ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เผยนักเรียนนักศึกษาศรีสะเกษค้างชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเรียนและจะถูกดำเนินคดีฟ้องศาลปี 2551 กว่า 3,800 ราย ศาลศรีสะเกษร่วมกับสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรมและกองทุนฯ เร่งจัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาให้เข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนถูกฟ้องคดีต่อศาล คาดไกล่เกลี่ยสำเร็จ 800-1,000 ราย
วันนี้ (28 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชย์ ครบ 60 ปี อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวชิระ เศษแสงสี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดี ซึ่งศาลจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จัดขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งเป็นลูกหนี้ ที่กู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กำลังจะบอกเลิกสัญญาและดำเนินคดีกับผู้ที่มีหนี้ค้างชำระกับทางกองทุน ตั้งแต่ 5 งวดขึ้นไป ให้เข้าสู่ระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนถูกฟ้องคดีต่อศาล
นายวชิระ เศษแสงสี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้กู้ ซึ่งมีโอกาสได้เจรจาแนวทางแก้ไขหนี้ ขอผ่อนผันชำระหนี้ เป็นการลดปัญหาของนักเรียน ซึ่งเป็นลูกหนี้ เป็นการป้องกันการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่ต้องถูกฟ้องคดีต่อศาล
ในการดำเนินการเจราจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีในครั้งนี้จะมีการเจรจาแนวทางยุติข้อพิพาท เพื่อให้เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่าย และจะมีผู้ประนีประนอมประจำศาล และอาสาสมัครไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชุมชน ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
สำหรับศรีสะเกษ มีนักเรียนนักศึกษาที่จะฟ้องศาลคดีค้างชำระหนี้กองทุนในปี 2551 จำนวนประมาณ 3,800 ราย จากปี 2550 ที่ผ่านมา ถูกฟ้องเพราะเหตุไม่ชำระหนี้กองทุนกู้ยืมเรียนไปแล้วประมาณ 1,200 ราย ซึ่งปีนี้ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมาก แต่คาดว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยได้ประมาณ 800-1,000 ราย
ทางด้าน นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ในภาพรวมทั้งประเทศมีผู้ที่กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ที่ถูกดำเนินคดี และอยู่ในโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีทั้งสิ้นประมาณ 90,000 ราย มียอดเงินทั้งสิ้นประมาณ 300 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี
“ที่ผ่านมาได้มีการจัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดี มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้ลูกหนี้ ที่กู้ยืมเงินสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว ได้โดยไม่ต้องถูกฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อศาลในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีด้วย” นพ.ธาดา กล่าว