“สมชาย” คุยฟุ้งใช้ “นโยบายเพื่อประชาชน” แก้ปัญหาปากท้อง เผย “ครม.หมัก 1” นัดประชุมกรอบนัดสุดท้าย 9 ก.พ. ก่อนชงเข้า ครม. ด้าน “นพดล” ผวาต่างชาติขาดความเชื่อมั่น เตรียมประสานทั่วโลกประชาสัมพันธ์ไทยได้ประชาธิปไตยกลับคืน
วันนี้ (8 ก.พ.) นายสมชาย วงสวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายการประชุมตัวแทนพรรคการเมือง 6 พรรค เพื่อร่างนโยบายรัฐบาล สมัคร 1 ว่า นโยบายพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่สอดคล้องกัน แต่จะต้องแก้ไขในบางส่วนเพื่อให้มีความสมบูรณ์ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานร่วม 6 พรรค มาพิจารณาเพิ่มเติมให้สมบูรณ์อีกครั้ง โดยมีฝ่ายข้าราชการประจำมีหน้าที่ช่วยร่างนโยบายด้านต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สภาความั่นคงแห่งชาติ ปรับปรุงถ้อยคำทั้งหมดเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐ
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้จะมีการประชุมครั้งสุดท้ายในวันเสาร์ที่ 9 ก.พ.นี้ และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้า เพื่อนำไปแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นนโยบายรัฐบาลจึงไม่มีสูตร โดยเฉพาะสูตร 17-7-17 จะเป็นนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลที่จัดทำ และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่รัฐบาลได้นำเสนอจากประชาชน เพื่อให้ไปตรวจสอบได้ว่าการทำงานของรัฐบาลเป็นไปตามนโยบายหรือไม่ เช่น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
“นโยบายรัฐบาลจะเรียกอะไรก็ช่าง ไม่จำเป็นต้องเรียกประชานิยม เรียกว่าเป็นนโยบายที่ประชาชนตอบรับ และยินดีที่ได้นโยบายอย่างนี้ และรัฐบาลก็มีความสุขที่ทำให้ประชาชนพึงพอใจ มีความกินดีอยู่ดี แก้ไขปัญหาปากท้องได้ อย่างนี้เรียกได้ว่านโยบายเพื่อประชาชน”นายสมชาย กล่าว
ด้าน นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายรัฐถือว่าครอบคลุมทุกด้าน สามารถให้ความชัดเจนต่อประชาชน และนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยมีนโยบายเร่งด่วนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนภาครัฐ มาตรการในการอัดฉีดงบประมาณ เป็นต้น สำหรับด้านการต่างประเทศ จะเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากต่างประเทศโดยเร่งด่วน ซึ่งเบื้องต้นจะขอคำสั่งให้เอกอัครราชทูตไปพบปะกับทุกประเทศทั่วโลก เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียง และความยอมรับนับถือต่อไทย รวมไปถึงจะต้องชี้แจงว่าประชาธิปไตยได้กลับสู่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า นอกจากมีกรอบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ยังจะรวมไปถึงปรับโครงสร้างการผลิต และการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกันในหลายรูปแบบ ขณะเดียวกัน กรณีที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิก สศช. ซึ่งเป็นคนเดียวที่คัดค้านแนวคิดอุโมงค์น้ำในภาคอีสานของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มาโดยตลอดนั้น ตนอยากให้ไปดูว่าตอนนี้มีการปรับปรุงไปถึงไหนแล้ว
“คิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องของต้นแบบที่กรมชลประทานได้ดำเนินการ แต่ไม่ได้สอดคล้องกับเรื่องระบบชลประทานระบบท่ออย่างแท้จริง ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นจุดอ่อนที่จะเอามาโจมตีกัน ดังนั้นชลประทานระบบท่อจึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ซึ่งไม่ได้ความว่าจะใช้ระบบนี้ระบบเดียว”นายสุวิทย์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี นายสมัคร ได้ขอร้องรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ให้วิจารณ์นโยบายที่ร่วมกันร่าง เพราะจะเป็นการสร้างปัญหาในภายหลัง