจยี้จูเนียร์ หวังชูภาพลักษณ์ตัวเองทั้งทีปูมหลังก็มีปัญหา อดีตอาจารย์จุฬาฯ ระบุ เป็น ครม.ที่ขี้เหร่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย “เสน่ห์ จามริก” เปรียบการเมืองสู่ยุคเสื่อม นักการเมืองแย่งทึ่งอำนาจ เสนอโครงการมีวาระซ่อนเร้นแสวงหาประโยชน์

ที่ห้องประชุมจุมมฏพันธ์ทิพย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ เวลา 09.00 น. วานนี้ (14 ก.พ.) ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทยจัดเวทีวิชาการเรื่อง "เรทติ้ง ครม."

ก่อนการอภิปราย นางสิริพรรณ นกสวนอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยลัย เปิดเผยผล การสำรวจพฤติกรรมในการใช้สิทธิ์ออกเสียงลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และการใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 4,029 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 78.6 ของประชาชนที่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ส่วนเหตุผลที่ไม่รับรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ใช้สิทธิ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชาชน มากถึงร้อยละ 77 แต่เลือกพรรคประชาธิปัติย์เพียงร้อยละ 17.6

นางสิริพรรณ กล่าวว่า ผลสำรวจในด้านพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงพบว่า เหตุผลหลักในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเพราะชื่นชอบนโยบายของพรรคการเมือง เป็นอันดับแรก รองลงมาคือชื่นชอบตัวผู้สมัคร ส่วนความชื่นชอบ ในตัวหัวหน้าพรรคนั้นพบว่าประชาชนอยากให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีสูงเป็นอันดับหนึ่ง คือร้อยละ 48.6 มากกว่า นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่มีีเพียงร้อยละ 25.4

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 47.9 เพราะชื่นชอบผลงานในอดีต และร้อยละ 41 ต้องการสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนตระหนักดีว่าพรรคพลังประชาชน คือพรรคไทยรักไทยในอดีต

นอกจากนี้ผลสำรวจกลุ่มประชากรต่อความนิยมพรรคการเมือง พบว่า เพศชาย จะชื่นชอบพรรคพลังประชาชน ส่วนเพศหญิงจะสนับสนุนพรรคประชาธิปัติย์ ส่วนประชาชนที่ไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจะเลือกพรรคมัชฌิมาประชาธิปไตย และพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นหลัก ซึ่งชื่อเสียงของพรรคการเมืองมีผลต่อตัวผู้สมัคร

ผลสำรวจยังพบอีกว่าส.ส.ที่ย้ายมาสังกัดอยู่พรรคพลังประชาชนจะได้รับเลือก มากกว่าย้ายไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งส่วนมากจะสอบตก

อย่างไรก็ดีผลสำรวจยังพบว่าความคาดหวังต่อพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ต้องการ ให้แก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจเป็นหลัก รองลงมาคือการออกนโยบาย ที่ดีทำได้จริง โดยความคาดหวังในตัวนักการเมืองคือการออกกฎหมายที่ดีเป็นประโยชน์ต่อประเทศ สำหรับ ผู้นำประเทศผลสำรวจประชาชนต้องการความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกิน

“ความคาดหวังของผลสำรวจจากประชาชนครั้งนี้ สวนทางกับความเป็นจริง เพราะสังคมไม่เคยได้ผู้นำที่ซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งสังคมไม่มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึง ข้อมูลการทำหน้าที่ของ ส.ส. ดังนั้นประชาชนจึงไม่รู้ว่าในแต่ละปี ส.ส.ออกฎหมายอะไรบ้าง และแต่ละคนเข้าประชุมสภาฯมากน้อยเพียงใด คุ้มกับเงินเดือนและความคาดหวังหรือไม่”

ผศ.สิริพรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบันมี ส.ส.ที่มีนามสกุลซ้ำกันมาก โดยมีอยู่ 40 ตระกูลในจำนวน 60 รายชื่อ แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยไม่สามารถ คัดสรรกลุ่มการเมืองอื่นเข้ามาในสภาฯได้ แม้คนที่เข้ามาใหม่หรือคนหน้าใหม่ ก็จะเป็นลูกหลานตระกูลเดิมๆ จึงต้องถามว่า เขาเป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหน ใครเลือกมา ดังนั้นคงต้องมีการทบทวนหาคำตอบต่อไป

**ชี้ครม.มีแต่พวกอ่อนหัดไร้น้ำยา
นายปกรณ์ ปรียากร นักวิชาการรัฐศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า น่าเห็นใจที่ ครม.ชุดนี้ดูเหมือนจะยัดไส้นักเรียนที่สอบไม่ผ่านเข้ามา บริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีบางคนอ่อนหัดไร้น้ำยา และไม่รู้ทิศทางในการทำงาน ทั้งๆ ที่ ครม.สำคัญมากในการบริหารราชาการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม ตนแบ่งรัฐมนตรีใน ครม.ชุดนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง เช่น สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ซึ่งคงไม่คิดว่าจะเล่นการเมืองอีกแล้ว แต่ก็ปรับตัวเพื่อแสดงกึ๋น นอกจากนี้ ก็ พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์ รองนายกฯ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรฯณ และนายอนุรักษ์ จุรีมาส รมช.คมนาคม ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จของพรรคชาติไทย ในอีสาน แต่ในเชิงประสบการณ์ในการบริหาร ดูเหมือนว่าจะไม่ได้บริหารเป็นคณะและพยายามปกป้องผลงานของตัวเองเท่านั้น คนกลุ่มนี้ควรต้องลดทอนการอวดรู้ ลงไปบ้าง รู้จักฟังบ้าง เพราะต้องอาศัยความรู้

นายปกรณ์ กล่าวว่า กลุ่มที่สองมีเรตติ้งปานกลางหรือมีประสบการณ์บ้าง อาทิเช่น นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ซึ่งเข้ารับผิดชอบในกระทรวงสำคัญมากในระยะเปลี่ยน่ผ่านทางเศรษฐกิจ หากก้าวพลาดก็จะล้มพับได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ ยังมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ รมว.คลัง แม้ว่ามีประสบการณ์ทางธุรกิจ แต่ก็ไม่แน่ว่าจะช่วย รมว.คลังได้มากเพียงใด นอกจากนี้ ยังมี ดร.มั่น พัธโนทัย รมว.ไอซีที และนายวีรศักดิ์ โคว์สุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวฯ ซึ่งทำงานที่เหมาะกับตัวเองอยู่บ้าง รับฟังผู้คน และมีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นคนหนุ่มที่มีประสบการณ์ ในกลุ่มนี้ยังมี นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมช.สาธารณสุข เป็นนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ โครงการขนาดใหญ่ เกี่ยวโยงกับการเมืองในฐานะผู้สนับสนุน

นายปกรณ์ กล่าวว่ากลุ่มที่สามคือ รัฐมนตรีมือใหม่หัดขับ แม้บางรายจะหน้าเก่าแต่ตนก็ยังถือว่าเป็นมือใหม่ ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ มีเครือข่ายของนักกฎหมายค่อนข้างสูง ในนิติศาสตร์ 09 มีเครือข่ายสูง ตอนขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงยุติะรรม หรือในพรรคไทยรักไทย ก็ดึงเครือข่ายเข้ามีบทบาทมาก นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกฯ รมว.พาณิชย์ หลายคนบอกว่าเป็นมือเศรษฐกิจ แต่ส่วนใหญ่ในชีวิตการทำงานอยู่ที่โตโยต้า แต่ประสบความสำเร็จที่ อสมท เพราะงานง่ายต่อการสำเร็จ แต่เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากคนเบื้องหลังพรรคพลังประชาชนก็เลยได้รับการยอมรับ

นอกจากนี้ ยังมีนายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกฯ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นนักวิชาการ แต่ประสานทางการเมืองคงยาก นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่ประสบความสำเร็จจากการขึ้นเวที นปก. ในขณะที่ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศซึ่งถูกวางตัวไม่ค่อยเหมาะ

นายปกรณ์กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีในกลุ่มมือใหม่ยังได้แก่ นายสันติ พร้อมพันธุ์ รมว.คมนาคม นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติะรรม , นายอนุสรณ์ วงษ์วรรณ รมว.วัฒนธรรม, สิทธิชัย โค้วสุรัตน์ รมช.มหาดไทย อดีตสจ.ที่อุบลฯกระทรวงที่ลงใหญ่เกินตัว ไม่ใช่เป็นกระทรวงทำงานเล่นๆ ,อุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน มือใหม่อยู่เพราะคงไม่ได้บริหาร แต่ที่ห่วงที่สุด คือ ไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข มือใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกระทรวงหลัก

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มสุดท้าย คือ มือสมัครเล่น ถ้าทำดีๆ ก็อาจทำดี ได้ดีกว่า มืออาชีพได้ ถือว่าเป็นเด็กในคาถาของคนในครอบครัว ได้แก่ ร.ต.ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมช.คลัง เป็นเพียง ผอ.สาธารณสุข อบจ.อุบลฯ นายสุธา ชันแสง รมว.การพัฒนาสังคมฯ ไปรับผิดชอบกระทรวงสำคัญอย่าง นายสมพัฒน์ แก้ววิจิตร รมช.เกษตรฯ นายธีรชัย แสนแก้ว รมช.เกษตรฯ เป็นนักกิจกรรมท้องถิ่น การบริหารคงต้องใช้เวลา,

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม เป็นนักการเมืองเก่า อยู่ในคาถาของนักการเมืองจากบุรีรัมย์ , พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ จบด้านเคมีก็พอไปได้กับ รมว.พลังงาน มีประวัติเป็นพลโทเร็วมากแสดงว่า มีความสามารถสูง, นอกจากนี้ ก็มีนายสุพล ฟองงาม รมช.มหาดไทย และนายวุฒิพงษ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ แต่ที่ห่อเหี่ยวใจที่สุดคือ รมช.ศึกษาธิการที่ชื่อนายบุญลือ ประเสริฐโสภา และนายพงศกร อรรณนพพร

“อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่ การบริหารไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย แล้วต้องโยงกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ครม.จะต้องไปศึกษา เพราะทราบว่าแนวนโยบายที่กำลังจะประกาศไม่ค่อยชัดเจนมากนัก”

**สันติสัมพันธ์โยงใยหญิงอ้อ
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเครือมติชน กล่าวว่า นายสันติ พร้อมพันธุ์ รมว.คมนาคม ถ้าไปดูบัญชีทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยยื่นกับ ป.ป.ช. เมื่อปี 2544 มีชื่อบริษัทฯ ที่ระบุคนนามสกุล พร้อมพันธุ์ เป็นผู้ถือหุ้น และได้มีการกู้เงินคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ 150 ล้านบาท จึงคาดว่าน่าจะมีความสัมพันธ์อันดีกับคุณหญิงพจมาน ตนจึงไม่แน่ใจว่า การเข้ามาเป็นรัฐมนตรีของคุณสันติเป็นโควตาของคุณหญิงฯ หรือโควตาของ “เสี่ยเพ้ง” นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล กันแน่

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ตนมีกฎเกณฑ์ 3 ประการในการประเมินคณะรัฐมนตรี คือ ตัวผู้กำหนดนโยบายหรือตัวคณะรัฐมนตรีที่ต้องพิจารณาถึงภูมิหลังและผลประโยชน์ทางธุรกิจว่าเป็นอย่างไร เพราะในต่างประเทศหากมีเรื่องอื้อฉาวก็จะไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศเลยอย่าลืมว่าผู้บริหารเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เหมือนการสอบที่หากทำไม่ได้ตัวเองก็เพียงสอบตกคนเดียว แต่สังคมไทยไม่สนใจ เรื่องพฤติกรรมหรือภูมิหลังเท่าไหร่

นายประสงค์ กล่าวต่อว่า กฎเกณฑ์ประการที่สอง คือ เรื่องนโยบาย โดยต้องสนใจว่า กระบวนการกำหนดนโยบาย บางทีนั่งอยู่บนเครื่องบินแล้วนึกขึ้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีกระบวนการกันมากนัก อย่างไรก็ตามในกระบวนการกำหนดนโยบายเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์พยายามทำอยู่ แต่ไม่รู้ว่า ทำเป็นพิธีกรรมหรือเปล่า ทั้งนี้ ต้องประเมินว่านโยบายเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือไม่และประการที่สาม คือ การดำเนินนโยบายว่าประสบผลหรือไม่ คอรัปชั่นหรือไม่ คงยังประเมินไม่ได้ชัดเจนนักเพราะเพิ่งเริ่มต้น

**เหน็บสมัครซุปเปอร์ยี้ปฎิเสธยี้จูเนียร์
“ขณะนี้ เกิดปรากฎการณ์ประหลาดขึ้น ซุปเปอร์ยี้ปฏิเสธยี้จูเนียร์หรืออัปลักษณ์ยี้ขี้เหร่ แต่นายสมัคร สุนทรเวช ไม่ได้บอกนิยามว่าขี้เหร่คืออะไรใช้มาตรฐานอะไรวัด การบอกอย่างนี้ต้องการสร้างภาพให้ตัวเองดูดีกว่าคนอื่นหรือไม่”

นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้คตส.กำลังทำสำนวนคดีรถดับเพลิงก่อนที่จะส่งฟ้อง คาดว่าครึ่งปีน่าจะเสร็จและภายในสิ้นปีนี้จะรู้วาหมู่หรือจ่า

นายประสงค์ ยังกล่าวถึงบทบาทของนายสมัครในการมีส่วนปลุกระดมจนนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นายสมัครเคยใช้อำนาจเผด็จการปิดหนังสือพิมพ์ 23 ฉบับ หลัง 6 ตุลาฯ และต้องถามว่าประสบความสำเร็จอะไรบ้าง ตอนเป็นผู้ว่าฯกท. ทำอะไรบ้าง นอกจากนี้ ต้องไปดูว่านายสมัครพูดอะไรในสภาบ้างหลังเกิดเหตุวางระเบิดครั้งสำคัญที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี 2520

นายประสงค์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายมีอยู่สองส่วน คือ นโยบาย 7 ยุทธศาสตร์ 11 นโยบายเร่งด่วนซึ่งเห็นได้ชัดว่า ก็อปปี้ไทยรักไทยเป็นส่วนใหญ่ บางประเด็นเป็นนโยบายหรือไม่ยังสงสัย นอกจากนี้ต้องถามว่าหากจะทำรถไฟรางคู่ต้อ งใช้เงินเท่าไหร่ ส่วนอุโมงค์น้ำจะเอาเงินมาจากไหน

**แฉมีซากศพทรท.ไปคุยกับบ.ยาล้มCL
การดำเนินนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่บอกว่าจะทบทวนการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล)ก็เพราะว่ามีข่าวว่าหนึ่งใน 111คนไปพูดกับบริษัทยาเรียบร้อยแล้ว จริงๆ แล้วกระทรวงนี้ไม่ต้องเดือดร้อน เพราะไม่ใช่กระทรวงพาณิชน์ หรือกระทรวงการต่างประเทศ

นายประสงค์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเอนจอนาถอย่างมาก คือ การลงทุนเป็น แสนล้านจะมีระเบียบและกฎหมายเพื่อความโปร่งใสอย่างไร แต่ก็ตั้งท่าจะตั้งกองทุนเหมือนเทมาเซ็คเพื่อที่จะไม่ต้องทำตามระเบียบกฎหมาย จริงๆ แล้วก็ต้องให้คะแนน นพ.สุรพงษ์ แต่ต้องกลับไปดูที่ปรึกษาของท่านคนหนึ่ง ที่เคยคุมกระทรวงพลังงานที่มีการส่งต่อมาเป็นที่ปรึกษาของ นพ.สุรพงษ์ แต่ต้องคดีทุจริตขายเหรียญ ร.5 สามสิบล้านจนถูกไล่ออกจากราชการ แต่อุทธรณ์จนได้กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง

“ถ้ารัฐบาลอายุสั้น ก็ต้องใช้เงินตอนนี้ก็มั่วซิครับ อะไรจะเกิดขึ้น”

**ครม.ชุดขี้เหร่ที่สุดในประวัติศาสตร์
นายอนุสรณ์ ลิ้มมณี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า ครม. ชุดนี้ขี้เหร่ นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลง การปกครอง พ.ศ.2475 มาเรียกได้ว่า ครม.ชุดนี้ขี้เหร่ที่สุด เพราะไม่มีความรู้สามารถ เหมาะสมกับงาน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการฟอร์ม ครม.ชุดนี้ ขึ้นมาภายใต้กรอบจำกัด สามประการ คือ 1.กรอบด้านบุคลากรของพรรค ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่พรรคพลังประชาชนก็คือพรรคไทยรักไทย ต้องเข้าใจว่าผู้บริหารพรรคและมีความรู้สามารถ หายไป111 คน ถ้าเขาได้รับเลือก เขาจะเอาคนมาจากที่ไหน และนี่คือสาเหตุหนึ่ง ที่ดึงคนเหล่านี้เข้ามามีบทบาท อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามดึงคนเหล่านี้เข้ามา เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ การฟอร์มรัฐบาลก็ต้องหาคนเท่าที่หาได้

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า กรอบอีกประการคือกรอบกฎหมาย ที่มีข้อห้ามยุบยับเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ข้อห้ามเหล่านี้ทำให้คนจำนวนหนึ่งมีความเกรงกลัวที่จะรับตำแหน่งอย่างดีก็เป็นกุนซือให้เท่านั้น บางครั้งเราจะได้รัฐมนตรีแบบที่ไม่น่าจะนั่งตรงนี้ อย่างกรณี รมว.คลัง ทำไมเราต้องใช้หมอ จริงๆ แล้วอาจไม่จำเป็นต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ควรจะต้องมีประสบการณ์ แต่นี่เป็นผลมาจากข้อจำกัด

ประการที่สาม คือความเป็นรัฐบาลผสมที่จำต้องมีการแบ่งโควตา หลายครั้งก็เลยต้องตั้งคนที่พรรคร่วมเสนอมา ดังที่เห็นว่าตัวแทนของพรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัฌฌิมาฯ ซึ่งก็ไม่น่าเป็นที่พอใจเท่าไหร่ แต่ครม.ชุดนี้ ก็จำเป็นต้องทำ ผลที่ตามมาคือรัฐมนตรีประกอบด้วยรัฐมนตรีใหม่ไม่ต่ำว่า63 % อาจไม่มีประสบการณ์ ในการบริหาร

ส่วนหนึ่งอาจมีประสบการณ์ทางการเมืองแต่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการก้าวกระโดดมากน่าหวาดเสียวมาก เช่น นายนพดล ปัทมะ เคยเป็นเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ แล้วกระโดดเป็น รมว.ต่างประเทศเลย อาจขาดตกบกพร่องพอสมควร

“รัฐมนตรีจำนวนไม่น้อยมีฐานะเป็นตัวแทนทั้งพ่อ น้อง คนสนิท ซึ่งเป็นผล มาจากข้อจำกัดข้างต้น เมียอย่าง ร.ต.ระนองรักษ์ น้องอย่างนายไชยา พ่ออย่าง นายชวรัตน์ น้องอย่างคุณวุฒิพงษ์ ได้มาเป็นรัฐมนตรี”

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่ารัฐมนตรีหน้าใหม่บางคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งเลย คิดว่าประสบการณ์สำคัญกว่าการศึกษา แต่คนพวกนี้เข้ามาในฐานะตัวแทน จึงค่อนข้างลำบาก เรามี ครม.ที่ด้อยประสบการณ์ หน้าที่คือ การนำ นโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิมไปปฏิบัติมากกว่ามีบทบาทในเชิงนโยบาย เพราะฉะนั้นระหว่างนี้แต่ละคนก็จะโชว์ภูมิคิดของตัวเองว่ามีความสามารถ บทบาทที่แท้จริง ก็คงตกอยู่ทีกุนซือ บางครั้งนโยบายมองจากท่าทีและพฤติกรรมที่แสดงออกได้ ซึ่งเน้นเมกะโปรเจค เน้นประชานิยม รวมทั้งนิรโทษกรรม 111 คน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสิ่งที่เกิดแน่ๆ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การสืบทอดเหล่านี้คงชัดเจน

“รูปแบบบริหารก็จะยังเดิมๆ แต่ก็แยบยลและผ่อนปรนมากขึ้น เพราะแตกต่างกับยุคของทักษิณ อีกทั้งงเป็นรัฐบาลผสม”

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หากดูท่าทีของ ครม. ตนคิดว่าไม่แตกต่างกับ ครม.ทักษิณมากนัก แต่ก็มีการกลบเกลื่อนไปบ้างเช่นไม่ชนกับกลุ่มต่างๆ ชัดเจน

**มีแต่พวกโหมผลงานหาเสียงกับรากหญ้า
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า ในแง่ผลงานแล้วก็ต้องการสร้างผลงานอย่างเร่งด่วน เพื่อหาเสียงสนับสนุนจากรากหญ้าโดยเฉพาะนโยบายประชานิยม ส่วนบทบาทของ รัฐมนตรีของแต่ละคน ก็มีลักษณะที่หลงบทไม่รู้ว่าตนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหนกันแน่ เนื่องจากเป็นมือใหม่แต่การสร้างผลงานเหล่านี้จะนำไปสู่สถานการณ์ต่อต้าน มากข้น โดยเฉพาะกลุ่มประชาสังคมเช่นนโยบายผันน้ำก็ถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ฯ นโยบายสิทธิบัตรยา การจัดระเบียบสื่อซึ่งมีสิทธิที่จะเจอกับกระแสต้านรุนแรง ล้วนเป็นประเด็นร้อน

ด้านนายวีระ สมความคิด ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รับชั่น (คปต.) กล่าวว่า ตนอยากเรียก ครม.ฮาร์ดคอร์ที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ทักษิณได้ปูนบำเหน็จ เป็นรัฐบาลนอมินี ถ้าเรามาดูเฉพาะคุณสมบัติผู้นำประเทศ ซึ่งนายสมัครมีคดีทุจริตคาอยู่ 2-3 คดี แต่ก็ถูกสั่งมาตั้งแต่ ส.ค.ปีที่แล้วตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ 11และ 7 นโยบายเร่งด่วน ล้วนเป็นแนวประชานิยม ปราบปรามยาเสพติด ฟื้นหวยบนดินกองทุนหมู่บ้าน แต่ไม่มียุทธศาสตร์แก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเลย ตนเชื่อว่าเรตติ้งรัฐบาลต่ำ

**“เสน่ห์”ชี้เป็นยุคแห่งการเสื่อมถ้อย
ด้าน นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน สัมมนาเรื่อง "สิทธิมนุษยชนไทยในยุคการเมืองเปลี่ยนผ่าน" ตอนหนึ่งว่า การเมืองที่ขับเคลื่อนมาสู่ยุคนี้ ขอเรียกว่าเป็นยุคแห่งความเสื่อมถอย วันนี้เราได้เห็นพฤติกรรม ของนักการเมือง ที่พยายามช่วงชิงผลักดันตัวเองเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจในคณะรัฐมนตรี จนเกิดความรู้สึกขยะแขยง แม้แต่สื่อยังใช้คำว่า นักการเมืองชุดนี้ได้เสนอโครงการ อย่างมูมมาม ซึ่งตนเห็นด้วยอย่างยิ่ง แค่ในเวลาอันสั้น เราเห็นรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คน ที่เป็นอย่างนั้น คือ รัฐมนตรีคนหนึ่ง เพิ่งได้ตำแหน่งก็ทบทวนการเปิดซีแอลยา โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบกับประชาชน

ส่วนอีกคนหนึ่งมาถึงก็จะให้ปลูกต้นยูคาลิปตัส โดยที่ไม่มีแนวทางการศึกษา แต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าคนที่เข้ามาสู่อำนาจนั้น มีวาระที่คอยอยู่ก่อนแล้วว่า เข้ามาเพื่อผลประโยชน์อะไร

นายเสน่ห์ กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งนี้ อย่ามองแค่การเปลี่ยนรัฐบาล แต่ต้องมองว่าขณะนี้โครงสร้างอำนาจในสังคมได้เปลี่ยนไปด้วย โดยระบอบทักษิณ และนอมินี ซึ่งเป็นทุนที่มีความใกล้ชิดกับทุนข้ามชาติ จะทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อรากหญ้าอย่างเลวร้าย นโยบายของรัฐบาลนี้ จะทำให้เกิดสงครามการแย่งชิงทรัพยากร และนำไปสู่การบั่นทอน และทำลายรากหญ้า ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรของชาติในที่สุด

“คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่าทางออกของวิกฤตินี้ คือ ต้องกระจายอำนาจ ลงไปสู่ชุมชนให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่มี อบต.หรือ อบจ.เพราะกลไกเหล่านั้นส่วนใหญ่ เป็นเครื่องมือของส่วนกลาง แต่ต้องปกป้องชุมชนฐานทรัพยากรให้อยู่รอดจากการ คุกคามของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ โดยให้ชุมชนจับมือกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่น เพื่อชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่นเอง”
กำลังโหลดความคิดเห็น