xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สูงอายุไทยไปทางไหน...

เผยแพร่:   โดย: เฉลิมพล พลมุข

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นปีละกว่า 6 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุทั้งประเทศมากกว่า 10 ล้านคน มีความเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังตามอายุขัยจำนวนมากขึ้น ขณะที่งบประมาณ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลมีจำนวนจำกัด รัฐบาลไม่สามารถแบกรับภาระการดูแลรวมทั้งระบบประกันสุขภาพได้ทั้งหมด

ผู้เขียนถึงแม้ว่าจะมีอายุไม่ถึงหกสิบปี แต่ก็รู้สึกได้ว่า บริบท ความหมายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุหรือคนแก่ในบ้านเราขณะนี้มีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่น่าจับตามองถึงสถานการณ์คนแก่ ผู้สูงอายุของอนาคตในมิติต่าง ๆ อาทิ คุณภาพชีวิต สัมพันธภาพของครอบครัว ตลอดถึงบทบาทของสถาบันศาสนา ภาครัฐที่มีต่อชีวิตไม้ใกล้ฝั่งจำนวนนับล้านคน...

มนุษย์ทุกคนเมื่อมีชีวิตขึ้นมาแล้ว ย่อมไม่พ้นกฎของสัจธรรม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติหรือธรรมดาสำหรับชีวิต การที่คนเราเกิดมาแล้วสามารถประคับประคองชีวิต ผ่านวัน เวลามาหลายฝน หลายหนาวได้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ชีวิตของผู้สูงอายุต้องผ่านทั้งสถานการณ์ที่วิกฤตและโอกาสต่าง ๆ ในชีวิตมาอย่างหลากหลาย หนาว ร้อน ดีใจ เสียใจ ทุกข์ สุข สมหวัง ผิดหวัง สารพัด-อย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หลาย ๆ ชีวิตเมื่อถึงบั้นปลายต้องพบกับความยากลำบาก มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้ญาติขาดมิตร ลูกหลาน ขาดการเอาใจใส่ดูแล ต้องตกเป็นข่าวตามสื่อเพื่อขอความช่วยเหลือใน “วงเวียนชีวิต”...

มีผู้สูงอายุหลายคนอาจจะโชคดีกับชะตาชีวิต มีลูกหลานล้อมรอบ สุขภาพกาย - จิต มีสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเอาใจใส่ดูแลจากลูกหลานเป็นอย่างดี จะมีจำนวนมากแค่ไหนในเมืองไทยนั้น ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดสำรวจทั้งจำนวนตัวเลขและคุณภาพอย่างจริงจัง...

ในความแก่ชราของสังขารร่างกาย นำมาซึ่งหลาย ๆ อย่างที่น่าจะพึงพิจารณาจากผู้คนรอบข้าง รวมถึงภาครัฐ องค์กรศาสนา องค์กรทางสังคม ควรมองปัญหานี้อย่างรอบด้านทั้งในปัจจุบันและอนาคตด้วยหรือไม่? ....

ผู้เขียนเห็นว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุหรือคนแก่ในบ้านเรา นับจากวันนี้เป็นต้นไปทั้งจำนวนตัวเลขที่เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิต ระบบประกันสุขภาพให้คนแก่ อาการเจ็บไข้ทุเลา รวมทั้งระบบการตายที่ดี จะเกิดขึ้นในเมืองไทย อันเป็นเมืองแห่งความเมตตาและเอื้ออาทรหรือไม่...

1. ครอบครัว : ในชีวิตของความเป็นจริงขณะนี้ ทุกๆ หนึ่งในสิบครอบครัวจะมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในบ้านอย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน คุณภาพชีวิตของคนแก่ ผู้สูงอายุนั้น ถ้าเป็นพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ของลูกหลานที่พอจะมีฐานะเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ ผู้เขียนเห็นว่า ครอบครัวไทยส่วนหนึ่งยังมีความกตัญญู กตเวทีต่อผู้ที่เคยเลี้ยงดูเรามาก่อน ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะตอบแทน เลี้ยงดู หรือเป็นแบบอย่าง มาตรฐานที่ดีอันจะส่งต่อไปยังลูก หลาน เหลนในอนาคตได้ต่อไป...

ยังมีบางมุมของชีวิตที่บุตร หลานมีฐานะ เศรษฐกิจดี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่สามารถจะเลี้ยงดูคนแก่ภายในบ้านได้ มีความพยายามที่จะหาสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นของภาครัฐหรือเอกชนเพื่อให้ช่วยแก้ไขในปัญหาดังกล่าว...

อีกมุมหนึ่ง ภาพหนึ่งในชนบทหรือบ้านนอก ยังมีชุมชนของคนแก่ ผู้สูงอายุที่อยู่ร่วมกับเด็กเล็ก ๆ ในภาพของความเป็นจริง คนวัยทำงานต้องเข้าไปทำงานในเมืองหลวงเพื่อประกอบอาชีพ หารายได้ บางครอบครัวกว่าจะได้กลับบ้านเพื่อไปเยี่ยมคนแก่และเด็กต้องรอวัน เวลา ที่ต้องหยุดทำงานยาว ๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรือในวาระอื่น ๆ หากใครได้มีโอกาสได้เดินทางไปในต่างจังหวัด หรือในชนบทหลาย ๆ แห่งพบว่า บรรยากาศหมู่บ้าน บ้านเงียบเหงา วิเวกวังเวง...

ผู้สูงอายุบางคน ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีลูกหลานคอยดูแล เข้าไม่ถึงระบบการบริการจากภาครัฐ ไม่สามารถขอเข้าพึ่งพิงอาศัยศาสนาได้ เขาเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไหน อย่างไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบชีวิต?...

2. สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ : เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้มีทั้งของรัฐบาลและเอกชนเกือบแทบจะทุกจังหวัดของเมืองไทย มีคำถามที่ว่า เพียงพอกับจำนวนผู้สูงอายุ ทั้งปริมาณและคุณภาพหรือไม่…

สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุที่เป็นของรัฐ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไปคือ บ้านพักคนชราบางแค บ้านธรรมปกรณ์ บ้านวาสนะเวศม์ หรือสถานสงเคราะห์คนชราประจำจังหวัด ในความเป็นจริงสถานที่เหล่านี้มีกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติในการรับเข้าอยู่ รวมทั้งคุณภาพชีวิต การเอาใจใส่ ดูแล ทั้งหลายทั้งปวงมีข้อจำกัดทั้งเรื่องของบุคลากร งบประมาณ ระบบการจัดการ...

ที่เป็นข่าวฮือฮามาเป็นระยะ ๆ คือ ลูกหลานที่มีความประสงค์จะนำคนแก่ ผู้สูงอายุเพื่อเข้าอาศัยอยู่ มีหลายสถานที่พบปัญหาคล้าย ๆ กันคือ สถานที่เต็ม แออัด ต้องมีการจองคิว ซึ่งมีจำนวนคนแก่เป็นจำนวนมากที่ต้องการเข้าพักอาศัย บางแห่งผู้สูงอายุตายไปนานเป็นปีแล้วก็ยังไม่ถึงคิวในการเรียกเข้าอยู่...

สภาพจิตใจของคนแก่ในสถานที่เหล่านั้น สะท้อนออกมาทางสื่อที่พบเห็นกันบ่อย ๆ คือ การจัดงานวันพ่อ วันแม่ ที่มีดารา นักร้องเข้าไปเยี่ยมเยียน สอบถามถึงความรู้สึก คนแก่หลาย ๆ คนพูดทั้งน้ำตาว่า อยากให้ลูกหลานไปเยี่ยม ให้กำลังใจ บ้างก็บ่นออกมาในลักษณะของน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา สิ่งใดที่สามารถเยียวยาสภาพจิตใจของคนแก่เหล่านี้ได้...

ขณะนี้บ้านเรามีสถานที่ดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบของธุรกิจเอกชน เข้ามาบริหารจัดการหลายแห่ง หลายสถานที่ แต่ละสถานที่ก็มีการบริหารในเชิงธุรกิจ มีต้นทุน กำไร ระบบการบริการที่พึงพอใจทั้งในรูปแบบของโรงพยาบาล บ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต หรือแม้กระทั่งจะทำเป็นหมู่บ้านผู้สูงอายุ...

หากมองถึงกลุ่มคนแก่หรือคนชราที่เข้าไปในสถานที่ดังกล่าว สิ่งหนึ่งที่จะปฏิเสธความเป็นจริงไปไม่ได้ก็คือ จำนวนเงินที่ต้องจ่ายไปกับค่าบริการ เริ่มตั้งแต่เข้าไปอยู่จนกระทั่งเสียชีวิต บางแห่งมีระบบการจัดการทรัพย์สิน มรดกของผู้สูงอายุเหล่านี้ไว้อย่างเป็นระบบอีกด้วย

มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในมิติใหม่ของสังคมไทยก็คือ ขณะนี้มีเงินทุน ระบบการบริหารจัดการจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสถานที่ดูแลคนแก่ชราในเมืองไทยอย่างเป็นระบบ บ้างก็รับผู้สูงอายุจากประเทศของตนเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่าในอนาคตบ้านเราจะมีผู้สูงอายุที่หลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อยู่กันอย่างดีมีสุขประเภทคนแก่คนชราอินเตอร์...

3. บทบาทของศาสนา : คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ พระสงฆ์ในเมืองไทยมีมากกว่าสองแสนรูป มีจำนวนวัดมากกว่า 30,000 วัด ขณะนี้บรรยากาศของวัดทั่วไป ในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ เงียบ วิเวก วังเวง บางวัดมีคนแก่ที่เข้าไปทำบุญไม่เกินสิบคนรวมทั้งพระสงฆ์ในวัดด้วย วัดมีศาสนบุคคล สถานที่ พิธีกรรมพร้อมสรรพ บางวัดสามารถระดมทรัพยากรได้เป็นจำนวนมากด้วยศักยภาพความสามารถของเจ้าอาวาส

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นในสังคมชาวพุทธคือ ทำอย่างไรที่สถาบันศาสนาจะเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยเหลือทรัพยากรอันมีคุณค่าของสังคม ให้ผู้สูงอายุ คนแก่ สามารถเข้าถึงสัจธรรมของชีวิตได้อย่างดี มีสุข เข้าสู่สุขคติอย่างงดงาม...

ผู้เขียนเห็นว่า ณ เวลานี้ ผู้นำของศาสนาต้องเข้ามาระดมสรรพกำลัง บุคลากร ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งเงิน คน ระบบการจัดการ เพื่อช่วยเหลือคุณภาพชีวิตคนแก่ไทย โดยความเร่งด่วนและจริงใจ มิฉะนั้น อนาคตวัดจะร้าง คนแก่จะโหยหิว วังเวงและอาจจะตายด้วยความทุกข์ทรมาน...

บางวัดที่เป็นวัดของชาวพุทธ มีจำนวนพื้นที่มากมาย กุฏิ ศาลา โบสถ์ เมรุเผาศพ ครบวงจร เหลือก็แต่พระภิกษุที่มีวิสัยทัศน์ด้านการบริหารจัดการ ภาพลักษณ์ต่าง ๆ ของพระไทยในทางไม่ดีที่ปรากฏทางสื่อเกือบทุกเดือน บทบาทของพระสงฆ์ที่มีตัวจริงที่ชัดเจน อาจจะช่วยกู้ศรัทธาที่มั่นคงจากประชาชนได้บ้าง...

สิ่งหนึ่งที่เป็นมรดกที่หาค่ามิได้ก็คือ หลักธรรมะในศาสนา ถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกเม็ดงามที่สามารถประคับประคอง ชโลมชีวิต จิตใจของคนได้ทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้สูงอายุ คนแก่ นับวันจะจำนวนเพิ่มขึ้นโดยลำดับ...

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ให้ข้อคิดสำหรับคนในวัยนี้ว่า ...

“เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา

เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือ ตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษหรือ ตายเพราะการเมืองเป็นพิษ…”

4. ภาครัฐ : รัฐบาลมีข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่อง เริ่มตั้งแต่นโยบายที่ครอบคลุม คลุมเครือ กว้างขวาง ชนิดที่ผู้ปฏิบัติต้องไปตีความ หาความหมายเพื่อที่จะทำงานให้ชัดเจน มีความจำกัดทั้งเรื่องงบประมาณ บุคลากร วิธีการบริหารจัดการทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การบริการแก่ผู้สูงอายุ คนแก่ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียม ในขณะเดียวกัน สังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 10.71 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 12.02 ในปี 2554 (มติชนรายวัน 16 มกราคม 2551, หน้า 20) เมื่อใดรัฐบาลไทยจะดูแลคุณภาพชีวิตของคนแก่ ชราภาพ อย่างดีมีสุข ไร้ทุกข์ มีชื่อเสียงกึกก้องไปยังนานาประเทศจนสามารถนำไปเป็นต้นแบบได้...

ความเป็นรัฐบาลบ้านเราขณะนี้ อยู่ในบรรยากาศสีเทา เข้าลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้ว่าพรรคใดจะไปรวมกับพรรคใด นโยบายประชานิยมที่หาเสียงเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งที่สวยหรู ให้ไว้กับประชาชนที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งแก่ตายยังอยู่ในความทรงจำของนักการเมืองหรือไม่...

กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่กระทรวงเกรดเอ แต่ขณะเดียวกันจำนวนคนแก่ต้องพึ่งพาองค์กรเหล่านี้เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพที่ดี จนกระทั่งตายดีอย่างมีความสุข

ในบางประเทศ รัฐบาลมีรัฐสวัสดิการของสังคมสำหรับผู้สูงอายุอย่างดีเยี่ยม ทั้งค่าตอบแทนรายเดือน บริการสุขภาพที่เข้าถึง เท่าเทียม การท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศ และอื่นๆ ผู้เขียนอยากจะเห็นสิ่งดีๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับเมืองไทยที่เป็นเมืองแห่งรอยยิ้มและความเอื้ออาทร

ผู้เขียนเห็นว่า คนคนหนึ่งเกิดมามีชีวิตที่ยาวนาน ย่อมสั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้ ประเภทที่ว่าแก่มะพร้าว แก่วิชา แก่ความรู้ มีเป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรสังคมจะได้ประโยชน์จากคนเหล่านี้ก่อนวันจะหมดลม อาจจะมีคนแก่บางคนประเภทแก่ตัณหากลับ อาจจะเป็นกรณียกเว้น คงจะมีจำนวนไม่มากนัก...

สิ่งหนึ่งที่อยากเห็นในเร็ววันนี้คือ ระบบการดูแลผู้สูงอายุทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ความสุขที่พึงจะได้รับในชีวิตที่แก่เฒ่าจนกระทั่งตายดี มีสุข สู่สุขคติ การดูแลผู้สูงอายุ หรือคนแก่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ซึ่งอาจจะไม่มีในตำราใด ๆ ในโลก...

กำลังโหลดความคิดเห็น