xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” ลอยนวล ไม่มีหลักฐานเอาผิดฆ่าตัดตอน!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


เผยสรุปผลสอบ คตน.ที่จะส่งนายกรัฐมนตรีพรุ่งนี้ คณะอนุฯยังไม่มีหลักฐานเอาผิดรัฐบาลอดีตนายกฯ ชัดเจน เพียงตัวเลขเสียชีวิตช่วงนโยบายประกาศสงครามยาเสพติดเท่านั้น แต่ยังถือความผิดทางอาญาระหว่างประเทศ ให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติมได้อีกครั้ง

วันนี้ (15 ม.ค.) รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษ และการนำเอานโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ที่จะนำเสนอให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พิจารณาในวันที่ 16 ม.ค.นี้ เป็นรายงานการปฏิบัติงานเบื้องต้นหลังทำงานมานาน 5 เดือน โดยเนื้อหาของรายงานจะนำเสนอข้อมูลเรียงลำดับให้เห็นถึงความเป็นมาของการกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียงลำดับไปให้เห็นถึงการมีหนังสือสั่งการต่างๆ จากกระทรวงมหาดไทย และศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด (ศตส.) ซึ่งกำหนดให้มีการจัดทำบัญชีนักค้ายาเสพติดและผู้เสพ ไปจนถึงการกำหนดตัวชี้วัดให้ลดยอดในบัญชีนักค้าและผู้เสพ

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สิ่งที่ คตน.ตรวจสอบได้มีความชัดเจนมากที่สุด มีเพียงจำนวนคดีฆาตกรรม และจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเวลาที่มีการกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติด และมีการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสถิติการเสียชีวิต และคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในปีต่างๆ ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 มี คดีฆาตกรรม 2,559 คดี ผู้เสียชีวิต 2,819 คนเป็น ผู้เสียชีวิตที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1,370 คน ผู้ตายไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 878 คน มีผู้เสียชีวิตจากคดีฆาตกรรมที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย 571 คน คดีวิสามัญฆาตกรรมมีผู้เสียชีวิต 54 คน ผู้ตายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 41 คน ไม่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 คน คดีวิสามัญฆาตกรรมไม่ทราบสาเหตุการตาย 11 คน เมื่อเทียบกับคดีฆาตกรรมที่เกิดในช่วง 2 ปีก่อน และหลังประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติด คือ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน พ.ศ.2544, 2545 และ พ.ศ.2547, 2548 พบว่า มีคดีฆาตกรรมเพียงเดือนละ 454 คดี หรือร้อยละ 33.33 ต่อเดือน แต่ช่วงประกาศสงครามยาเสพติดเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2546 มีคดีฆาตกรรมเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 853 คดี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 87.98 ต่อเดือน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นกระบวนการในการกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดตลอดจนการนำนโยบายไปปฏิบัติ รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จแสดงให้เห็นถึงความต้องการของฝ่ายบริหารแต่เพียงเชิงปริมาณด้านเดียว จึงอาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการมุ่งต่อผลสำเร็จมากกว่าการคำนึงถึงหลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐ คตน.เสนอให้ตรวจสอบเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของ คตน.พบข้อมูลการเสียชีวิตอันเป็นผลจากการนำนโยบายปราบปรามยาเสพติดไปปฏิบัติ ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายอาญา จึงควรที่จะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาความรับผิดฐานเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งก่อนหน้านี้ มีความพยายามรวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดกับผู้กำหนดนโยบาย จนนำไปสู่การปฏิบัติที่ส่งผลให้มีการล้มตายของประชาชนเป็นจำนวนมากนั้น คตน.เสนอให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เช่นเดียวกับการตรวจสอบคดีฆาตกรรมจำนวนมากในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศสงครามกับยาเสพติด จะถือเป็นการฆาตกรรมโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม (extra-judicial killing) หรือเป็นความผิดทางอาญาระหว่างประเทศ ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และจะถือเป็นความรับผิดชอบทางอาญาระหว่างประเทศตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่นั้น ในการตรวจสอบของคตน.ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน จึงเสนอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกเช่นกัน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า กรรมการ และอนุกรรมการ คตน.หลายคนค่อนข้างจะแปลกใจในผลสรุปรายงานเบื้องต้นที่จะนำเสนอต่อนายกฯ ซึ่งไม่มีการระบุความผิดของการกำหนดนโยบาย ขั้นตอน วิธีปฏิบัติ และเกณฑ์ชี้วัดในการปราบปรามยาเสพติดขั้นเด็ดขาด จนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจำนวนมาก ทั้งผู้ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่มีการตรวจสอบพบหนังสือสั่งการหลายฉบับ ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 3 ราย มีพฤติการณ์ส่อถึงการกระทำความผิดฐานฐานเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 โดยรายงานของ คตน.ฉบับนี้จะไม่ระบุออกมาให้ชัดเจนว่าใครทำผิดอะไร และต้องรับผิดอย่างไร แต่เลือกที่จะบรรยายข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ผู้อ่านรายงานทั้งฉบับอย่างละเอียดเข้าใจได้เองว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น