xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมคิดชวนคุย กับ ก.ล.ต.:ลงทุนต่างประเทศ...ก้าวใหม่ของผู้ลงทุนไทย (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลกของเราทุกวันนี้ แม้จะเป็นที่พิสูจน์กันอยู่แล้วว่ากลม แต่หากเป็นเรื่องของการค้าขายข้ามชาติ กลายเป็นว่าโลกใบนี้ดูเหมือนจะแบนราบมากขึ้นทุกวัน การติดต่อซื้อขายสินค้าทำได้ในเสี้ยววินาที ถ้าคุณอยากได้หนังสือจากอเมริกาสักเล่มซึ่งหาซื้อในประเทศไทยไม่ได้ แค่เข้าเว็บไซต์ หลังจากกดคลิ๊กสั่งซื้อไม่กี่วันก็ได้รับสินค้าแล้ว

ตลาดทุนในยุคโลกไร้พรมแดนก็มีการเปิดเสรีและเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้นเช่นกัน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุนทั้งหลายต่างต้องปรับเปลี่ยนตัวเองโดยเร่งเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มานำเสนอต่อผู้ลงทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นผู้ลงทุนเองก็ควรต้องเร่งสร้างความพร้อมในการรู้จักลงทุนในตราสารที่หลากหลายที่มีความเสี่ยงต่างๆ กันไป รวมทั้งการออกไปแสวงหาประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนจากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เพียงในประเทศเท่านั้นให้กระจายออกไปยังหลักทรัพย์ต่าง ๆ ในต่างประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมา เราต้องยอมรับว่าตลาดทุนไทยประสบกับภาวะความไม่แน่นอนในการลงทุนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจของประเทศหรือด้านการเมืองในประเทศ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ และค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด รวมถึงยังได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ ก.ล.ต. จึงได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มของตลาดทุนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศทั่ว ๆ ไป ได้แก่ การฝากเงินในธนาคาร การลงทุนในพันธบัตร หุ้นกู้ หรือว่าหุ้นแล้ว ยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากภาวะตลาดผันผวนอันเกิดจากเศรษฐกิจหรือการเมืองในประเทศอีกด้วย ตามหลักการที่ว่าไม่ควรใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวกันนั่นเอง

ในการอนุญาตให้ผู้ลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ก.ล.ต. ได้มีการกำหนดนโยบายและการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากผู้ลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กองทุนรวม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันสามารถไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรงได้แล้ว ภายใต้วงเงินที่ทางการกำหนด เนื่องจากทางการมองว่าผู้ลงทุนกลุ่มนี้เป็นมืออาชีพอยู่แล้วน่าจะเอาตัวรอดได้ อีกทั้งการเปิดให้ไปลงทุนในต่างประเทศจะเป็นโอกาสที่จะสร้างความรู้ความชำนาญในการลงทุนในต่างประเทศให้กับผู้ลงทุนสถาบันเหล่านี้ด้วย

สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ไม่ใช่สถาบัน การอนุญาตให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะแม้ว่าผู้ลงทุนอาจจะมีความคุ้นเคยกับการลงทุนภายในประเทศกันพอสมควร เนื่องจากข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบการลงทุนนั้นหาได้ไม่ยาก ไม่จะเป็นทางหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ ซึ่งต่างก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนให้รับรู้กันตลอดเวลา แต่สำหรับการลงทุนในต่างประเทศแล้ว ก็ถือเป็นหนังคนละม้วนเลยทีเดียว ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีความพร้อมในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตราสาร ความเสี่ยงของตราสาร ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งการเมืองของประเทศที่จะไปลงทุน เป็นต้น การแสวงหาความรู้ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ช่องทางการลงทุนในต่างประเทศที่สะดวกและง่ายที่สุดสำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ทางการเปิดให้ ณ ปัจจุบันนี้ คือการลงทุนในต่างประเทศโดยผ่านมืออาชีพซึ่งเรียกว่า "กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ" (FIF-Foreign Investment Fund) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมในประเทศไทยนั่นเอง เพียงแต่มีหลักเกณฑ์ให้กองทุนรวมประเภทนี้ต้องลงทุนในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดย บลจ. จะเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนในต่างประเทศตามที่เห็นสมควร ผู้ลงทุนเพียงแต่เลือกกองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายการลงทุนที่ตรงใจ แล้วผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้บริหารให้เอง

ในคราวหน้าจะได้มาพูดคุยเกี่ยวกับการลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทนี้ให้ทราบโดยละเอียด หากท่านผู้อ่านมีข้อสงสัยหรือข้อแนะนำ ติดต่อได้ที่ info@sec.or.th
กำลังโหลดความคิดเห็น