“พลังแม้ว” เตรียมนัดแกนนำพรรคร่วมหารือนโยบายก่อนเปิดแถลง วางกล้ามต้องยึดประชานิยมในอดีตเป็นหลัก ปัดโผ ครม. “แม้ว” บงการที่ฮ่องกง แต่ยอมรับ ส.ส.บินไปพบจริง ฉุนปกมติชนสุดสัปดาห์เปรียบเทียบจอมพลถนอม
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่พรรคพลังประชาชน นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่างนโยบายเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า ขณะนี้คณะกรรมการฯของพรรคได้ร่างร่างนโยบายที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนฯเรียบร้อยแล้วมีความยาวทั้งหมด 45 หน้า แต่หลังจากนี้ผู้บริหารพรรคนำโดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ จะต้องนำไปหารือร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลในวันที่ 30 ม.ค.นี้อีกครั้ง โดยการปรับแก้จะใช้ร่างของเราเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าภายในต้นเดือน ก.พ. นโยบายที่จะแถลงต่อสภาก็จะเสร็จสิ้น
นายนพดล กล่าวอีกว่า สำหรับร่างนโยบายที่พรรคพลังประชาชนนั้น จะเน้นเรื่องการต่อยอดนโยบายที่ประสบความสำเร็จในปี 44 และปี 48 รวมทั้งจะพลิกฟื้นนโยบายหลายอย่างที่ถูกยกเลิกไปโดยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ว่าจะเป็นการกองทุนหมู่บ้านเอสเอ็มแอล ผู้ว่าฯ ซีอีโอ หวยบนดิน กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา การพักหนี้เกษตรกร ธนาคารหมู่บ้าน โคล้านตัว การพัฒนาแหล่งน้ำทั้งระบบ และการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ การประกาศสงครามกับยาเสพติด รวมทั้งจะต้องเพิ่มเรื่องมาตรการดูแลสภาพเศรษฐกิจ การเงิน ซึ่งจะต้องหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ภารกิจหลักที่เรานำไปหาเสียงและมาตรการที่ว่าสำคัญก็จะต้องคงไว้ ซึ่งการปรับแก้จะยึดร่างนโยบายของพรรคพลังประชาชนเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวว่ามีการทาบทามนายวีรพงษ์ รามางกูร มาดำรงตำแหน่งรวม.คลัง นายนพดล กล่าวว่า ขอรอให้เรื่องนี้ยุติก่อน เมื่อมีข้อมูลชัดเจนก็จะชี้แจงให้ทราบ เพราะเท่าที่ทราบจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรคฯ ก็ทราบว่ามีการติดต่อทาบทามกันหลายคน ซึ่งตำแหน่ง รมว.คลังเป็นตำแหน่งสำคัญ ขอให้รอความชัดเจนก่อน แต่ตอนนี้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งก็สามารถเป็นได้ทั้งคนในและคนนอก
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุว่า การตั้ง ครม.ชุดนี้ทำที่ฮ่องกง นายนพดล กล่าวว่า คงเป็นความพยายามที่จะพูดไปเรื่อยให้เชื่อมโยงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังคงดำเนินการทางการเมืองผ่านพรรคพลังประชาชน และพยายามบอกว่าพรรคพลังประชาชนเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่ความจริงแล้วคณะผู้บริหารพรรคก็ได้ประชุมและเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งตนไม่เชื่อว่านายเทพไทจะไปที่สนามบินสุวรรณภูมิและขอดูรายชื่อผู้โดยสารไปฮ่องกงว่ามีใครบ้าง เพราะสายการบินคงไม่ยอม ตนคิดว่านายเทพไทควรจะยุ่งกับกิจการของพรรคตัวเองมากกว่าที่จะมายุ่งกับเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อถามอีกว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา ลูกชายนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ระบุว่าพบ ส.ส.พลังประชาชนหลายคนที่ฮ่องกง นายนพดล กล่าวว่า นายวราวุธบอกแล้วว่าพาภรรยาไปเที่ยว แต่ที่พบ ส.ส.พลังประชาชนก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะส.ส.ก็อาจจะไปพบปะกับ พ.ต.ท.ทักษิณด้วยความคิดถึง เพราะร่วมงานกันมานาน ตนยังอยากไป แต่ก็ยังไม่ได้ไป
เมื่อถามถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในการประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ นายนพดล กล่าวว่า ผู้ที่เสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ คงเป็นผู้ใหญ่ในพรรค อาจจะเป็นรองหัวหน้าพรรคหรือเลขาธิการพรรค ซึ่งใครจะเป็นผู้เสนอก็ไม่สำคัญเท่าผู้ที่เลือก อย่างไรก็ตามตนคิดว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ละพรรคการเมืองก็ต้องมีการประชุมและสั่งให้ลูกพรรคสนับสนุนนายสมัคร เพราะการเมืองไม่ใช่แค่เรื่องกฎกติกา แต่อยู่ที่มารยาทด้วย เพราะเรื่องเหล่านี้น่าจะจบไปตั้งแต่การแถลงร่วมรัฐบาลที่โรงแรมสุโขทัยแล้ว อีกทั้งการโหวตก็เป็นการโหวตโดยเปิดเผย ไม่น่ามีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บ้างหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า “เพิ่งคุยกันเมื่อ 7 นาทีที่แล้ว แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการตั้ง ครม. เพราะท่านไม่เกี่ยว เพียงแต่พูดถึงเรื่องหนังสือมติชน สุดสัปดาห์ที่ใช้รูปปกเป็นรูป พ.ต.ท.ทักษิณ ห่มผ้าเหลือง แล้วนำไปเทียบกับจอมพลถนอม กิติขจร อดีตนายกฯ ซึ่งต้องเรียนว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่มติชนเองก็ทำไม่เหมาะสมในการตัดต่อรูปภาพ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณเป็นอดีตนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วเมื่อไปปฏิบัติภารกิจที่ต่างประเทศ ก็โดยปฏิวัติยึดอำนาจ ดังนั้น การเดินทางกลับประเทศจึงไม่จำเป็นต้องบวชเป็นพระ แต่เป็นสิทธิอยู่แล้วที่จะเข้ามา และที่ผ่านมาท่านก็เคยบวชเรียน ศึกษาพระธรรมมาแล้ว ซึ่งได้คุยกันว่าที่มติชนทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม” นายนพดล กล่าว
เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดีในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายนพดล กล่าวว่า ยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไมได้โกรธ และคงไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีอะไร แต่ที่อยากขอร้องคือหากทำได้ก็ขอให้เกียรติกันบ้างตามสมควร แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็อยากให้ทุกฝ่ายปรองดองกัน
ขณะที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ชั่วคราว กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 ม.ค.ว่า วิปรัฐบาลจะไม่มีการนัดประชุมใดๆ อีก เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองจะไปหารือกันเอง ส่วนตัวเชื่อว่าการโหวตโดยใช้วิธีขานชื่อ ตัวเลขที่ออกมาจะเต็ม 312 คน โดยหักเสียงของประธานสภาฯ 3 คนออกไป
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงขั้นตอนการโหวตเลือกนายกฯ ว่า ทั้งประธาน และรองประธานสภาฯ ได้ตกลงกันแล้วว่าจะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคนละ 1 ชม. โดยระหว่างนั้นใครไม่ได้ทำหน้าที่ก็จะลงมาโหวตเลือกนายกฯด้วย คาดว่าจะไม่มีปัญหาความวุ่นวายอะไร ส่วนหากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการขออภิปรายเรื่องคุณสมบัติของนายกฯ นั้นก็ต้องดูมติที่ประชุมจะเห็นอย่างไร แต่ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะต้องอภิปายอะไรอีก เพราะประชาชนเลือกมาแล้วก็ควรปล่อยไปตามกระบวนการสภา เรื่องคุณสมบัติที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องคดีความต่างๆ นั้น ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เมื่อถามว่า รองประธานสภาฯ มาร่วมประชุมกับพรรคการเมืองจะเหมาะสมหรือไม่ นายสมศักดิ์ ตอบว่า วันนี้มาร่วมประชุมในฐานะสมาชิกพรรคคนหนึ่ง