ศรีสะเกษ-น้ำมันโคตรแพง เศรษฐกิจตกต่ำยุค “รัฐบาลหุ่นเชิด” พ่นพิษซ้ำเติม “กองทุนหมู่บ้าน” นโยบายประชานิยม “ทักษิณ” ประสบปัญหาหนัก สมาชิกกองทุนฯ แห่ชักดาบไม่ชำระหนี้คืน เหตุแบกค่าครองชีพหลังอานรายได้ไม่พอรายจ่าย แถมซ้ำส่วนมากกู้เงินไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย มือถือ-จยย.และนำไปใช้หนี้นอกระบบ ติดบ่วงหนี้สินไม่มีที่สิ้นสุด
วันนี้ (4 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานจังหวัดศรีสะเกษ ว่า จากปัญหาราคาน้ำมันแพงและ เศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าอุปโภคบริโภคทุกอย่างปรับขึ้นราคา ทำให้ประชาชนเดือดร้อนแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบกับ “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” หรือกองทุนเงินล้าน ตามนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเขตพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เป็นจำนวนมากแล้ว
ทั้งนี้ เนื่องจากชาวบ้านสมาชิกกองทุนที่กู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้าน ไปลงทุนทำการเกษตร ,ประกอบอาชีพต่างๆ หรือเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือนและ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ ได้ประสบปัญหาไม่ส่งเงินชำระหนี้ให้กับกองทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้กองทุนหมู่บ้านหลายแห่งมีปัญหาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินหมุนเวียน
นายสมศักดิ์ แสงลับ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่ 1 บ.หนองโน ต.น้ำคำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหนองโน ต.น้ำคำ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านของตนได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านมาทั้งสิ้น 1,000,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 63 ราย ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้จัดสรรเงินให้สมาชิกกู้ยืมรายละ 15,000 บาท
ส่วนใหญ่สมาชิกแจ้งว่า จะนำเอาเงินไปเป็นทุนทำการเกษตรกรรม แต่ปัญหาน้ำมันแพง รวมทั้งปุ๋ย ปัจจัยการผลิต และสินค้าทุกอย่างปรับขึ้นราคาอยู่ในขณะนี้ ทำให้บรรดาสมาชิกของกองทุนฯได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะรายได้จากผลผลิตไม่พอกับรายจ่าย และไม่มีเงินมาชำระหนี้ให้กับกองทุน
ล่าสุด มีสมาชิกไม่นำเงินมาชำระหนี้คืนกองทุนหมู่บ้านเลยจำนวนทั้งสิ้น 24 ราย จากสมาชิกทั้งสิ้น 63 ราย ซึ่งคณะกรรมการกองทุนฯ ได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าไปพูดคุยกับสมาชิกของกองทุนที่ติดค้างชำระหนี้ ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง มีสมาชิกบางส่วนให้ความร่วมมือนำเอาเงินมาชำระหนี้บ้าง
นายสมศักดิ๋ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการค้างไม่ชำระหนี้คืนเงินกองทุนหมู่บ้าน นอกจากจะประสบปัญหาน้ำแพงและเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว มีสมาชิกส่วนมากนำเงินที่กู้ได้ไปใช้ในทางที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ โดยนำเงินไปซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น โทรศัพท์มือถือ รถจักรยานยนต์ แทนที่จะนำเอาไปทำการเกษตรหรือประกอบอาชีพ และหลายคนได้นำเอาเงินกองทุนไปชำระเงินกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยแพงกว่า ส่งผลให้เกิดหนี้สินผูกพันอย่างไม่จบสิ้นและไม่มีเงินมาชำระคืนให้กับกองทุนหมู่บ้านดังกล่าว
“ยิ่งเข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง น้ำมันราคาแพงเช่นนี้ก็ยิ่งทำให้ยอดจำนวนสมาชิกที่ค้างชำระเงินกองทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ทางคณกรรมกองทุนฯ จะพยายามผ่อนผันอย่างเต็มที่แต่ก็ได้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง และยังไม่รู้ว่าจะมีวิธีการอย่างไรในการเรียกคืนเงินกองทุนหมู่บ้านให้ครบทั้งหมดตามที่สมาชิกได้กู้ยืมไป” นายสมศํกดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหนองโน ได้พยายามเสนอวิธีการกู้ยืมเงินกองทุนหมู่บ้านใหม่ต่อสมาชิก คือ เปลี่ยนจากการปล่อยกู้รายบุคคล เป็นให้สมาชิกรวมกลุ่มกันกู้ยืมเพื่อไปลงทุน หรือทำกิจกรรมที่จะเกิดผลรายได้ชัดเจน เช่น โรงสีชุมชน, กลุ่มผลิตปุ๋ยชีวภาพเป็นต้น เพื่อให้มีรายได้ที่แน่นอนสามารถส่งชำระคืนเงินกองทุนหมู่บ้านได้ แต่ปรากฎว่า ชาวบ้านสมาชิกกองทุนแต่ละคนไม่เห็นด้วย เพราะส่วนมากแล้วต้องการนำเอาเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เสียมากกว่า