xs
xsm
sm
md
lg

ผลสอบคิงเพาเวอร์เชิงพาณิชย์ ผิดซ้ำพบเอื้อประโยชน์6 กลุ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-เปิดผลสอบสัญญาคิงเพาเวอร์ในส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ชุด"ประทิน" แฉกระบวนการเอื้อเอกชนทำสัญญารวบรัด พบ 6 กลุ่ม เกี่ยวข้อง ชี้บอร์ดทอท.ยุค"ศรีสุข"และกก.รายได้ปล่อยคิงเพาเวอร์ใช้ที่เกิน และสัญญาไม่ผ่านอัยการทำให้ทอท.เสียประโยชน์

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสัญญาบริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัดในโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีพลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ เป็นประธาน ได้มีการรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง สรุปเป็นรายงานผลสอบสวนเสนอต่อคณะกรรมการ ทอท. ที่มีพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและได้นำเข้าหารือในที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2551 ที่ผ่านมาสรุปว่า มีกระบวนการในการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนพบความผิดปกติในสัญญา ซึ่งมี 6กลุ่มที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ และสัญญาฉบับนี้ไม่ผ่านการตรวจร่างจากสำนักงานอัยการสูงสุดอีกด้วยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปว่าการอนุมัติสัญญาให้กับริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนให้บริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ (KPS) เข้ามารับผิดชอบในการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการทอท.ชุดที่มีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2548 ถือว่าการอนุมัติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นโมฆะ เพราะโครงการนี้ลงทุนเกินกว่าหนึ่งพันล้านบาท แต่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐพ.ศ.2535 จึงอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ตามพระราชบัญญัติวิธีการปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ในรายงานผลการสอบสวนระบุว่าสัญญาให้สิทธิคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ (KPS)นั้นได้มีการตรวจสอบว่าข้อเสนอมูลค่าการลงทุนเพียง 940ล้านบาทนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบในภายหลังแต่ปรากฏว่ามีมูลค่าการลงทุนภาครัฐและเอกชน รวม 3,342.529 ล้านบาท ถือว่าเกินกว่าหนึ่งพันล้านบาทจะต้องดำเนินตามพรบ.ร่วมทุนฯ แต่สัญญานี้ได้ให้สิทธิกับ KPS โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พรบ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ 2502พรบ.ว่าด้วยความผิดที่เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ2542 และ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2542

โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบในการอนุมัติสัญญาดังกล่าวประกอบด้วย 6 กลุ่ม คือ 1. คณะกรรมการ ทอท.ในขณะนั้นที่เป็นผู้อนุมัติให้ KPS ได้สิทธิโดยไม่ปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุน ฯและมีการอนุมัติให้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา/ซึ่งเป็นการจ้างงานซ้ำซ้อนกับการจ้างที่ปรึกษาบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด หรือ บทม.เดิมได้เคยว่าจ้างไว้แล้ว ทำให้ทอท.เสียประโยชน์

2.คณะกรรมอนุกรรมการบริหารและพัฒนากิจการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลโครงการ แต่ได้มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยการอนุมัติให้ KPS ใช้พื้นที่ภายนอกอาคารผู้โดยสารเพื่อก่อสร้างอาคาร City Garden ทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหายและพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่นอกเหนือจากข้อกำหนดในทีโออาร์ อีกทั้งไม่อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิอีกด้วย

3.คณะกรรมการพิจารณารายได้ของทอท.ในขณะนั้นได้ร่วมกันละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการใช้พื้นที่เกิน และหลังจากที่ KPS เข้ามาทำสัญญาแล้วพบว่ามีการปล่อยปะละเลยโดยมี่มีการเรียกเก็บเงินในส่วนที่ใช้พื้นที่เกินถือว่ารู้เห็นเป็นใจให้เอกชนแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย 4.คณะกรรมการรับซองและคณะกรรมการคัดเลือก โดยคณะกรรมการรับซองเสนอราคามีการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่เพราะจากการตรวจสอบพบว่าไม่มีผู้ใดทราบว่าเอกสารการเสนอราคาซึ่งเป็นเอกสารสำคัญถูกนำไปเก็บที่ใดและยังมีการแก้ไขข้อความในเอกสารเสนอราคาของเอกชนที่นอกเหนือจากรูปแบบที่กำหนดทำให้ ทอท.เสียประโยชน์

ในขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกรู้ว่าเอกชนเสนอราคาผิดเงื่อนไขทั้งข้อเสนอด้านเทคนิคคือมีการเสนอราคาบนพื้นที่รวม 25,687 ตารางเมตรมากกว่าที่กำหนดในทีโออาร์คือพื้นที่ 20,000 ตารางเมตรทำให้เกิดการได้ เปรียบกับผู้เสนอราคารายอื่นรวมทั้งข้อเสนอราคาก็มีการกำหนดเงื่อนไว้ด้วย ในขณะที่มีเอกชนรายอื่นเสนอภายในกรอบของทีโออาร์จึงเข้าข่ายจงใจเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย

5.บริษัทคิงเพาเวอร์และกรรมการบริหารของบริษัทฯได้ร่วมกระทำผิดกับคณะกรรมการคัดเลือกเนื่องจากทราบดีว่าโครงการลงทุนเกินหนึ่งพันล้านบาทเพราะเอกชนได้รับโอกาสในการเป็นผู้ให้ข้อมูลการจัดพื้นที่วงเงินลงทุน และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ทอท.ว่าจ้างได้ใช้ข้อมูลของเอกชนในการวิเคราะห์โครงการซึ่งระบุว่าการลงทุนของเอกชนเพียง 440 ล้านบาท

6.กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาซึ่งประกอบด้วยบริษัทซี แอนด์ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล เวนเจอร์ จำกัด ร่วมกับบริษัทไรม์คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทวู้ดส์เบก็อท (ไทยแลนด์) จำกัด โดยบริษัทซี แอน์ ซี ฯเป็นที่ปรึกษาหลักมีนายสิงหเทพ เทพกาญจนาเป็นหัวหน้าที่ปรึกษามีการทำหน้าที่นอกเหนือจากที่ได้รับมอบหมายซึ่งตามสัญญาไม่ได้กำหนดให้มีประเมินมูลค่าการลงทุน แต่ที่ปรึกษาได้ประเมินมูลค่าการลงทุนและเสนอว่าโครงการนี้ไม่ต้องดำเนินการตามพรบ.ร่วมทุน และมีความพยายามคำนวณมูลค่าการลงทุนไม่ให้ถึงหนึ่งพันล้านบาทอีกทั้งยังพบว่าการจ้างที่ปรึกษารายนี้ใช้วิธีตกลงโดยไม่มีการคัดเลือกแข่งขันแสดงให้เห็นว่ามีการใช้กลุ่มที่ปรึกษาเป็นเครื่องมือในการเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จ

คณะกรรมการตรวจสอบฯได้ทำการตรวจพบว่าคุณสมบัติของบริษัทซีแอนด์ซี ฯไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในร่างทีโออาร์ คือไม่มีผลงานของตนเองแต่มีการแสดงผลงานที่เป็นของสถาบันทรัพย์สินทางปัญหาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งถือเป็นคนละนิติบุคคลด้วยนอกจากนี้ ในขั้นตอนการเปิดซองข้อเสนอราคายังพบว่ามีการกระทำที่มิชอบเพราะมีการพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมว่ายินดีชำระค่าตอบแทนให้แก่ทอท.เพิ่มเติม นอกเหนือจากจำนวนเงินที่เสนอไว้1,431ล้านบาทเป็นเงินเท่ากับ 2,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าบริษัทคิงเพาเวอร์ฯจะจ่ายค่าตอบแทนให้กับทอท.ในปีแรก เป็นเงินขั้นต่ำ 3,431 ล้านบาท แต่ในการทำสัญญา คณะกรรมการคัดเลือกและคณะกรรมการทอท.ได้ตีความสอดรับกันว่าเงิน 2,000บาทไม่ใช่เงินเพิ่มเติม แต่เป็นการจ่ายล่วงส่วนที่เกินจะหักในปีต่อไปและยังได้แก้ไขเอกสารเสนอราคาตัดคำว่าเงินเพิ่มเติมออกให้เหลือเพียงคำว่าเงินล่วงหน้าจึงถือว่ามีการกระทำผิดและเป็นการสมยอมกับเอกชน

ในรายงาน สรุปว่า ที่ประชุมคณะกรรมการทอท.เมื่อวันที่ 15 มี.ค.2548 ที่มีมติให้บริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชัน แนล (KPI) เป็นผู้ได้รับอนุญาติในการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์แต่มีการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาให้บริษัทคิงเพาเวอร์สุวรรณภูมิ (KPS) เป็นผู้ทำสัญญากับ ทอท.โดยไม่มีการอนุมัติจากทอท.ถือเป็นการจงใจเอื้อประโยชน์แก่เอกชนอย่างเปิดเผยเพราะผู้ได้สัญญา ไม่ใช่ผู้เสนอรารา โดย KPSมีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า KPI หลายเท่าแม้จะเป็นบริษัทในเครือแต่สถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทแม่

สัญญาไม่ผ่านอัยการ

นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติในสัญญาและสาระของสัญญาเช่น สัญญาฉบับนี้ไม่ผ่านการตรวจสอบจากอัยการ เนื้อหาถูกแปลงและละทิ้งสาระสำคัญ ภายหลังลงนามในสัญญาพบว่ามีเอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์เช่นการใช้พื้นที่เกิน ยอมให้มีการเช่าช่วงยอมให้เก็บผลประโยชน์ 25 % สูงกว่าที่กำหนดในทีโออาร์คือ20% และไม่มีการเชื่อมต่อระบบบัญชีของเอกชนเข้ากับระบบAIMS ของ ทอท. ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบยอดรายได้ที่แท้จริง ซึ่งจะมีผลต่อการแบ่งรายได้ให้กับ ทอท.อีกด้วย มีการเก็บค่าสาธารณูปโภคสูงกว่าที่กำหนดรวมทั้งยังปล่อยให้มีการร้านค้าพาณิชย์ปะปนในพื้นที่ร้านค้าปลอดอากรและมีการใช้พื้นที่ขัดกับพรบ.อาคารและความปลอดภัยอีกด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ยังได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ว่านายกรัฐมนตรี(พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ในฐานะประธานกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงคมนาคม ที่เป็นกรรมการกทภ.ในขณะนั้นน่าจะรับรู้รับทราบการกระทำที่ผิดกฎหมายในกรณีนี้ด้วยจึงถือว่ามีการกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมายว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

โดยเห็นว่าการอนุมัติสัญญาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เป็นไปในทำนองเดียวกับการอนุมัติสัญญาร้านค้าปลอดภาษีให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี จำกัด ซึ่งผู้บริหารเป็นกลุ่มเดียวกันและมีการอนุมัติสัญญาอย่างรวบรัดข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินมูลค่าการลงทุนไม่ตรงกับความจริงมีความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนและผู้ที่มีหน้าที่จัดทำข้อมูลและทำหน้าที่พิจารณาถูกจำกัดด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คนและเป็นผู้ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้และไม่ดำเนินการตาม พรบ.ร่วมทุนฯซึ่งมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนเพียงรายเดียว

ซึ่งในรายงานผลการตรวจสอบ ระบุว่าการแต่งตั้งให้นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจ สอบ ของทอท.เข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกสัญญาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นขัดกับข้อกำหนดของทอท. ซึ่งมีข้อห้าม และมีข้อสังเกตว่าคณะกรรมการคัดเลือกใช้เวลาในการคัดเลือกและทำสัญญากับเอกชนใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ ถือว่าเป็นระยะเวลาสั้นผิดปรกติสำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญรวมทั้งได้มีมติ ครม.วันที่ 3 ต.ค.2538 กำหนดว่าการดำเนินโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนมากที่ให้สัมปทานกับเอกชนจะต้องให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดตรวจพิจารณาสัญญาอย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งหาดำเนินตามขั้นตอนต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 14 เดือน

รวมทั้งยังพบพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายนี้คือร่างทีอาร์ที่เสนอต่อที่ประชุม ทอท.เมื่อวันที่ 4ก.พ.2548 เป็นข้อมูลจากตัวแทนของบริษัทคิงเพาเวอร์ฯที่ได้นำเสนอแนวคิดต่างๆไว้เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2547โดยเฉพาะการกำหนดซองเทคนิคที่เป็นสาระสำคัญและให้คะแนนส่วนนี้มากที่สุดและบริษัทคิงเพาเวอร์เป็นผู้ได้คะแนนสูงสุดโดยใช้เวลาเตรียมงานเพียง 6 วัน ก่อนยื่น (19 ก.พ.-25ก.พ.2548)ในขณะที่เอกชนรายอื่นไม่มีส่วนในการเสนอแนวคิดในทีโออาร์จึงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบและมีเวลาน้อยกว่า ทำให้ ทอท.ได้รับความเสียหายเพราะไม่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กรรมการและโฆษก คณะกรรมการทอท.กล่าวภายหลังการประชุมว่า ให้ทอท.ทำหนังแจ้งแจ้งให้เอกชนทราบว่าสัญญาเป็นโมฆะและให้ดำเนินการส่งเรื่องให้ ปปช.พร้อมกับหารือกับทางสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องขับไล่ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น