xs
xsm
sm
md
lg

เคจีไอฯเล็งดึงกองทุนเกาหลีลงทุนTDEX

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล.เคจีไอ เล็งเจรจาดึงกองทุนอันดับหนึ่งของเกาหลี "บลจ.ซัมซุงฯ" ลงทุนไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ พร้อมปรับเป้าเพิ่มเอยูเอ็มปีนี้เป็น 10,000 ล้านบาท หลังจากใช้ระยะเวลาแค่ 4 เดือน มูลค่ากองทุนโตทะลุ 3 พันล้านบาท ขณะเดียวกันเตรียมจับมือบลจ.วรรณ รับบริหารอีทีเอฟหุ้นกลุ่มพลังงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้าน "ผู้บริหาร" ตั้งเป้ามูลค่าธุรกรรมเอสบีแอลปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท

นางสาวนฤมล อาจอำนวยวิภาส ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI เปิดเผยถึง แผนการดำเนินงานปี 2551 นี้ ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้บริษัทจะเดินทางไปพบกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซัมซุง อินเวสเม้นท์ทรัสต์ ประเทศเกาหลี เพื่อเจรจาให้ทางซัมซุงฯเข้ามาลงทุนในกองทุนเปิดไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ ของไทย ( TDEX) เพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันได้มีการลงทุนบ้างแล้ว

สำหรับ บลจ. ซัมซุง อินเวสเม้นท์ทรัสต์ เป็นกองทุนอันดับ 1 ในประเทศเกาหลี มีมูลค่าการลงทุนรวม 3 ล้านล้านบาท โดยมีการลงทุนในกองทุนอิควิตี้ อีทีเอฟ (Exchange Traded Funds) จำนวน 9 กองทุน มูลค่ารวม 70,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับเป้ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (เอยูเอ็ม) กองทุน ไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ ปี 2551 เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 8,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2550 มีเอยูเอ็มอยู่ที่ 2,396 ล้านบาท เนื่องจากการเมืองมีความชัดเจนจะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้น หากบลจ.ซัมซุงฯ สนใจเข้ามาลงทุนในสัดส่วนถึง 1% ของเอยูเอ็มทั้งหมดจะถือว่ามีมูลค่าที่สูงมาก

" ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนรายใหญ่ของแต่ละโบรกเกอร์ได้มีการติดต่อที่จะเข้าลงทุน ขณะที่บริษัทเองจะมีการเสนอขายแก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยในปีนี้บริษัทมีแผนจะเดินทางไปโรดโชว์ที่เกาหลี ไต้หวัน จีน รวมถึง กำลังศึกษาจะไปโรดโชว์ที่อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม จากเดือนธันวาคมได้มีการไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์และฮ่องกงแล้ว"

สำหรับในวันที่ 31 มกราคม 2551 เอยูเอ็ม ของ TDEX เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านบาทเป็นวันแรก มีจำหน่วยลงทุน 530 ล้านหน่วย ซึ่งถือว่าเติบโตรวดเร็วมาก เพราะใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้นจากมูลค่าเริ่มต้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก (6 ก.ย. 50) มีมูลค่าแค่ 1,011 ล้านบาท แบ่งเป็น 177.99 หน่วย แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกันสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

"ที่ผ่านมา บริษัทได้ติดต่อไปยังกองทุนต่างประเทศ เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ประเด็นแรกที่กองทุนต่างประเทศถาม คือ มาตรการกันเงินสำรองที่ยังไม่มีการยกเลิก ทำให้กองทุนต่างๆ ไม่ให้บริษัทเข้าพบ หากมีการยกเลิกหรือผ่อนเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี เพราะในอเมริกานั้น มีปัญหาทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคและประเทศไทย"

ส่วนความคืบหน้ากรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะจัดตั้งกองทุนอีทีเอฟหุ้นกลุ่มพลังงาน มูลค่าเริ่มต้นไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และตลาดหลักทรัพย์ฯ จะร่วมลงทุน 30 ล้านบาทนั้น นางสาวนฤมล กล่าวว่า บล.เคจีไอจะร่วมกับบลจ.วรรณ ยื่นข้อเสนอในการเข้าไปจัดตั้งและบริหารกองทุนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอภายในเดือนนี้ ก่อนจะที่สรุปผลการคัดเลือกบลจ.ได้ในเดือนมีนาคม และออกกองทุนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ขณะเดียวกันบริษัทยังสนใจที่จะเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนอีทีเอฟอิงดัชนีใหม่ "ฟุตซี่"ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นกัน

"การบริหารกองทุนอีทีเอฟพลังงานค่อนข้างยากมาก เพราะหุ้นในกลุ่มพลังงานมีทั้งหมดแค่ 23 ตัว แต่ 9 ตัวแรกมีมาร์เกตแคปคิดเป็น 97% และอีก 14 ตัวนั้นไม่ค่อยเคลื่อนไหว ทำให้ยากต่อการเข้าไปซื้อขายเพื่อที่จะนำมาออกเป็นอีทีเอฟ ขณะที่ TDEX จะมีทั้งฟิวเจอร์ และออปชั่น SET50 ทำให้สะดวกในการซื้อขาย" นางสาวนฤมล กล่าว

สำหรับธุรกิจด้านการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (เอสบีแอล) บริษัทจะมีการขยายฐานลูกค้าสถาบันต่างประเทศมากขึ้น จากที่นักลงทุนต่างประเทศสนใจที่จะยืมหุ้นไทยจำนวนมาก นำไปขายชอร์ตเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการลงทุน โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการทำธุรกรรมเอสบีเอสเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2550 ที่มีจำนวน 8,000 ล้านบาท

ส่วนธุรกรรมด้านอนุพันธ์นอกตลาด (โอทีซี) บริษัทคาดมูลค่าธุรกรรมดังกล่าวปีนี้จำนวน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกรรมที่ทำผ่านบล.เคจีไอ 60% และผ่านพันธมิตรอีก 40% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2550 ที่มีจำนวน 3,800 ล้านบาท โดยเป็นธุรกรรมที่ทำผ่านบล.เคจีไอ 70% และผ่านพันธมิตร 30% โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของบริษัทจะเป็นลูกค้าสถาบัน

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนที่จะออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (ดีวอร์แรนต์) ในไตรมาส3/2551 โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 400-500 ล้านบาท ซึ่งในเดือนมีนาคมนี้บริษัทจะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญในการออกดีวอร์แรนท์จากไต้หวัน ,ฮ่องกง และเกาหลี มาให้ความรู้กับลูกค้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัทกำลังศึกษาที่จะออกใบรับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (ทีซีอาร์) เพื่อให้นักทุนไทยสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยผ่านบริษัทหลักทรัพย์ของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น