xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิโณหมัก กับนโยบายเอาหน้าประชานิยม

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ไม่ใช่แค่เรื่อง “ตัวบุคคล” ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีทำหน้าที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นเรื่อง “วิธีการ” และ “นโยบาย” ที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการ

ว่าไปแล้ว ตัวบุคคลอาจจะไม่สำคัญเท่ากับนโยบายที่จะนำมาใช้ เพราะว่ากันว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีในยุคนี้ จะชั่วดีถี่ห่างอย่างไรเสีย ก็ยังต้องรับนโยบาย หรือรับฟังคำสั่ง หรือขอความเห็นชอบ จากผู้มีอำนาจตัวจริงที่อยู่แดนไกล

ค่อนข้างจะแน่นอนว่า รัฐบาลชุดใหม่คงจะยึดถือการใช้นโยบายในแบบที่พยายามเรียกกันอย่างสวยงามว่า “ประชานิยม” ซึ่งจริงๆ ก็คือ นโยบายลดแลกแจกแถม หวังความนิยมชมชอบจากประชาชน มุ่งหวังคะแนนนิยมหรือผลทางการเมืองเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ

ในที่นี้ จึงขอเรียกอย่างตรงๆ ว่า “โครงการเอาหน้าประชานิยม”

ผลของนโยบายเอาหน้าประชานิยม

การใช้นโยบายเอาหน้าประชานิยม จะมีผลกระทบใน 2 ระดับที่สำคัญๆ คือ 1. ระดับชาวบ้าน ครัวเรือน ชุมชน และ 2. ระดับประเทศ ระบบเศรษฐกิจภาพรวม

ระดับชุมชนชาวบ้าน

ชาวบ้านชาวไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่อยู่ในชนบทนั้น มีวัฒนธรรมความคิด วิถีชีวิต วิธีคิดที่อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์

กล่าวโดยย่อ ระบบอุปถัมภ์ คือระบบคิดที่ไม่เชื่อว่าตนเองจะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง แต่เชื่อว่า การจะประสบความสำเร็จในชีวิตของตนขึ้นอยู่กับนาย หรือขึ้นอยู่กับผู้อุปถัมภ์ หรือขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าตนเอง เพราะฉะนั้น วิธีการที่จะประสบความสำเร็จได้ ก็จะต้องไปพึ่งพาอาศัยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า พึ่งนาย ขอความอุปถัมภ์จากนาย ขอให้นายช่วยเหลือ ช่วยดึงขึ้นจากหล่มปัญหาไปสู่การประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างรูปธรรมมีดาษดื่น ตั้งแต่การฝากลูกเข้าเรียน-เข้าทำงาน การช่วยเหลือไกล่เกลี่ยเวลามีเรื่องมีราวมีข้อขัดแย้งกฎหมาย ไปจนถึงการขอคะแนนเลือกตั้งจากหัวคะแนน ฯลฯ

วิธีแก้ปัญหาภายใต้ระบบอุปถัมภ์ คือ การเข้าหานายที่มีอำนาจช่วยเหลือตนเองได้ และแน่นอนว่า นายไม่ได้ช่วยเหลือแบบให้เปล่าอย่างแท้จริง แม้นายจะไม่ได้เรียกเก็บค่าตอบแทนในขณะนั้น แต่ก็จะเกิดความสัมพันธ์ในลักษณะ “บุญคุณ” ที่ต้องตอบแทนนาย ผ่านผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต

วิธีการในลักษณะนี้ ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับระบบคิดในหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง จะมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือตนเอง พัฒนาตนเองจากฐานราก จากสิ่งที่ตนเองมีอยู่ แก้ปัญหาจากฐานราก เริ่มต้นจากการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือกันเองในระดับชุมชน ไม่ใช่หวังพึ่งพาผู้อื่น

1.ข้อดีของการใช้นโยบายเอาหน้าประชานิยม แบบที่เอาของไปแจก หรือเอาผลประโยชน์ไปโปรยหว่านให้ประชาชน คือ ช่วยบรรเทาทุกข์ของชาวบ้าน

ไม่ใช่การพัฒนา ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ผลที่ตามมา คือ แม้จะช่วยให้ชาวบ้านได้บรรเทาทุกข์ชั่วครั้งชั่วคราวในชั่วขณะนั้น แต่เมื่อของหมด ในขณะที่ปัญหายังคงอยู่ ชาวบ้านก็จะกลับมาเดือดร้อนอีก และจะรอคอยความช่วยเหลือจากผู้อุปถัมภ์อีก เพราะไม่ได้เรียนรู้หรือพัฒนากระบวนการแก้ปัญหาด้วยตนเองหรือเพื่อนร่วมชุมชนในระดับเดียวกันเอง

เป็นการตอกย้ำวิธีคิดในเชิงอุปถัมภ์ให้ยังคงอยู่ต่อไป ไม่เกิดการพัฒนาที่แท้จริง ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการทำลายฐานรากวิธีคิดในเชิงเศรษฐกิจพอเพียง

2. การที่รัฐบาลส่วนกลางมีนโยบายในลักษณะเอาหน้าประชานิยม มีผลอีกประการหนึ่ง คือ ลดบทบาทของผู้อุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น มาขึ้นกับรัฐบาลระดับชาติ นักการเมืองระดับชาติ แต่กระนั้น ก็ยังไม่หลุดจากระบบอุปถัมภ์ เพราะชาวบ้านยังคงเชื่อว่า สิ่งที่ช่วยเหลือตนเองนั้น เป็นความเมตตาของนักการเมือง เป็นความเอื้ออาทรของนักการเมือง ทั้งๆ ที่ ความจริง เป็นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ

นักการเมืองระดับชาติที่ใช้นโยบายเอาหน้าประชานิยม จึงมีลักษณะที่น่ารังเกียจมาก เพราะในขณะที่ผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่นทั่วไปสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ของตนเองด้วยการช่วยเหลือชาวบ้านโดยทุนส่วนตัว แต่นักการเมืองระดับชาติพวกนี้ กลับใช้เงินภาษีอากรของประชาชนมาเอาหน้าอย่างไม่รู้จักอาย

อย่างไรก็ตาม มองในมุมของชาวบ้าน นโยบายเอาหน้าประชานิยมแบบนี้ แม้จะช่วยลดบทบาทและการพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ในท้องถิ่นลง แต่ก็ยังไม่หลุดจากความคิดในระบบอุปถัมภ์เดิม เพราะเปลี่ยนมาเป็นพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ระดับชาติ

3.นโยบายเอาหน้าประชานิยม สวนทางกับแนวทางการพัฒนาที่ผ่านการศึกษาและลงมือปฏิบัติจริงโดยองค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิชาการ และเครือข่ายชาวบ้านที่เข้มแข็งในชุมชนท้องถิ่นจำนวนมาก ซึ่งพบว่า แนวทางการพัฒนาที่ควรจะเป็นนั้น ควรจะทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถพึ่งพาตนเอง และพึ่งพากันเอง ช่วยเหลือกันเอง รวมตัวกันเป็นกลุ่มตามปัญหา เป็นชุมชน เป็นประชาสังคมที่มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

พูดง่ายๆ ว่า ชาวบ้านจะต้องจับมือกันในแนวระนาบ เป็นคนระดับเดียวกัน ช่วยเหลือกันและกันในการแก้ปัญหา ต่างกับระบบอุปถัมภ์ ที่ชาวบ้านมักไปจับมือกับคนที่อยู่ระดับสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า

การจะช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ จะต้องเป็นการช่วยลับหลัง หรือปิดทองหลังพระ เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกว่า ตนเองได้ลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เกิดความมั่นใจในการตัดสินใจด้วยตนเอง ได้คิดเอง ทำเอง ได้ช่วยเหลือกันเองจนประสบความสำเร็จ โดยให้ชาวบ้านได้พยายามช่วยเหลือกันเองก่อน ตั้งแต่คิดวิเคราะห์ปัญหา ระดมการมีส่วนร่วม ตัดสินใจ ลงมือทำ เมื่อลงมือทำแล้ว พบว่ามีปัญหาหรือขาดทรัพยากร ภาครัฐจึงเข้าไปหนุนเสริม แต่บทบาทหลักต้องอยู่ที่ตัวชาวบ้าน ภาครัฐเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก หรือเป็นลูกมือเท่านั้น

แนวทางการพัฒนาในลักษณะนี้ ได้เคยดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลอง และโครงการของมูลนิธิบูรณะชนบทฯ (โดยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์) มีการสรุปบทเรียนและความสำเร็จว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำไปใช้ และได้นำไปใช้ในงานพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนในระยะหลังอย่างกว้างขวาง ทั่วทุกภูมิภาค

ถ้ารัฐใช้สื่อถ่ายทอดการทำงานของชาวบ้าน ก็จะช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้กันและกัน ได้ “เห็น” กันและกันมากขึ้น นำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสริมความมั่นใจในศักยภาพของตนเองและชุมชนของตนเอง

การถักทอเครือข่ายการพัฒนาของชาวบ้าน ทำให้เกิดผู้นำชาวบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นนักคิดนักปฏิบัติ เป็นครูผู้นำทางความคิดของชาวบ้านทั่วทุกภูมิภาค จำนวนมาก อาทิ ผู้ใหญ่วิบูลย์ พ่อผาย พ่อคำเดื่อง น้าอัมพร ป๊ะหลน ฯลฯ ทำให้ชาวบ้านได้มีชาวบ้านด้วยกันเป็นแบบอย่างทางความคิด

น่าเสียดาย ที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายของรัฐบาลแบบ “โครงการเอาหน้าประชานิยม” โปรยหว่านเงินลงไป เพื่อสร้างภาพว่าเป็นนักการเมืองที่ใจถึง เป็นผู้เอื้ออาทรต่อประชาชน เมื่อโยนเงินลงไปในท้องถิ่นต่างๆ โดยที่บางท้องถิ่นไม่มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง ไม่มีกิจกรรมความพร้อม ก็เกิดความแตกแยก รั่วไหล

ทุกหมู่บ้าน ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ได้หมู่บ้านละล้าน ไม่มีกิจกรรมก็เอาไปบริโภค ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น ซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ซื้อหวย หรือใช้หนี้นอกระบบ ฯลฯ เมื่อต้องคืนก็ไปกู้หนี้ยืมสิน หรือชักดาบ เกิดปัญหาผลกระทบสืบเนื่องต่อไปอีก

ในความเป็นจริง การสนับสนุนทรัพยากรแก่ชุมชนชาวบ้าน เป็นสิ่งที่พึงกระทำอย่างยิ่ง แต่ต้องทำจาฐานล่างขึ้นมา คือ เริ่มจากตัวชาวบ้าน ชุมชน เริ่มจากการพัฒนาด้วยตนเอง การแก้ปัญหาด้วยกันเอง จากนั้น เมื่อชุมชนใดขาดเหลืออะไร ภาครัฐค่อยสนับสนุนทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น เงินทุน หรืออื่นๆ (เช่น ป่าชุมชน แหล่งน้ำสาธารณะ สื่อชุมชน ถนนหนทาง การตลาด ฯลฯ)

แบบนี้ต่างหาก ที่จะสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การปิดตัวเองจากโลกภายนอก แต่จะเป็นการพัฒนาจากฐานราก จากตัวชาวบ้าน จากชุมชนชาวบ้าน จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ สามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น เข้มแข็งขึ้น ไม่เกินตัว ไม่ฟุ้งเฟ้อไม่สุ่มเสี่ยง และที่สำคัญ คือ เป็นการพัฒนาที่ช่วยให้ชาวบ้านได้รู้ท่าทันตนเอง

ระดับเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจ ข้าวของราคาแพง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ต้นทุนปัจจัยการผลิตแพงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันปิโตรเลียม การใช้นโยบายหว่านเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในสภาวะการณ์เช่นนี้ ดูเผินๆ จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ถ้าดูจริงๆ จะเห็นว่า จะเป็นส่วนกระตุ้นให้คนใช้จ่ายบริโภคเกินจำเป็น ขัดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะแทนที่จะค่อยๆ ปรับตัวตามสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไป เช่น น้ำมันแพง ข้าวของแพง ก็ควรประหยัดมากขึ้น หรือหันไปหาทางเลือกอื่น ที่ลดการพึ่งพาน้ำมันทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะปัจจุบัน ข้าวของแพงขึ้นปีละประมาณ 5 % จากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก

เรียกว่า จะต้องรู้จักผลิตและบริโภคอย่างรู้เท่าทัน มีภูมิคุ้มกันตนเองจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ยิ่งกว่านั้น โลกในขณะนี้ สถานการณ์น้ำมันราคาแพง ทำให้พลังงานทดแทนจากพืชพลังงาน เช่น เอทานอล มีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้พืชผลเกษตรที่เป็นพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย ฯลฯ มีราคาดี และมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แย่งพื้นที่เพาะปลูกของพืชชนิดอื่นๆ เช่น ข้าว เป็นต้น ทำให้สินค้าเกษตรชนิดอื่นมีปริมาณผลผลิตน้อยลง ราคาแพงสินเกษตรในตลาดโลกโดยรวมจึงสูงขึ้น

โดยภาพรวม ข้าวของจึงมีราคาแพงขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อ คือจำนวนเงินเท่าเดิมซื้อสินค้าได้น้อยลง มีผลทำลายการออม เพราะการฝากเงินไว้กับธนาคารได้รับดอกเบี้ยต่ำ ผลตอบแทนไม่คุ้ม ขืนฝากไว้ก็มีแต่จะมีค่าลดลง ทำให้เกิดแรงผลักดันให้คนนำเงินออกมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภค ในอนาคต หากต้องขึ้นดอกเบี้ย ก็จะกระทบตลาดหุ้น กระเทือนการลงทุน และเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า

สถานการณ์เช่นนี้ หากรัฐบาลโปรยหว่านเงินเพิ่มเข้ามาอีก ก็ยิ่งทำให้มีเงินในระบบมากขึ้น กระตุ้นการบริโภคที่เกินจำเป็นมากขึ้น ขัดกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสิ้นเชิง

มิหนำซ้ำ ยังเกิดค่าเสียโอกาสมหาศาล เพราะแทนที่จะสามารถนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ที่จำเป็นมากกว่า แม้จะเป็นการปิดทองหลังพระ เช่น การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การเสริมสร้างศักยภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนในท้องถิ่น การพัฒนาคน การพัฒนาชุมชน การพัฒนาข้อมูลข่าวสาร ฯลฯ

ในสภาวการณ์เช่นนี้ รัฐบาลยิ่งควรจะต้องตระหนักในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง คือ การผลิตและการบริโภคที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การใช้จ่ายตามจำเป็น การพึ่งพาตนเองให้ได้ การมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ การเติบโตบนฐานราก มีเหตุมีผล

นพ.ประเวศ วะสี ให้ข้อคิดที่น่าใส่ใจเอาไว้ว่า นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดก่อนเคยทำมานั้น ส่วนหนึ่งได้ช่วยเหลือประชาชนที่กำลังยากลำบาก เพราะเมื่อมีใครนำอะไรมาให้ก็ชอบ แต่นโยบายดังกล่าวแก้ปัญหาจริงไม่ได้ การแก้ปัญหาจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกัน เพื่อร่วมกันคิดร่วมกันทำ ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หลุดจากความยากจนอย่างถาวร ดังนั้น หากรัฐบาลชุดใหม่จะฟื้นประชานิยมก็ขอให้ทำพอสมควรควบคู่กับการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ผู้เขียนยืนยันว่า การผันทรัพยากรสู่ชนบท เป็นแนวทางที่ถูกต้อง จำเป็น และเป็นประโยชน์ แต่จะต้องมี “วิธีการ” ที่เหมาะสม อยู่บนฐานความพร้อมของแต่ละชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรดังกล่าวมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกออกผล และการพัฒนาที่สมดุลในชนบท

การทำนโยบายที่ประชาชนนิยมไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในตัวของมันเอง หากว่า นโยบายดังกล่าวนั้น เมื่อดำเนินการแล้ว เกิดการพัฒนาที่แท้จริง โดยช่วยให้ชาวบ้านมีความเข้มแข็งขึ้น มีการพัฒนาตนเอง รู้เท่าทันตนเอง เกิดการพัฒนาร่วมกันของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนฐานชุมชนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนยิ่งขึ้น

แต่ที่ผ่านมา นักการเมืองในประเทศอื่นๆ ที่มากับ “โครงการเอาหน้าประชานิยม” มักจะจากไปโดย “เสียหน้า-ประชาขับไล่”

หากรัฐบาลชุดนี้ จะทำเสมือนเป็นนอมินีของรัฐบาลทักษิณ โดยยึดแนวทาง “เอาหน้าประชานิยม” ดังเดิม จะยังใช้เงินภาษีอากรประชาชนส่วนรวมเพื่อมาสร้างภาพให้ตนเองเหมือนเดิม โดยไม่คำนึงถึงผลทางการพัฒนาในระยะยาว ไม่ปรับมาสู่การพัฒนาที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ความเสียหายทั้งมวลจะตกแก่ประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม โดยไม่สามารถหานอมินีมารับกรรมแทนได้เลย !
กำลังโหลดความคิดเห็น