ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นักเรียน นักศึกษา และผู้รับมอบอำนาจร่วม 1,000 คน แห่เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนถูกฟ้อง ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจัดขึ้น เผย บุรีรัมย์ มีนักศึกษาค้างชำระหนี้กว่า 4,600 ราย ขณะผู้จัดการ กยศ.ระบุ มีนักศึกษาที่เรียนจบเบี้ยวไม่ชำระเงินคืนกองทุนทั่วประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท
วันนี้ (12 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้รับมอบอำนาจที่ค้างชำระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียงร่วม 1,000 ราย แห่เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนส่งฟ้องศาล ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จัดขึ้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง ตั้งแต่วันที่ 12-15 ก.พ.นี้
ทั้งนี้ หากนักศึกษาคนใดที่เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจะได้รับสิทธิพิเศษ ถ้าสามารถชำระหนี้ได้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค.2551 จะได้ลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 ส่วนผู้ที่ทำคำรับรองขอชำระหนี้ที่ค้างให้เสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.2551 จะได้ลดเบี้ยปรับ 65 หรือหากทำสัญญาประนีประนอมยอมความในวันนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จะได้ลดเบี้ยปรับร้อยละ 50
นายวิเทพ อริยสัจจากร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนาย และไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากกองทุน ซึ่งคาดว่าจะมีนิสิต นักศึกษาในเขตพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ที่ค้างชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่จะถูกฟ้องร้องกว่า 4,600 ราย มาเข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 หรือประมาณ 1,150 คน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังจะสามารถลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลให้ลดลงได้ในอีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นพ.ธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า ตั้งแต่กองทุนได้เปิดดำเนินการมาเมื่อปี 2539 มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา กู้ยืมเงินเพื่อนำไปเป็นทุนการศึกษากว่า 2,700,000 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุน 1,500,000 ราย แต่มีนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว เบี้ยวไม่ชำระเงินคืนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในปีที่ผ่านมากว่า 60,000 ราย เนื่องจากสาเหตุมีรายได้น้อยไม่พอชำระ เกิดความเข้าใจผิดว่าเงินกู้ยืมดังกล่าวเป็นเงินให้เปล่าไม่ต้องใช้คืน และเป็นกลุ่มที่ขาดการติดต่อกับกองทุนหลังจบการศึกษาโดยไม่ทราบเงื่อนไขที่แท้จริง
ทั้งนี้ ตั้งแต่กองทุนเปิดดำเนินการจนถึงขณะนี้รวม 12 ปี ได้ปล่อยเงินกู้ให้นักเรียน นักศึกษา ไปแล้วกว่า 300,000 ล้านบาท แต่นักศึกษาเบี้ยวไม่มาติดต่อขอชำระเงินคืนกองทุนประมาณ 30% คิดเป็นเงินกว่า 100,000 ล้านบาท
“ขอประกาศเตือนนักศึกษาที่ค้างชำระเงินกู้ หากยังเพิกเฉยไม่มาเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องศาล ที่ทางศาลจังหวัด ร่วมกับกองทุน จัดทำขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ ก็จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายทุกรายโดยไม่ละเว้น” นพ.ธาดา กล่าว