xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายสมมติกับความจริงที่เจ็บปวด

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ระหว่างที่นั่งดูทีวี ดู ส.ส.ผู้ทรงเกียรติซีกรัฐบาลทั้งหลายกรูเข้ายินดีกับนายสมัคร สุนทรเวช หลังชนะโหวตได้เป็นนายกฯ คนใหม่เมื่อวันก่อน...

เวลาใกล้เคียงกัน ผมก็รับทราบจากข่าวทางออนไลน์ว่า ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชย์ ครบ 60 ปี อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นักเรียน-นักศึกษาจำนวนมากกำลังทำในสิ่งที่ในชีวิตพวกเขาคงไม่ได้คาดคิดมาก่อน

พวกเขาเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดี ซึ่งศาลจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจัดขึ้น

โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นิสิต และ นักศึกษา ซึ่งเป็นลูกหนี้ ที่กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแล้วไม่มีเงินชำระ มีหนี้ค้างจ่ายกองทุนตั้งแต่ 5 งวดขึ้นไปซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ของกองทุนต้องบอกเลิกสัญญาและถูกดำเนินคดี ถูกฟ้องทั่วประเทศ ซึ่งมีจำนวนกว่า 90,000 รายทั่วประเทศ จากยอดหนี้ค้างชำระราว 300 ล้านบาท

ศรีสะเกษเป็นแค่ 1 ใน 9 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ถูกบอกเลิกสัญญาค้างจ่ายมากที่สุด ปี 2551นี้ มีนักศึกษาจากศรีสะเกษกว่า 3,800 รายที่อยู่ในข่ายนี้

ภาพที่เห็นใบหน้าที่มีแต่รอยยิ้มของพวกนักการเมืองน้ำเน่าที่กำลังจะเดินเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาล กับ ใบหน้าที่เคร่งเครียดของนักศึกษาระหว่างไกล่เกลี่ยหนี้ที่ตัวเองใกล้เคียงกับที่จะเดินขึ้นศาลในฐานะจำเลย มันเป็นภาพที่สะทกสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูก...

หลังจากวันนี้ อีกไม่กี่วันข้างหน้า รัฐบาล ‘นอมินี’ ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นตัวแทนในตำแหน่งนายกฯ คงจะได้แถลงนโยบายต่อสาธารณะตามขั้นตอนก่อนเข้าบริหารประเทศ

เท่าที่เผยแพร่ออกมาทางสื่อบ้างแล้ว ดูเหมือนไม่มีอะไรแตกต่างจากสมัยที่พรรคพลังประชาชนยังเป็นพรรคไทยรักไทย

นโยบายในภาพรวมทั้งหมดของพรรคนี้ทั้งเศรษฐกิจและสังคมยังเน้นไปที่การใช้จ่าย-หว่านเงิน เพื่อหวังผลให้ ‘ประชานิยม’

ประชานิยมเดียวกับที่สร้างวัฒนธรรมสวนทางกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้เมื่อหลายปีก่อน

วัฒนธรรมที่บ่มเพาะ คนชนบทให้เรียนรู้พฤติกรรม ชักดาบ เบี้ยวหนี้ หรือกู้เงินนอกระบบมาโป๊ะ หมุนเงินไปเรื่อยๆ เป็นของสนุก

วันนี้ ทุกอย่างกำลังจะหวนคืน!

บทเรียนในอดีตสอนให้รู้ว่า นโยบายจะร่างให้สวยหรู ดูดีอย่างไรก็สุดแล้วแต่ บอกจะสร้างยุทธศาสตร์สักกี่สิบยุทธศาสตร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมก็ว่ากันได้ สมมติกันได้

ปรากฏการณ์นักเรียนค้างชำระหนี้ กำลังจะถูกฟ้องคดีกลับเป็นเรื่องจริงที่ไม่สมมติ

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีวัตถุประสงค์เรียนก่อนผ่อนทีหลังกำลังเจอปัญหา สินเชื่อที่ปล่อยไปให้นักเรียน-นักศึกษาทำท่าจะกลายเป็นหนี้สูญมโหฬาร

กองทุนนี้ดำเนินงานมา 8 ปี กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล มีธนาคารกรุงไทยทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินปล่อยกู้ไปแล้ว 1.85 แสนล้านบาทแก่ผู้มากู้ 2.18 ล้านราย

ก่อนนั้นอาจจะมีนักเรียน-นักศึกษาซึ่งเป็นผู้กู้ยืมหลายคนจบมาแล้วไม่มีงานทำ ทำให้ไม่มีเงินจ่าย บางคนเป็นลูกหลานคนมีเงินแต่กู้เล่นๆ ซึ่งบังเอิญการตรวจสอบก่อนกู้บกพร่อง เมื่อครบกำหนดก็จงใจไม่จ่าย ก็ว่ากันไปตามกระบวนการติดตามหนี้-ทวงหนี้ของกองทุน

พออยู่ๆ ไปวันนี้ ยอดหนี้ค้างจ่ายเพิ่มสะสมมาเรื่อยๆ มันเปรียบเหมือนฝีแตกโพละ ถึงคราวผู้กู้ต้องฟ้องคดี แล้วจะอย่างไรต่อไป น่าสนใจยิ่ง

ใครบอกได้ว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อเติบใหญ่ทำงาน หรือประกอบอาชีพส่วนตัวเขาจะมีทัศนคติกับชีวิตอย่างไร

ขณะที่ทุนนิยมระดับโลกกำลังจะระส่ำระสายสั่นคลอนจากปัญหา ‘ซับไพรม์’ วิกฤตการปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์แบบคุณภาพต่ำของสหรัฐฯ

แบบไทยๆ หนี้สินอีรุงตุงนังจากกองทุนหมู่บ้าน ธนาคารประชาชน โครงการเอื้ออาทรสารพัดเอย มรดก ‘ประชานิยมเป็นหนี้’ ของรัฐบาลทักษิณอย่างที่เห็นๆ จากตัวเลข งานวิจัยที่ออกมาเมื่อรวมกับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ผมคิดว่า ใกล้เคียงกับเวลาที่พร้อมจะกลายพันธุ์ไปสู่การเป็น ‘ซับไพรม์’ ในระบบเศรษฐกิจไทย

ภายใต้นโยบายของรัฐบาลใหม่แต่คนเก่าที่ประกาศนโยบายต่อยอดส่งเสริมคนให้เป็นหนี้ กู้ยืมสินเชื่อมาใช้ แต่ผู้กู้ติดเชื้อเสพติดวัฒนธรรม ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’

ผลกระทบจากซับไพรม์แบบไทยๆ คงไม่ได้จำกัดวงเพียงแค่เศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่สังคมก็จะอยู่ในภาวะเสี่ยงสูงอย่างน่าเป็นห่วง

อย่าลืมว่า สินเชื่อ และ หนี้เหล่านี้หมักหมมเป็นดินพอกหางหมูที่ยากจะสะสางเข้าไปทุกวัน

นโยบายจะดี-ไม่ดี ด้วยวิวาทะของนักการเมือง คำตอบอาจมีได้หลากหลาย

ทว่า สิ่งที่เห็น และ เป็นไปเหมือนๆ กันในทุกๆรัฐบาล ก็คือ นักการเมืองมาแล้วก็จากไป อำนาจวาสนามีมาแล้วก็เสื่อมสลายไปในบั้นปลาย

ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องสมมุติ

นักการเมืองจึงไม่ต่างจากหมอกควัน แต่ผลที่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาด ทุจริต คอร์รัปชัน ของนักการเมืองเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องจริงของประชาชนที่ต้องตื่นมาเผชิญกับชะตากรรมที่เจ็บปวดเสมอ

ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ http://weblog.manager.co.th/publichome/suwitcha67 หรือ อีเมล suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น