xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

วิกฤตเคนยา

เผยแพร่:   โดย: นพ.ยงยุทธ มัยลาภ

ประเทศเคนยาในแอฟริกาตะวันออก กำลังเผชิญกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภา ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2007 เคนยานั้นนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในแอฟริกาตะวันออก ทั้งที่มีพรมแดนติดกับประเทศที่ยากจนและมีปัญหาความมั่นคง เช่น โซมาเลีย ซูดาน และเอธิโอเปีย ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว เคนยามีสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก นอกจากนี้ เคนยายังมีชื่อเสียงเรื่องการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านความงดงามของป่าเขาและชายฝั่ง รวมไปถึงป่าซาฟารีที่น่าระทึกใจสำหรับผู้มาเยือน โดยเฉพาะชาวตะวันตก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าสู่ประเทศ มากกว่ารายได้จากการเกษตรหรือจากการผลิตชา อย่างไรก็ตาม ภาพแห่งความรุนแรงได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกดีๆ และความเชื่อมั่นในความปลอดภัยที่นักท่องเที่ยวมีต่อเคนยา

ความขัดแย้งในเรื่องของผลการเลือกตั้ง ได้นำไปสู่การเข่นฆ่ากันระหว่างสองชนเผ่าสำคัญ คือชนเผ่า คิคูยูในเคนยาภาคกลาง ที่สนับสนุนประธานาธิบดีมไว คิบาคิ และชุมชนชาวลัวในภาคตะวันตกของเคนยารวมทั้งชุมชนสลัมในเมืองหลวงไนโรบี ที่สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน ODM นายไรลา โอดินก้า เชื้อชาติและชนเผ่าในเคนยาที่มีอยู่หลายกลุ่มชน เป็นทั้งจุดแข็งของเคนยาที่สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีเชื้อของความขัดแย้งซ่อนเร้นอยู่ โดยเฉพาะในกรณีของสองชนเผ่าดังกล่าว ที่มีความตึงเครียดระหว่างกันมานาน

ประธานาธิบดีมไว คิบาคิได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 2002 ด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น พลิกประวัติศาสตร์การเมืองเคนยาที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคานูมานานถึง 40 ปี ผ่านผู้นำสูงสุดทางการเมืองมาแล้วสองคน ในการเลือกตั้งครั้งนั้น นักธุรกิจคนสำคัญของประเทศและผู้คร่ำหวอดทางการเมือง นายไรลา โอดินก้า บุตรชายของนายจาราโมกิ โอกินกา โอดินก้า อดีตรองประธานาธิบดีเคนยาในยุคหลังการได้รับเอกราช มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้นายคิบาคิ ผู้สมัครจากฝ่ายค้าน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี

แต่หลังการเลือกตั้งครั้งนั้น ว่ากันว่า ประธานาธิบดีคิบาคิไม่ยอมทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้แก่นายโอดินก้า ในการแบ่งปันอำนาจการบริหารบ้านเมือง ทำให้นายโอดินก้าไม่พอใจและหันไปยืนคนละขั้วกับประธานาธิบดี แม้ว่าตัวของนายโอดินก้าจะยังคงมีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลต่อไป แต่ก็ดำเนินการรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญในปี 2005 ที่ประธานาธิบดีคิบาคิเสนอให้มีการลงประชามติ ซึ่งประธานาธิบดีคิบาคิถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้คือการปฏิรูปครั้งสำคัญของรัฐบาล และต้องการผลักดันอย่างเต็มที่ให้ได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในตอนนั้นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีมากเกินไป การรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญโดยนายโอดินก้าส่งผลลบอย่างที่เขาต้องการ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไป ประธานาธิบดีคิบาคิจึงตัดสินใจปรับรัฐมนตรีที่ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญของเขาออกจากรัฐบาล ปฏิกิริยาและการตัดสินใจของประธานาธิบดีคิบาคิถูกมองจากหลายฝ่ายว่า เป็นการตัดสินใจทางการเมืองที่ห้าวหาญที่สุดของเขาทีเดียว แต่ก็ส่งผลให้นายโอดินก้าตัดสินใจแยกตัวออกมา และกลายเป็นคู่ปรับทางการเมืองคนสำคัญของประธานาธิบดีคิบาคิอย่างเต็มรูปแบบ

แม้ว่าเศรษฐกิจในยุคของคิบาคิจะก้าวหน้ามาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกระโดดจาก 0.6% ต่อปี ในช่วงที่เขาเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในปี 2002 ไปเป็น 6.1% เมื่อปี 2006 แต่ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นมิได้กระจายไปถึงผู้ยากไร้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ต่ำกว่าระดับยากจนข้นแค้น คือมีรายได้เพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อวัน อัตราการว่างงานในเคนยายังคงมีอยู่สูง ปัญหาการทุจริตในภาครัฐที่ประธานาธิบดีคิบาคิเคยประกาศไว้ว่าจะจัดการให้ได้ ก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในรัฐบาลของเขา เหล่านี้คือจุดอ่อนที่นายโอดินก้าใช้โจมตีนายคิบาคิ การเลือกตั้งเมื่อ 27 ธันวาคม 2007 ถูกประเมินจากผู้สังเกตการณ์ของสหภาพยุโรปว่า ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีหลายอย่างที่ส่อไปในทางทุจริต เช่น คะแนนที่ประกาศในเมืองหลวงต่างจากคะแนนที่ประกาศในท้องถิ่น บางพื้นที่ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ ว่ากันว่า บางจุดมีผู้ใช้สิทธิ์มากถึง 115% ซึ่งฟังแล้ว น่าตกใจมาก!!!

ความวุ่นวายเกิดขึ้นหลังมีข่าวเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2007 ว่า ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าประธานาธิบดี คิบาคิชนะนายโอดินก้าอย่างหวุดหวิด ประธานาธิบดีคิบาคิได้ชิงสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สองในทันที ซึ่งมองกันว่าอาจจะเป็นการตัดหน้า และปิดทางมิให้นายโอดินก้าสามารถร้องเรียนผลการเลือกตั้งต่อคณะ กรรมการการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่นัก จึงเป็นชนวนเหตุแห่งความรุนแรงระหว่างสองชนเผ่าที่ความสัมพันธ์อยู่ในภาวะตึงเครียดกันอยู่แล้ว จึงนำไปสู่การจลาจลโดยกลุ่มวัยรุ่น และการเข่นฆ่ากันอย่างโหดเหี้ยม ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 300 คน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของเคนยา กลับให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่าได้ถูกกดดันจากพรรคฝ่ายรัฐบาลให้รีบแถลงผลการเลือกตั้ง และยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าประธานาธิบดีคิบาคิชนะการเลือกตั้งหรือไม่ ท่าทีเช่นนี้ทำให้ฝ่ายของนายโอดินก้ายิ่งกล่าวหาว่า การรีบร้อนแถลงผลการเลือกตั้งเช่นนี้ มีเจตนาแอบแฝง และเป็นการกระทำส่อไปในทางทุจริต

ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น หน่วยงานบรรเทาทุกข์ได้ออกมาเตือนว่า ความหายนะทางมนุษยธรรมจะตามมา หากวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้รับการคลี่คลาย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าโกงการเลือกตั้ง และเป็นต้นเหตุของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ได้เกิดขึ้น เหตุการณ์หนึ่งที่สะเทือนใจและสะเทือนขวัญชาวเคนยาและโลกภายนอกเป็นอย่างยิ่งก็คือ เหตุการณ์ใกล้เมืองเอลโดเร็ต ที่ชาวคิคูยู 30 คน ซึ่งเป็นชนเผ่าเดียวกับประธานาธิบดีคิบาคิถูกเผาทั้งเป็นขณะหลบซ่อนอยู่ในโบสถ์เพื่อหนีจากการก่อการจลาจลโดยกลุ่มวัยรุ่น ขณะที่กาชาดเคนยาแถลงว่า มีประชาชน 7 หมื่นคนต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากความรุนแรงในครั้งนี้

อังกฤษในฐานะที่เคยปกครองเคนยา ได้เรียกร้องให้สหภาพแอฟริกัน หรือ AU และเครือจักรภพ ช่วยกันนำสองฝ่าย ทั้งผู้สนับสนุนประธานาธิบดีคิบาคิและนายโอดินก้า ให้มาเจรจากัน และหาทางลดความรุนแรงลงให้ได้ ซึ่งประธาน AU นายจอห์น คูฟัว ซึ่งเป็นประธานาธิบดีกาน่าด้วย ก็ได้ตอบรับที่จะเจรจากับคิบาคิ ฝรั่งเศสและเยอรมนีก็เรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองในเคนยา ปฏิบัติตนอย่างรับผิดชอบในสถานการณ์เช่นนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นก็รู้สึกผิดหวังต่อเหตุการณ์ความสับสนที่เกิดขึ้นในระหว่างการนับคะแนนการเลือกตั้ง ซึ่งมีเสียงเรียกร้องจากผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ให้มีการสอบสวนการทุจริตที่เกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้งด้วย

ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งช่วงแรกๆ แถลงแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคิบาคิต่อผลการเลือกตั้ง ต่อมาก็เปลี่ยนท่าที แสดงอาการเป็นห่วงต่อการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง รัฐบาลเคนยาเคยสนับสนุนสหรัฐฯ เป็นระยะๆ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในประเทศโซมาเลียที่อยู่ติดพรมแดนของตน สหรัฐฯ จึงมีผลประโยชน์ในเรื่องนี้เกี่ยวพันอยู่กับเคนยาด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาภายในของเคนยาก็น่าจะคลี่คลายลงได้ หากทั้งสองฝ่ายยอมหันหน้ามาเจรจากัน ซึ่งท่าทีเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ อาจจะเป็นเพราะเสียงเรียกร้องจากประชาชนชาวเคนยาผู้บริสุทธิ์ที่ทนต่อความไร้ขื่อแปในประเทศของตนต่อไปไม่ไหว หรืออาจจะเป็นเพราะประเทศหรือองค์กรในภูมิภาค เช่น AU ที่สองฝ่ายยอมรับฟัง ก้าวเข้ามาเป็นคนกลาง หรืออาจจะเป็นเพราะโลกตะวันตกเข้ามาช่วยจูงใจ ช่วยกดดัน ก็เป็นได้ แม้ทางเลือกข้อสุดท้ายนี้ อาจจะไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะเท่าที่ผ่านมา ท่าทีของโลกตะวันตกมักไม่ค่อยแน่นอน ไม่ค่อยต่อเนื่อง หรือไม่ค่อยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน การมีบทบาทช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในแอฟริกา จำเป็นที่ประเทศโลกตะวันตกต้องวางท่าทีไปในแนวทางเดียวกัน และใช้การจูงใจอย่างเป็นระบบ เพื่อผลักดันให้ผู้ถือครองอำนาจยอมปฏิบัติตาม

แต่จากประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในทวีปแอฟริกา ทำให้ได้เห็นท่าทีของโลกตะวันตกต่อข่าวการโกงการเลือกตั้ง และการก่อความรุนแรงในการเลือกตั้งของไนจีเรีย ซึ่งในช่วงแรกๆ โลกตะวันตกก็ประณามการกระทำที่เกิดขึ้น แต่หลังจากนั้น ปฏิกิริยาจากตะวันตกก็ค่อยๆ เงียบหายไป เมื่อความสนใจค่อยๆบางเบาลง หรือเมื่อผลประโยชน์ต่างๆ ที่ประเทศตะวันตกมีอยู่ในประเทศนั้นๆ เริ่มลงตัว เข้าที่เข้าทางมากขึ้น ...

อย่างไรก็ตาม กรณีความรุนแรงในเคนยา ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ยูกันดา รวันดา บุรุนดี ที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากโรงกลั่นในเคนยา ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศเหล่านี้ถีบตัวสูงขึ้น เพราะน้ำมันเริ่มขาดแคลน และอีกหลายๆประเทศในภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาน้ำมัน หรือพึ่งพาเกลือและแป้งจากเคนยา ก็เริ่มขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ในเคนยามีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อแอฟริกาตะวันออกทั้งภูมิภาคในอนาคตอันใกล้ เมื่อผลกระทบมีแนวโน้มที่จะแผ่วงกว้างออกไปเช่นนี้ ประชาคมโลกก็คงเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจต่อการเมืองภายในของเคนยาอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกระยะหนึ่ง และเชื่อว่าจะมีคนกลางทั้งที่มาจากโลกตะวันตกโดยตรง หรือถูกโลกตะวันตกขอร้องให้มาช่วย เดินทางเข้ามายังเคนยาเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหา หากมองโลกในแง่ดีเช่นนั้น ก็หวังใจและเชื่อว่า สถานการณ์น่าจะบรรเทาลงได้ในเวลาอันใกล้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเคนยาส่วนใหญ่ปรารถนาอย่างยิ่งในเวลานี้

หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Website: http://www.thaiworld.org
กำลังโหลดความคิดเห็น