xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเผือกร้อน 4 กระทรวงเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเผือกร้อนรอวัดฝีมือรัฐมนตรีผู้กุมบังเหียนกระทรวงเศรษฐกิจ 4 กระทรวงหลักพาณิชย์ พลังงาน อุตสาหกรรมและคมนาคม “ราคาสินค้า-ค่าไฟ-ก๊าซหุงต้ม-น้ำมัน” จ่อคิวขยับราคาเพียบเลือกประชานิยมก็ต้องถมเงินตรึงอื้อ จับตา "มิ่งขวัญ" สกัด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตัดตอนข้อหานอมินีกุหลาบแก้ว-ชินคอร์ป ขณะที่รถไฟฟ้า สุวรรณภูมิ คิงเพาเวอร์ บิ๊กโปรเจกต์เครื่องบิน-ท่าเรือปากบารามหาศาลแบ่งเค้กไม่ดีมีข่าวฉาว

**ดูแลค่าครองชีพประชาชน

งานหนักชิ้นแรกที่รอให้รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์คนใหม่ (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ) เข้ามาสะสาง ก็คือ การดูแลค่าครองชีพของประชาชนที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เงินเฟ้อในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พุ่งสูงสุดในรอบ 18 เดือน เพราะในช่วงรอยต่อระหว่างการมีรัฐบาลชุด กระทรวงพาณิชย์ได้มีการอนุมัติให้สินค้าปรับขึ้นราคาไปแล้วหลายต่อหลายรายการ ทั้งน้ำมันพืช น้ำปลา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งสาลี ผลิตภัณฑ์นม และมีแนวโน้มที่สินค้าอีกหลายรายการจะปรับขึ้นราคาตามมาอีกในเร็วๆ นี้ จากผลกระทบของราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และวัตถุดิบตลาดโลกที่ยังคงพุ่งไม่หยุด

**แก้ปัญหาส่งออกติดหล่มซับไพรม์

ผลจากจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพในอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เว้นกระทั่งไทย เพราะตลาดสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดหลักส่งออกของไทยที่สำคัญ

เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหา ความต้องการบริโภคก็ลดน้อยลง การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศก็น้อยลงตามไปด้วย เป็นงานหนักอีกงานที่ รมว.พาณิชย์คนใหม่จะต้องเข้ามาหาทางแก้ไข จะทำอย่างไรที่จะรักษาตลาดและยังคงส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เอาไว้ได้ ขณะเดียวกัน จะหาทางเพิ่มยอดส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ได้อย่างไร เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ที่หดตัวลง ที่สำคัญเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 10-12.5% นั้น รมว.พาณิชย์คนใหม่จะเห็นอย่างไร จะสู้หรือจะถอย

**จับตา พ.ร.บ.ค้าปลีก/นอมินีชินคอร์ป

ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลขิงแก่ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ โดยกฎหมายสำคัญและเป็นที่จับตามองว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาสานต่อหรือไม่ คือ ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่มีการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถผลักดันให้มีผลบังคับใช้ได้ เพราะถูกอำนาจเงินยื้อ จนกฎหมายล่มไม่เป็นท่า

เป็นงานสำคัญที่ รมว.พาณิชย์คนใหม่ ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกข้างไหน เพราะมีกระแส 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือ ผู้ค้าปลีกดั้งเดิม (โชห่วย) ที่ต้องการให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด และอีกด้านหนึ่ง คือ ค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ที่ยังไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมาย การเลือกข้าง จึงถือเป็นงานท้าทายที่จะต้องตัดสินใจ จะยืนอยู่ข้างประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือยืนอยู่ข้างนายทุน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย แต่เสียงดัง

ส่วนกฎหมายอีกฉบับ ก็คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ต้องวัดใจ รมว.พาณิชย์คนใหม่ ว่าจะผลักดันต่อหรือไม่ เพราะการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ก็เพื่อเล่นงานพวกที่ใช้คนไทยเป็นร่างทรงให้กับคนต่างชาติ แต่หากมีการแก้ไข ก็จะกระทบกับนายใหญ่ นายเล็ก นายทุน ในพรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะข้อครหานอมีนีกุหลาบแก้ว-ชินคอร์ป ก็ต้องคอยติดตามดูกันไป

**เอฟทีเอไทย-สหรัฐ เดินหรือหยุด

ด้านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มีประเด็นที่หยุดชะงักมาจากรัฐบาลขิงแก่ คือ การเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ หยุดเจรจากับไทยชั่วคราว หลังจากที่เกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ทำให้เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ยุติการเจรจาแค่รอบ 6 เท่านั้น ในขณะที่ประเทศคู่แข่งของไทย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ได้รุดหน้าทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ เป็นที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ได้แต้มต่อเหนือไทยไปหลายขุม ขณะที่เวียดนามก็อยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯ เช่นกัน เป็นงานระดับนโยบายอีกชิ้นหนึ่งที่รอการตัดสินใจ

**ไทยเสี่ยงโดนขึ้นบัญชีพีเอฟซี

งานเร่งด่วนที่ รมว.พาณิชย์ คนใหม่ ต้องตัดสินใจโดยเร็ว คือการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่ไทยจะถูกสหรัฐฯ จับขึ้นบัญชีประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นร้ายแรง (พีเอฟซี) ภายใต้กฎหมายการค้าพิเศษสหรัฐ มาตรา 301 ที่จะประกาศผลช่วงปลายเดือนเม.ย.นี้ เนื่องจากไทยยังไม่มีความชัดเจนต่อการใช้นโยบายบังคับใช้สิทธิ์กับยาที่มีสิทธิบัตร ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ กังวลมากสุด และการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในไทย ที่สหรัฐฯ มองว่าไทยยังทำได้ไม่เต็มที่

หากสหรัฐเลื่อนไทยขึ้นบัญชีพีเอฟซีจริง ทำให้สามารถใช้มาตรการทางการค้าเข้ามาจัดการกับไทยได้ เช่น การไม่ทบทวนให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับไทย (จีเอสพี) กลายเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ที่ขณะนี้การส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) อยู่แล้ว เป็นงานท้าทายรอวัดกึ๋นรมว.พาณิชย์คนใหม่อีกงานหนึ่ง

**น้ำตาลเผือกร้อนรอ "สุวิทย์"แก้ไข

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังคงเป็นปัญหาหรือเผือกร้อนทุกยุคทุกสมัยและท้าทายรมว.คนใหม่อย่างนายสุวิทย์ คุณกิตติ ด้วยเหตุที่เป็นสินค้าทางการเมืองเพราะมีหัวหน้าโควตาซึ่งก็คือหัวหน้าคะแนนในพื้นที่นั่นเองมีหรือที่รมว.คนไหนจะมองข้าม ... รัฐบาลขิงแก่ได้วางกรอบว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขกรณีราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 2549/50 ต่ำกว่าขั้นต้น และการให้ค่าอ้อยปี 50/51เพิ่มด้วยการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์หรือธ.ก.ส.ทำให้ชาวไร่ได้รับค่าอ้อย 700 บาทต่อตันแต่กระนั้นดูชาวไร่เองก็ต้องการระดับ 800 บาทต่อตันเพื่อความคุ้มทุนแน่นอนว่ารัฐบาลใหม่ทุกแห่งก็จะประสบปัญหากับข้อเรียกร้องของชาวไร่ไม่รู้จบ ซึ่งรัฐบาลยุคแม้วก็แก้ด้วยการขึ้นราคาน้ำตาลมาแล้ว 3 บาทต่อกก. ดังนั้นรัฐบาลยุคนี้ก็ต้องเจออย่างแน่นอน.... แต่จะมาแบบเรียกร้องธรรมดาหรือว่าขนคนขึ้นรถมาประท้วงก็แล้วแต่กรณีขึ้นอยู่กับข้อเสนอที่ดีของรัฐบาลนอมินีแม้ว

**ค่าไฟตลอดปี 51 จ่อคิวขึ้น

กระทรวงพลังงานที่จะมี พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เข้ามาเป็นรมว.หญิงคนแรกคงต้องพิสูจน์ฝีมือไม่น้อยเพราะเผือกร้อนที่เกี่ยวข้องกับปากท้องชาวบ้านรอให้แก้ไขอื้อโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แค่งวดแรกซึ่งจะเคาะวันที่ 13 ก.พ.นี้ก็จ่อคอยหอยจะปรับขึ้นอีก 6-7 สตางค์ต่อหน่วยแล้วขณะที่ตลอดปีที่ผ่านมาของขิงแก่มีข้อเปรียบเทียบว่าไม่ได้ขึ้นเลยแถมลดต่อเนื่อง ..และหากมองตลอดปี 2551 ทิศทางค่าไฟก็มีโอกาศปรับขึ้นทุกงวดเพราะราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวตามราคาน้ำมันนั่นเอง

**น้ำมันรอพิสูจน์กึ๋น

“ราคาน้ำมัน” ยุครัฐบาลขิงแก่ถูกก่นด่าจากผู้ขับขี่ไปไม่น้อยว่าปล่อยให้ขึ้นซะอ่วมไม่โอบอุ้มเหมือนยุคแม้วที่ถมเงินใส่ไปถึงเกือบแสนล้านบาท (รวมดอกเบี้ยก็คงพอดี) แต่หากมองกลับอีกมุมรัฐบาลยุคนี้คงต้องขอบคุณปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ที่อุตส่าห์โดนด่าจนทำให้หนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านี้หายไปจนหมดแถมได้เงินตุนสะสมไว้แล้วหลายพันล้านบาทแล้ว แค่มานั่งก็มีเงินรอให้ใช้ว่างั้น....ดังนั้นหากน้ำมันแพงงานนี้ก็ต้องวัดกึ่นรมว.พลังงานคนใหม่ว่าจะเดินตามก้นยุคแม้ว ...หรือว่าทนเสียงด่าแบบปิยสวัสดิ์ .... หรือว่าจะมีวิธีอื่นที่ดีไปกว่านี้...พิสูจน์ฝีมือกันเอง

**ก๊าซหุงต้มรอคิวชี้ชะตา

“ก๊าซหุงต้ม” พลังงานในภาคครัวเรือนและขนส่งที่แห่ใช้กันผิดประเภทเป็นอีกผลงานที่ยุคขิงแก่ภายใต้การดูแลของปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ปรับโครงสร้างใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีการเมืองหน้าไหนกล้าแตะมาก่อนด้วยการประกาศทะยอยอิงราคาโลกตั้งแต่ 5,10,20,30 ไปจนถึง40% ภายในไตรมาส 2 ปี 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงซึ่งปิยสวัสดิ์ยึดเศรษฐศาสตร์เป็นหลักที่ต้องใช้ถูกประเภทและให้เกิดมูลค่าสูงสุดเหตุราคาโลกสูงกว่าไทยหลายเท่าตัวและชี้ว่าหากยังใช้กันแบบปัจจุบันไม่เกิน 2 ปีจะขาดแคลนจนต้องนำเข้า การทยอยอิงตลาดโลกทำให้เกิดการปรับราคามาแล้ว 2 ครั้ง รวม 4.20 บาทต่อถัง15กิโลกรัมและครั้งต่อไปก็รอคิวรมว.พลังงานคนใหม่มาเคาะ ..... งานนี้ก็ต้องจับตาว่าแผนทยอยอิงตลาดโลกจะกลายเป็นมวยล้มหรือไม่ เพื่อให้เข้ากับนโยบายประชานิยม

**โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เอาไง

งานใหญ่เกี่ยวข้องกับอนาคตไฟฟ้าของชาติที่รอรมว.พลังงานคนใหม่สานต่อและเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญคงหนีไม่พ้นการผลักดันหรือตัดสินใจการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ขิงแก่วางรากฐานไว้เพียบรอเพียงแค่มาสานต่อทุกอย่างก็จะเดินไปตามแผนแล้วจะไปตัดสินใจอีกทีก็อีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย....หากรมว.พลังงานคนใหม่มาแล้วทุบเปรี้ยงไม่เอาเพราะไม่ต้องการเผชิญหน้ากับม็อบก็มีสิทธิ์กระทำได้.....แต่จะต้องหาโจทย์ที่ดีกว่ามาตอบคำถามสังคมโดยเฉพาะนักลงทุนให้ได้เนื่องจากวันนี้เวียดนามเขาปักธงนำไทยแล้ว

**ยุติข้อพิพาทฉาว ทอท.-คิงเพาเวอร์

งานสำคัญที่รอนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนใหม่ที่มีชื่อ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายทุนใหญ่ของพรรคฯ คือปัญหาของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ที่ยุครัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ส่งพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการ ทอท.ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พลตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร และมีคดีความฟ้องร้องกับ บริษัท คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เรื่องโมฆะสัญญา ที่ล่าสุด ศาลมีคำสั่งคุ้มครองให้คิงเพาเวอร์สามารถประกอบธุรกิจในระหว่างที่การพิจารณายังไม่สิ้นสุด ประกอบกับจุดยืนของพลอากาศโท ชนะ อยู่สถาพร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.ที่ต้องการเจรจากับคิงเพาเวอร์มากกว่าเป็นคดีความต่อกัน เพราะคดีความทำให้รายได้มีปัญหา

ในขณะที่พลเอกสพรั่ง ยืนยันว่าเมื่อมีรัฐมนตรีคนใหม่ตามมารยาท จะต้องลาออก ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากรณีที่ทอท.มีคดีความกับคิงเพาเวอร์ตามนโยบายของบอร์ดชุดพลเอกสพรั่ง คงต้องเปลี่ยนไปบทสรุปก็คงไม่มีอะไรเกิดขึ้นจากข้อพิพาทนี้ 1 ปี ที่ผ่านมาจึงอาจจะกลายเป็นแค่ช่วงเวลาของการแฉข้อมูลที่ถูกปิดบังอยู่ออกสู่สาธารณชนเท่านั้น ภาระของรมว.คมนาคมคนใหม่รวมไปถึงบอร์ดทอท.ชุดใหม่ ก็น่าจะเป็นการเก็บกวาดและทำลายหลักฐานที่ถูกเปิดโปงกลับเข้าที่เดิม

**จับตาดอนเมือง-ขยายสุวรรณภูมิ

ส่วนการใช้สนามบินดอนเมืองเพิ่มเติมสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศนั้นเป็นอีกเรื่องที่รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ หลังจากได้มีการเปิดให้เที่ยวบินภายในประเทศกลับมาใช้แต่เรื่องนี้จะเกี่ยวพันไปถึงการลงทุนขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 เพื่อลดความแออัด ซึ่งต้องวัดใจว่า พลังประชาชนซึ่งเป็นขั้วอำนาจเดิมของไทยรักไทย จะเน้นการประหยัดงบประมาณชลอการลงทุนหันมาใช้ดอนเมืองที่มีความพร้อมอยู่แล้วให้มากที่สุด หรือจะเน้น การลงทุนที่จะมีการประมูลงานก่อสร้างกันอีกหลายหมื่นล้านบาท

**รอ “สมัคร” ดันรถไฟ-รถไฟฟ้าวิ่งฉิว

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ประกาศชัดเจน ว่าจะผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้า จึงน่าเป็นโครงการที่มีผลงานที่โดดเด่นมากที่สุดในรัฐบาลนี้ ซึ่งขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รถไฟทางคู่ สาย (ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง)) ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือมีแผน อีก 800-900 กม.นั้นก็น่าจะได้รับการเร่งรัด เพราะถือเป็นหัวใจในการขนส่งสินค้าส่วนรถไฟฟ้า 5 สาย คาดว่าจะได้รับการสานต่อเป็นอย่างดีในแง่ของหลักการเพราะพลังประชาชนหาเสียงไว้

ซึ่งขณะนี้ โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ได้เปิดประมูลแล้วแต่ขั้นตอนยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น แม้ว่าทุกคนจะความสำคัญของรถไฟฟ้า แต่เรื่องนโยบายยังเสี่ยงที่อาจจะต้องชะงักเพื่อรอนโยบายของรมว.คมนาคมคนใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนรัฐบาล ที่มักไม่ยอมสานต่อความคิดของรัฐบาลเดิมกันเพื่อถือว่าไม่ได้เป็นผลงานของตัวเอง

แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ไม่รู้สึกเป็นห่วงโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟสายสีแดง เพราะ หลักการโครงการมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าแนวทางที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน คืออะไร แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกของการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรี ที่สำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ ผู้นำองค์กรจะต้องนำเสนอข้อมูลต่อรัฐมนตรีด้วย ว่าสิ่งใดคือสิ่งที่ดีถูกต้องและเหมาะสม ส่วนนโยบายจะเอาหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.ต้องเร่งเสนอแผนปรับโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของการรถไฟ รวมถึงการตัดสินใจเรื่องที่ดินเซ็นทรัลด้วย

**ซื้อเครื่องบิน 4 แสนล.-ท่าเรือปากบารา

สำหรับการขนส่งทางน้ำนั้นมีหลายโครงการที่รอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา มูลค่าลงทุนประมาณ 34,939.117 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางน้ำลดต้นทุนการขนส่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ส่วนทางอากาศ นั้นแผนวิสาหกิจของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระยะ 10 ปี (2551-2560) ซึ่งจะมีการจัดหาเครื่องบินมูลค่ากว่า 4 แสนล้านยังไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี.
กำลังโหลดความคิดเห็น