xs
xsm
sm
md
lg

"สมัคร"ยึดช่อง11ทำเอง รื้อใหม่เป็น"โมเดิร์นอีเลฟเว่น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ ตามที่เคยพูดไว้ในรายการ"สนทนาประสาสมัคร"ว่า ไม่ได้ต้องการให้สถานีโทรทัศน์มาสนับสนุนรัฐบาล เพราะอยู่มาได้เลือกตั้งผ่านมาไม่ต้องมีโทรทัศน์สักช่อง แค่อยากได้ข่าวตรงไปตรงมาเท่านั้น ใครที่กระแนะกระแหนว่า ต้องการจะมีทีวีเอาไว้สู้ ไม่ใช่เลย
เจตนาของตนตั้งใจว่า เมื่อช่องที่เขาเสนอข่าว ตรงไปตรงมา ถูกยึดเอาไปทำอย่างอื่น ตนไม่คิดจะไปตามรังควาญ คุณทำกันได้ตามสบาย และช่อง11 เป็นช่องสาธารณะ มาตั้งแต่ต้น แต่ถูกเบี่ยงเบนไปเป็นอย่างอื่น จนกลายเป็นสถานีรัฐบาลไป ไม่เป็นสาธารณะ
" ผมนี่แหละจะทำให้ช่อง 11 ไม่เรียก สาธารณะแข่งกับเขา จะให้เป็นสถานีโทรทัศน์ซึ่งเสนอข่าว ตรงไปตรงมา เสนอข่าวไม่ใช่เฉพาะของรัฐบาล ไม่ต้องมาเชลียรัฐบาล พูดง่ายๆว่าจะปรับปรุงช่อง 11 ให้ทันสมัย โดยเอาคนที่มีฝีมือมาทำ และวิธีการคือว่า ช่อง 11 เขาใช้งบประมาณ แต่เราไม่ต้องการใช้งบประมาณมากกว่าที่เขาเคยมี แต่เราจะมีวิธีการ และทำ ทำนองเดียวกับที่เขาจะทำทีวีสาธารณะ เราจะใช้ช่อง 11 ทำให้ทันสมัย แบบโมเดิร์นอีเลฟเว่น ไม่ต้องอิง หรือประจบประแจงรัฐบาล ตรงไปตรงมายิ่งชอบ ฉะนั้นขอให้เลิกวิจารณ์ เวลานี้กำลังดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย" นายสมัคร กล่าว และว่า สิ่งที่อยากจะทำความเข้าใจ คือ ตนตั้งใจดีจริงๆ ที่จะพูดจาและทำความเข้าใจรักษาเวลานี้ตลอดไป ฉะนั้นเรื่องที่ใครตั้งโปรแกรมอะไรไว้ให้มันเกิดเหตุ กรุณายกเลิกโปรแกรมนั้นไป แต่ไม่ขอพูดรายละเอียด
สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เข้ามาแทรกแซงสื่อ นายสมัคร กล่าวว่าโปรดสบายใจได้ ไม่มีการแทรกแซงด้วยประการทั้งปวง และขอท้าให้พิสูจน์ด้วย ไม่ได้ตั้งใจ ไม่คิด และไม่ต้องการแทรกแซง ขอให้พิสูจน์ด้วยว่า แทรกแซงอย่างไร ช่วยบอกด้วย ถ้าไม่สบายใจ ขอให้สบายใจได้
เมื่อถามว่า ทีวีช่องใหม่ที่จะเกิดขึ้นที่บอกว่า จะไม่เชียร์รัฐบาล เสนอข่าวตรงไปตรงมา แต่สังกัดอยู่กรมประชาสัมพันธ์ จะบอกได้อย่างไรว่า ไม่ถูกควบคุมโดยรัฐ นายสมัคร กล่าวว่าขอให้รอดูต่อไป ไม่เห็นเป็นปัญหา ผิดกฎหมายหรือ ถ้าให้อิงรัฐบาล ถามจริงๆไม่ได้ถามเล่นๆ ผิดกฎหมายหรือ
ส่วนเหตุผลที่ไม่ใช้ช่องที่สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ ที่ควบคุมโดยรัฐบาล นายสมัคร กล่าวว่า รัฐบาลจะทำให้ทันสมัยไม่ได้หรือ ห้ามหรือ ถ้าเป็นรัฐบาลต้องหลับหูหลับตาเชียร์รัฐบาล ตะบี้ตะบัน เมื่อถามว่า สิ่งที่กังวลต่อไปในอนาคต คือ เมื่อเป็นทีวีสังกัดในหน่วยงานรัฐจะหนีไม่พ้นภาพความเป็นพีอาร์รัฐบาล นายสมัคร กล่าวว่า แล้วถ้าไม่พีอาร์รัฐบาล จะเป็นอย่างไรมั๊ย เสนอข่าวกลางๆ เราอยากได้อย่างนั้น เป็นไงมั๊ย ผิดรัฐธรรมนูญมั๊ย
ในกรณี หากรัฐบาลทำเรื่องเสียหาย ช่อง 11 ก็สามารถที่จะนำเสนอได้ไหม นายสมัคร กล่าวว่า แน่นอน ก็ต้องการอย่างนั้น เมื่อถามว่าจะเอางบประมาณที่ไหน นายสมัคร กล่าวว่า เวลาที่เขาสปอนเซอร์กันแบบไม่มีโฆษณามีไหม ที่เขาทำกันอยู่ทุกวันนี้ และที่ช่อง 11 ทำอยู่ทุกวันนี้ ก็ทำอย่างเดียวกัน สนับสนุนใส่โลโก้อย่างเดียว เป็นไงมั๊ย ก็เลียนแบบอย่างนั้นเท่านั้นเอง
โดยคำว่าเปิดกว้าง นายสมัคร ระบุว่า เช่นการนำเสนอข่าวที่เคยนำเสนอข่าวตัวลีบ ระวังรัฐบาล ก็ให้เสนอข่าวตัวโก่งๆ ไม่ต้องระวังรัฐบาล อย่างนี้ดีไหม
เมื่อถามว่ามีการปรับแนวคิดใหม่ของบุคลากรใช่หรือไม่ นายสมัครกล่าวว่า อยากถามว่า รายการวันอาทิตย์ ที่ตนจะคุย ใครจะมาปรับความคิดอ่านของตนได้ไหม เมื่อถามว่า ทำไมไม่เลือกปรับใช้ทีวีสาธารณะ ที่เพิ่งจะเกิด นายสมัคร กล่าวว่า "โอ๊ย ตนไม่กล้าหรอก ทีวีสาธารณะเขาสร้างองคาพยพไว้น่ากลัวจะตาย โอ้โห เปิดดูยังไม่กล้าเลย กลัว"
นายสมัครกล่าวว่า การเลือกเปิดใหม่ ไม่เลือกปรับของเดิมที่มีอยู่ ว่า คำว่ารัฐบาลเข้าไป ไม่ใช้ได้มั๊ย ถ้าไม่เข้าไปแล้วจะให้เข้าไปทำไม ถ้าไม่เข้าแล้วจะว่าไง จะให้เข้าหรือ รู้แล้วว่ามันมีอยู่แล้ว แล้วคุณดูสิ ว่าเห็นมั๊ยว่าเข้าไปได้ไหม เวลานี้ โอ๊ย ...เขาประกาศโครมๆ ดูกฎหมายสิ ว่า 5 คน เป็น 15 เลือก 9 ก็ทำอะไรไม่ได้เลย เพียงแค่คิดยังไม่กล้าคิดเลย
ในส่วนระยะเวลาในการปรับช่อง 11 นั้น คงไม่นานเร็วๆนี้ แต่การที่จะนำช่อง 11 มาทำให้ทันสมัยนั้น
ไปพูดอย่างนี้ก็เสียหาย ไม่ใช่มืออาชีพ มือเก่ง ส่วนจะมีใครบ้างจะบอกตรงนี้ได้อย่างไร ไปว่ากล่าวเขาหมด ให้เขาทำให้ดูก่อน ส่วนที่จะดึงอดีตพนักงานทีไอทีวีเข้ามาในช่อง 11 คงไม่
นายสมัครกล่าวว่า การจะเข้าไปจัดระเบียบสื่อและแทรกแซงการทำงานสื่อนั้น คงไปยุ่งกับเขาได้อย่างไร สื่อของรัฐบอกแล้วว่า จะให้เป็นกลางๆ เท่านี้ก็พอเพียงแล้ว
ส่วนประเด็นที่รายการของ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ถูกถอดออกจากผังรายการ รัฐบาลจะอธิบายอย่างไร นายสมัคร กล่าวว่า คุณยืนยันว่า ใช้คำว่า ถูกถอดออกหรือ ผู้สื่อข่าวตอบว่า นายเจิมศักดิ์ ออกมายืนยันเช่นนั้น นายสมัคร กล่าวว่า แล้วเจ้าของบริษัท เขาบอกว่าอย่างไร ผู้สื่อข่าวชี้แจงว่า นายเจิมศักดิ์ บอกบริษัทแจ้งว่า ทางผู้ใหญ่ขอให้ปรับปรุงรายการในแบบสมานฉันท์ นายสมัคร กล่าวว่า บริษัท ฟาติมา บอกอย่างนี้หรือ ตนฟังเปล่าเลย ตนฟังมาเหมือนกัน ฟาติมาเขาบอกว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องที่เขาพิจารณากันเอง

**บีบอธิบดีฯแถลงอุ้มรัฐบาล
เมื่อถามว่า เรื่องนี้มีการพาดพิงว่า รัฐบาลเป็นผู้สั่งการ นายสมัคร กล่าวว่า คุณเอาหลักฐานมาสิว่ารัฐบาลคนไหน หน้าตาอย่างที่ยืนข้างหลังนี้ หรือเปล่า (นายจักรภพ เพ็ญแข ยืนยิ้มอยู่ด้านหลังนายกรัฐมนตรี ขณะที่กล่าวถึงเรื่องนี้) คนไหนที่ไปสั่ง ตนจะถาม เราไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกันอย่างนี้เลย และก็มีข่าวออกมา ก็เลยบอกนี่ บริษัท แถลงหน่อยสิ อธิบดีแถลงหน่อย แต่อธิบดีก็ยังไม่แถลง อธิบดีต้องแถลงว่าไปสั่งเขาหรือเปล่า มีโทรศัพท์มาหรือเปล่า ไอ้เบอร์อะไรที่ว่ามา อธิบดี ต้องตอบคำถามนี้ เพื่อให้คนของเรา ได้รู้ว่า เราไม่ไปยุ่งก็แล้วกัน คือทำอย่างนี้ ผมว่าไม่ยุติธรรม จัดการเลิกรายการเสร็จแล้ว มาบอกว่า ถูกถอดออก ปัดโธ่ ยุคนี้มันยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรหมแดน
"ผมถามว่าใคร ออกข่าว 111 เอาตัวมาสิ เป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็เหมือนกัน บอกรู้เบอร์โทรศัพท์ไปเอาเบอร์มาสิ เป็นยังไง พิสูจน์มาสิ ผมบอกให้ไปถอดที่องค์การโทรศัพท์มาด้วย" นายสมัคร กล่าว เมื่อถามว่าถึงเวลานี้อธิบดี ยังไม่ชี้แจง นายสมัคร กล่าวว่า ทำไมอธิบดีไม่ออกมา ลองไปถามดูสิ รู้จักมั๊ยอธิบดี ไปถามท่านหน่อย แล้วค่อยมาถามตน

**"จักรภพ"เร่งปรับโฉมช่อง11
นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันช่อง 11 เป็นเป้าหมายที่จะปรับปรุง และอาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องนำมาทำก่อน ส่วนแนวทางการทำงานนั้น ตนจะมองภาพรวมทั้งหมด จากนั้นก็จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อรวบร่วมข้อมูลแล้วมาสรุปเพื่อดำเนินการ
" ท่านอยู่ในรัฐบาลมาหลายชุด ท่านก็อยู่ในช่วงที่ช่อง11 เพิ่งเกิดขึ้น และน่าจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้ ช่อง 11 มีเครื่องไม้เครื่องมือดี มีคนที่ตั้งใจทำงาน แต่ด้วยระบบ ระเบียบทำให้พัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทั้งงบประมาณ ก็ไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ควรจะมีคนที่อื่น เพื่อเข้าไปใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์ " นายจักรภพ กล่าว

**บิ๊กกรมประชาฯยิ้มรับนโยบาย”สมัคร”
นายปราโมช รัฐวินิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการปรับปรุงช่อง 11 ครั้งนี้ เพราะต้องการให้พนักงานของ ช่อง 11 ที่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานชั่วคราว มีอนาคตที่ดีในการทำงานกับทางช่อง 11
“ เราได้ท่านนายกฯถึงปัญหาเบื้องต้นของการปรับปรุงแล้วว่า อยากให้มีการปรับเปลี่ยน หรือผ่อนปรนข้อกฎหมายบางประการ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายบางส่วน เนื่องจากการทำงานของทางช่อง 11 จะเป็นแบบระบบราชการ ค่อนข้างล่าช้า หากมีการเบิกจ่ายต่างๆ ขณะที่บุคลากรส่วนใหญ่อยู่ในฐานะพนักงานชั่วคราวก็ควรให้มีตำแหน่งรองรับมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ทางด้านวัสดุอุปกรณ์และสถานีส่งทั่วประเทศที่มีกว่า 12 สถานี มีศักยภาพที่จะเผยแพร่รายการได้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากที่สุดถึง 90% แต่ละสถานีมีศักยภาพเพียงพอที่จะออกรายการสดได้ทันที แม้ว่าจะมีการทำงานในระบบราชการก็ตาม
นายปราโมช กล่าวต่อว่า ขณะนี้เฉพาะช่อง 11 ในกรุงเทพ มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 300 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานชั่วคราว แต่ละปีทางกรมฯพยายามขอให้มีการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการได้เพียง 4-5 อัตราเท่านั้น นอกจากนี้การที่แต่ละปี กรมประชาสัมพันธ์มีงบประมาณ 200 ล้านบาท ในการปรับปรุงทั้งสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุทั้งหมด มองว่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งหลังจากที่ได้เรียนให้ท่านนายกฯรับทราบ นายสมัคร สุนทรเวช พร้อมที่จะสนับสนุน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี
สำหรับการปรังปรุงช่อง 11 ครั้งนี้ นายปราโมช กล่าวด้วยว่า จะต้องมีการรับสมัครพนักงานเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ทีมข่าว จากเดิมที่มีอยู่ 60 ทีม อาจจะต้องเพิ่มเป็น 90 ทีม แต่ไม่ได้หมายความว่า ช่อง 11 จะให้ความสำคัญกับเรื่องรายการข่าวแต่อย่างไร แต่จะให้ความสำคัญกับทุกประเภทของรายการทั้งหมด
ในเบื้องต้น ทางกรมฯได้เตรียมร่างนโยบายการปรับปรุงภายในกรมประชาสัมพันธ์และสถานีโทรททัศน์ ช่อง 11 ให้แก่นายจักรภพ เพ็ญแข รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ามาดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งจากเดิมที่จะเข้ามาประชุมรับแผนการปรับปรุงดังกล่าวในวันที่ 18 ก.พ.นี้ แต่ล่าสุดได้เลื่อนเป็น วันที่ 25 ก.พ.แทน เนื่องจากวันที่ 18 นี้ จะเป็นวันที่มีการชี้แจงนโยบายของทางรัฐบาล
** เตรียมปลดกฎให้ช่อง 11 โฆษณาได้**
นายปราโมช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันช่อง 11 ในกรุงเทพมหานคร ไม่สามารถให้มีการโฆษณาได้ ต่างจากอีก 12 สถานีทั่วประเทศ ที่ได้มีการจดใบอนุญาตเป็นสถานีหลัก สามารถให้มีการลงโฆษณาได้ ดังนั้น ทางกรมฯมีแผนที่จะขอให้มีการแก้กฎหมายให้ทางช่อง 11 ในกรุงเทพฯ สามารถลงโฆษณาได้ต่อไป ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงอาจจะไม่มีผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ หรือองค์การของทางราชการ จะลงโฆษณาทางช่อง 11 เนื่องจากไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่นายปราโมช รัฐวินิช นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในรัฐบาล ชุด พลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความเสรีกับสื่อ มากกว่ารัฐบาลชุดใหม่นั้น นายปราโมชกล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเผยแพร่ของรัฐบาล มีหน้าที่สำคัญในการเป็นสื่อกลาง สร้างความเข้าใจระหว่างภาครัฐและประชาชน ซึ่งหน้าที่ดังกล่าว ทางกรมฯพร้อมที่จะทำอย่างเต็มที่ แต่อีกนัยหนึ่ง กรมประชาสัมพันธ์ เป็นสื่อสารมวลชนเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 หน้าที่นี้ มองว่า กรมประชาสัมพันธ์สามารถทำควบคู่กันได้ โดยในฐานะสื่อ ที่ต้องมีอิสระ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เอกชนที่เกี่ยวข้องคงต้องรอดูนโยบายที่ชัดเจนอีกครั้งว่า รัฐบาลชุดนี้จะปรับปรุงช่อง 11 อย่างไรบ้าง ทั้งในเรื่องผังรายการ การบริหาร หรืออื่นๆ เพราะหากเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ก็อาจจะกระทบกับผู้ที่ได้สัมปทานเวลาอยู่
**ย้ำไร้การเมืองแทรกคลื่น105
ส่วนกรณีที่มีการวิพากย์วิจารณ์ถึงรายการวิทยุ “มุมมองของเจิมศักดิ์” เวลา 8.00-9.00 น. จันทร์-ศุกร์ ทางคลื่นวิทยุ 105 เอฟเอ็ม ที่มีอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ ถูกปลดออกจากผังรายการ โดยมีรายการ “ภาษาและข่าว” มาออกอากาศแทน พร้อมเพิ่มเวลาในการออกอากาศเป็น 8.00-10.00 น. ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ โดยมีนายโสภณ องค์การณ์ นายเถกิง สมทรัพย์ และนางกรุณา บัวคำศรี ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการแทนนั้น
ล่าสุดนายปราโมชร่วมด้วยนายแสงชัย อภิชาตธนพัฒน์ ประธานกรรมการ บริษัท ฟาติมาบรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ได้สัมปทานคลื่น 105 เอฟเอ็ม ร่วมแถลงข่าว โดยนายแสงชัยกล่าวว่า กรณีที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ได้ยุติบทบาทการจัดรายการวิทยุ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาการแทรกแซงสื่อแต่อย่างไร แต่เกิดขึ้นจากการที่นายเจิมศักดิ์ ต้องการให้เกิดความสบายใจของทางบริษัทฯ ที่ต้องการดำเนินธุรกิจสื่อวิทยุต่อไป ภายใต้นโยบายให้มีความสมานฉันท์ของคนในชาติ อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท ฟาติมาฯ ได้มีการต่อสัญญากับกรมประชาสัมพันธ์ไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่จำไม่ได้ว่าต่อกี่ปี
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวเสริมว่า กรณีดังกล่าว ไม่มีเรื่องของการแทรกแซงสื่อเกิดขึ้นแต่อย่างไร เพราะมีการทำงานที่เป็นขั้นตอน สถานีวิทยุในกรุงเทพฯที่ขึ้นตรงกับกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 12 สถานี แบ่งเป็น เอฟเอ็ม 6 สถานี คือ 88.00เอฟเอ็ม, 92.50 เอฟเอ็ม, 93.50 เอฟเอ็ม, 97.00 เอฟเอ็ม และ 105.00 เอฟเอ็ม รวมทั้งเอเอ็มอีก 6 สถานี จะขึ้นตรงกับนายไพฑูรย์ ศรีรอด ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของนายเผชิญ ขำโพธิ รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จึงจะมาถึงตน
“ ในฐานะอธิบดีที่ทำหน้าที่ดูแลทั้งหมดอีกครั้ง จึงมั่นใจได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากภาครัฐเข้าไปแทรกแซงแต่อย่างไร ”
**เจิมศักดิ์เตรียมทำรายการทีวี
นายปราโมช กล่าวว่า นายเจิมศักดิ์ยังได้เจรจาในการทำรายการโทรทัศน์ผ่านทางช่อง 11 ด้วย ในรายการที่ชื่อ “เวทีชาวบ้าน” โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการวางผังรายการของทางช่อง 11 อยู่ คาดว่าน่าจะได้เห็นเร็วๆนี้

**องค์กรสื่อออกแถลงการณ์
ด้านองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๖ องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับสื่อมวลชน โดยเรียกร้องรัฐบาลดังนี้
1. ต้องไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
2. จากคำให้สัมภาษณ์ของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ว่า รัฐบาลจะเข้ามาจัดระบบสื่อมวลชนของรัฐให้เกิดความสมดุล เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และสามารถปฏิบัติได้ทันที อาทิ การเปิดเวทีให้ฝ่ายอื่นๆ นอกจากฝ่ายรัฐบาล เช่น พรรคฝ่ายค้าน และองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีโอกาสใช้สื่อของรัฐในการนำเสนอความคิดความเห็นในโอกาสและเวลาที่เท่าเทียมกันกับการใช้สื่อของฝ่ายรัฐบาล ในรายการ "พูดจาประสาสมัคร" ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
3. ในการเข้ามาจัดระบบสื่อของรัฐนั้น รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... ที่ต้องมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระ หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม (กสทช.) เข้ามาทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้น ความพยายามใดๆ ที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนของรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
4. ในกรณีของสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน เพื่อให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวสาร สาระและความบันเทิง เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและธุรกิจนั้น ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลสมควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
**ย้อนสู่ยุคแห่งความหวาดกลัว
นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไคย (ครป.) กล่าวว่า การถอดรายการของนาย เจิมศักดิ์ จากคลื่อนวิทยุ Fm 105 น่าจะเป็นการกดดันจากฝ่ายการเมือง การประกาศของนายจักรภพ ที่จะจัดระเบียบสื่อ ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างแจ่มแจ้งว่า ถ้าสื่อแขนงใดวิพากษ์วิจารณ์ หรือ ตรวจสอบรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา อาจโดนแบล็กลิสต์
“ บรรยากาศแบบนี้กำลังย้อนยุคกลับไปสู่ยุคระบอบทักษิณ ที่มีการแทรกแซง และแทรกซึมสื่อสารพัดวิธี จนทำให้สังคมไทยตกอยู่ในอาณาจักรแห่งความหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าพูดความจริง และสังคมก็ต้องยอมจำนน กับความจริงด้านเดียว จนทำให้ระบอบทักษิณแข็งแกร่ง และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จได้ในขณะนั้น ”
กำลังโหลดความคิดเห็น