xs
xsm
sm
md
lg

ลุ่มเจ้าพระยาแล้งนี้ ปลูกพืชได้ตามปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

แม้ว่าล่าสุด ผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก จะระบุข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล ณ ปัจจุบันว่า มีปริมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงแล้งนี้ หากไม่มีการประหยัดการใช้น้ำ

ล่าสุด สำนักอุทกวิทยาและบริหารน้ำ กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนการจัดสรรน้ำ และการปลูกพืช   ฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวางแผนให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ที่ส่งมาหล่อเลี้ยงในพื้นที่ราบลุ่ม โดยอ้างอิงจากตัวเลขของปริมาณน้ำ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550  ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำภูมิพล และอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกันประมาณ 12,224  ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549  ปีที่ผ่านมาประมาณ 3,875 ล้านลูกบาศก์เมตร

แต่ที่อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำใช้งานได้ประมาณ 967 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 66  ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำในอ่างฯ อยู่ในเกณฑ์ปกติ และสามารถสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำในพื้นที่ตามรอบเวรการส่งน้ำ ได้อย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝน ปี 2550 ได้เกิดสภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง และลุ่มน้ำน่าน ซึ่งปริมาณน้ำมาก ดังนั้นในช่วงฤดูแล้งปี 2550/51 จึงสามารถกำหนดแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่เกี่ยวข้องได้ตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน รวมทั้งการชดเชยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำต่างๆ ประกอบด้วยการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำภูมิพล และอ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ จำนวน 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ร่วมกับการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์อีก จำนวน 550 ล้านลูกบาศก์เมตร    รวมทั้งการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอีกประมาณ1,000ล้านลูกบาศก์เมตร

จึงได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพื่อการส่งน้ำในเขตชลประทานของโครงการฯ เจ้าพระยาใหญ่ พิษณุโลก กำแพงเพชร และโครงการชลประทานอื่นๆ รวมกันประมาณ 5.83 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังประมาณ 4.76 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก ประมาณ 0.09 ล้านไร่ บ่อปลา-บ่อกุ้ง ประมาณ 0.29 ล้านไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น ประมาณ 0.43 ล้านไร่ อ้อย ประมาณ 0.10 ล้านไร่ และอื่นๆ ประมาณ 0.16 ล้านไร่ รวมทั้งการใช้น้ำในเขตโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอีกจำนวน 261 สถานี พื้นที่การเกษตรได้รับประโยชน์ประมาณ 0.55 ล้านไร่

สำหรับโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า กรมชลประทานได้สำรวจแผนการใช้น้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,213 สถานี และได้มีการ วางแผนการสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือการปลูกพืชฤดูแล้งปี 2550/51 นี้ จำนวนรวม 1,563 สถานี สนับสนุนพื้นที่การเกษตรประมาณ 1.15 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำที่สูบทั้งสิ้นประมาณ 1,530 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการเพื่อให้การช่วยเหลือเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ อีกแนวทางหนึ่งด้วย ล่าสุดกรมชลประทานได้ถ่ายโอนเครื่องสูบน้ำขนาด 6”-8” จำนวนรวม 1,000 เครื่อง ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ดังนั้น เกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทานจะสามารถขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำเข้าแปลงเกษตร หรือเพื่อการบริโภคได้จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกจังหวัด

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเติมเต็ม และพร้อมให้การช่วยเหลือยามฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากภาวะความแห้งแล้งในบางพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทาน ฤดูแล้งปีนี้ กรมชลประทานยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่กระจายอยู่ตามสำนักชลประทานต่าง ๆ ทั่วประเทศไว้ รวม 1,200 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 295 คัน ไว้ให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และการอุปโภค บริโภค ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน  
กำลังโหลดความคิดเห็น