ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หาดใหญ่โพล สำรวจความเห็นประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เรื่องทิศทางการเมืองภายใต้รัฐบาล “สมัคร1” พบร้อยละ 44.5 เชื่ออยู่ได้ไม่เกิน 1-2 ปี เหตุ การคอรัปชั่นภายในรัฐบาลกว้างขวางแน่ ห่วงหากนำนโยบายประชานิยมมาใช้ จะนำไปสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวง
สำนักวิจัย และพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับทิศทางการเมืองภายใต้รัฐบาล “สมัคร 1” โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชนจำนวน 1,099 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสำรวจ ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2551 ผลสรุปได้ว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 59.5 อายุระหว่าง 21-30 ปี ร้อยละ 40.0 รองลงมา อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 35.8 และอายุ 41-50 ปี ร้อยละ 12.3 ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.2 มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 35.8 วุฒิระดับอนุปริญญา ปวส. และร้อยละ 9.7 ศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัท รับจ้าง ร้อยละ 34.4 รองลงมา ประกอบกิจการส่วนตัว ค้าขาย ร้อยละ 30.6 และร้อยละ 17.6 นักเรียนนักศึกษา
เมื่อถามถึงความพึงพอใจการจัดตั้งรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี “สมัคร1” ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.4 ไม่พึงพอใจ โดยให้เหตุผลว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีอิสระกำหนดนโยบาย รองลงมา ครม.ที่ไม่มีความรู้ และประสบการณ์ทำงาน และมีแนวโน้มจะแสวงหาผลประโยชน์ มีเพียงร้อยละ 34.6 ที่พึงพอใจกับ ครม.ชุดนี้ ที่มีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า เป็นประชาธิปไตย
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญทั้ง 9 กระทรวง พบว่า ประชาชนเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรี มากที่สุด เรียงตามลำดับ คือ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นายนพดล ปัทมะ รมว.การต่างประเทศ นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.การคลัง และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รมว.พาณิชย์ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมว.ศึกษาธิการ
ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลเงา ของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 62.0 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า สามารถป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ รองลงมา ช่วยตรวจสอบรัฐบาลได้มากขึ้น และช่วยให้ประชาชนรับรู้ความจริงด้านทำงานของรัฐบาล มีเพียงร้อยละ 38.0 ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า ทำให้เกิดความแตกแยกของสังคมมากยิ่งขึ้น
ส่วนอีกร้อยละ 74.5 เห็นว่าการนำนโยบายประชานิยมมาปฏิบัติ จะทำได้ระดับปานกลาง เมื่อนำไปใช้จริงสิ่งที่จะส่งผลต่อประชาชน มากที่สุด คือ การคอร์รัปชั่นในรัฐบาลอย่างกว้างขวาง รองลงมา ประเทศชาติจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนฟุ่มเฟือย และเป็นหนี้มากขึ้น มีเพียงร้อยละ 17.6 ที่เห็นว่า ประชาชนจะมีความสุขกับการได้รับแจกนโยบายประชานิยมต่าง ๆ
กรณีทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชาชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่า สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ภายใน 6 เดือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.1 ไม่เชื่อว่า ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชาชน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ โดยให้เหตุผลว่า
เป็นเรื่องยาก และเวลาเร่งด่วนเกินไป มีเพียงร้อยละ 13.6 ที่เชื่อว่า จะสามารถทำได้ และร้อยละ 11.3 ไม่แสดงความคิดเห็น ส่วนนโยบายที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ พบว่า ร้อยละ 46.2 เห็นด้วยกับนโยบายตรึงราคาแก๊ส ก๊าซ มากที่สุด รองลงมา เป็นการยกเลิกมาตรการกันเงินทุนสำรอง 30 % ของธนาคารแห่งประเทศไทย และปัญหาราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น
ความเห็นเกี่ยวกับการทบทวนพาสปอร์ตแดง ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.9 เห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะทบทวน และดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเป็นบุคคลที่ยังมีปัญหาเรื่องคดีความต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ มีเพียงร้อยละ 11.4 เห็นว่าเหมาะสม และร้อยละ 8.7 ไม่แสดงความคิดเห็น
ความเห็นเกี่ยวกับระยะเวลาที่คาดว่า รัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช สามารถบริหารประเทศได้ ประชาชนเห็นว่า สามารถบริหารได้เป็นเวลา 1-2 ปี มากที่สุด ร้อยละ 44.5 รองลงมา สามารถบริหารได้ 2-3 ปี และบริหารได้ 6 เดือน ถึง 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 33.8 และ 13.6 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลหมดวาระในระยะเวลาอันสั้น เพราะการคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง รองลงมา เป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระ ยึดวุฒิสภา และการนิรโทษ 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การแทรกแซงสื่อมวลชน และความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ร้อยละ 61.1 ไม่ทราบว่า มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 2 มีนาคม 2551 นี้ มีเพียง ร้อยละ 38.9 ที่ทราบเรื่อง ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.6 จะไปใช้สิทธิ์