xs
xsm
sm
md
lg

คมช.นัดแจงผลงาน 4 ข้อหลังลิ่วล้อ พปช.เบี่ยงเบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คมช.ถกสถานการณ์การเมืองหลัง "สมัคร" นอมินี "ทักษิณ" นั่งเก้าอี้นายกฯ เตรียมแถลงยุติบทบาทหลัง ครม.เข้าถวายสัตย์ พร้อมแถลงผลงาน 1 ปี การดำเนินการตามมูลเหตุ 4 ประเด็นที่เข้ายึดอำนาจ 19 กันยาฯ หลังทีมงานรัฐบาลชุดใหม่เบี่ยงเบนประเด็นกล่าวหาการปฎิวัติของ คมช.ทำลาย ปชต. ด้าน ผบ.ทบ. ไม่วิจารณ์ "สมัคร"จะมานั่ง รมว.กลาโหม ระบุ ผู้ใช้อำนาจรัฐมีหน้าที่ให้นโยบาย ขรก.ปฎิบัติ ไม่มีสิทธิใช้อำนาจส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกองบัญชาการกองทัพบก เมื่อเวลา 07.30 น. วานนี้ (29 ม.ค.) พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และสมาชิกคมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกและผู้ช่วยเลขาธิการคมช. ร่วมรับรับประทานอาหารเช้าและหารือ ถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายหลัง นายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ซึ่งถือเป็นการหารือร่วมกันของสมาชิกคมช.ครั้งแรกหลังจาก คมช.ประกาศยุติการประชุมอย่างเป็นทางการ

แหล่งข่าวจาก คมช. เปิดเผยว่า การนัดทานข้าวหารือระหว่างสมาชิก คมช. ซึ่งมี พล.อ.อ.ชลิต เป็นประธานนั้น ได้หารือถึงกรณีที่ คมช.จะจัดแถลงยุติบทบาท อย่างเป็นทางการภายหลังที่คณะรัฐบาลเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่ง คมช. จะแถลงผลการทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะมูลเหตุ 4 ประการที่ คมช. ใช้ในการประการยึดอำนาจการปกครองของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าสาเหตุที่เกิดการกระทำในวันที่ 19 กันยายน 2549 มีมูลเหตุจากอะไร โดยเฉพาะสถานการณ์ขณะนั้นหากปล่อยไว้อาจจะเกิดเหตุนองเลือดของประชาชน 2 ฝ่าย รวมถึงมีการบริหารประเทศของรัฐบาล ที่เกิดความเคลือบแคลงสงสัยของสังคม ทำให้คณะปฏิรูปการปกครองฯจึงตัดสินใจ เข้ากระทำการยุติการปกครองในเวลานั้น

"สาเหตุที่ คมช. ต้องการแถลงมูลเหตุปฏิรูปนั้น เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนเพราะขณะนี้ผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศพยายามที่จะเบี่ยงเบนประเด็นให้เห็นว่า คณะปฏิรูปการปกครองฯ คือผู้ที่ทำลายระบบประชาธิปไตย และกระทำในสิ่งที่ ไม่ถูกต้อง ดังนั้น จึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อต้องการให้ บรรยากาศทางการเมืองเกิดปัญหา แต่เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่ คมช. ดำเนินการมาตลอด"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ตลอดการทำงาน 1 ปีกว่า คมช. วางกรอบเวลาชัดเจนที่จะให้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาที่ คมช. กำหนด หากจะพูดว่าสำเร็จหรือไม่ก็ถือว่าระดับหนึ่ง และบ่งชี้ให้เห็นว่า คมช. ไม่ต้องการ เข้ามาแสวงอำนาจหรือสืบทอดอำนาจ เมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะปกติ คมช. ก็ถอยออก ปล่อยให้การเมืองดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ คมช. ยังคงทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ และหากหมดวาระไปก็ยังให้ความสนับสนุนองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้น โดยเฉพาะ คตส. และ กกต. ในเรื่องการดูแลความปลอดภัย หากมีการร้องขอ โดย คมช. จะแปรสภาพการทำงานเป็นรูปแบบของผู้บัญชาการเหล่าทัพ และจะมีการประชุมหารือร่วมรับประทานอาหารเช้าทุกวันอังคารเช่นเดิม

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวถึงแนวทางในการทำงานร่วมกับรัฐบาลว่า ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพียงแต่ต้อนรับ ผบ.เหล่าทัพ ที่เดินทางมาที่กองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งวันนี้ไม่ได้มีการประชุมกันเป็นเพียงการพูดคุยกันธรรมดา คงไม่มีประเด็นอย่างที่ว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลชุดใหม่โดยเฉพาะแนวทางในการ ทำงาน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คงไม่มีอะไรฝากถึง เพราะเป็นเรื่องปกติ เราเป็นหน่วยของรัฐ เมื่อท่านเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็เหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา คงจะเตรียมปฏิบัติตามแนวนโยบายตามที่รัฐบาลได้สั่งมา

ส่วนกองทัพยอมรับและพร้อมหรือไม่ หากนายสมัครจะควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดในเรื่องนี้ ขอให้แจ่มชัดแล้วค่อยถามดีกว่า เมื่อถามว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็น รมว.กลาโหม ท่านมีความพร้อม ในการทำงานร่วมกันใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ข้าราชการของรัฐอย่าไปทึกทักว่าอำนาจเป็นอำนาจของตัวบุคคล มันเป็นอำนาจของสถาบัน ผู้ใช้อำนาจรัฐมีหน้าที่เข้ามาให้นโยบายให้ข้าราชการประจำผู้ปฏิบัติไม่มีกลไกอื่นที่จะไปคิดเองได้ ก็จะต้องเป็นไปตามนี้ จะใช้คำว่ายอมรับก็ไม่เชิง

ต่อข้อถามว่า เกรงหรือไม่ว่า นายสมัคร จะเข้ามาล้วงลูกการทำงานของกองทัพ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่เคยคิด ที่ว่าเกรงหรือไม่คงไม่เกี่ยว ท่านก็มาปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรีต้องมาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง เรื่องอื่นไม่ทราบ เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานายสมัครประกาศว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้นผมยิ่งไม่ยุ่งเลย ไม่เกี่ยว"

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าจะต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างการเมืองกับกองทัพ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า "อ๋อ...ธรรมดา ผมไม่ทราบในส่วนนั้น เราทราบบทบาท ของเราดีว่าเราเป็นข้าราชการของรัฐ เตรียมปฏิบัติหน้าที่ตามผู้ที่ถืออำนาจ คือ อำนาจแห่งการเมืองเป็นผู้มอบนโยบาย และกำหนดมา เราก็เป็นผู้นำไปปฏิบัติก็คงจะอยู่จุดนั้น เอาเป็นว่าเราจะต้องรู้ว่าเราควรมีบทบาทภารกิจอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น