xs
xsm
sm
md
lg

สมัคร 1 : “เฮโลสาระพา!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

...และแล้วในที่สุด “รัฐบาลสมัคร 1” ก็จะเริ่มเดินหน้าภายในสัปดาห์หน้าอย่างแน่นอน เป็นไปตามคาดเรียกว่า “เรียบร้อยโรงเรียนทักษิณ!” ที่บัญชาการด้วยตนเองจากฮ่องกง ผู้เป็นเจ้าของพรรคพลังประชาชนตัวจริงเสียงจริง

เอาเถอะ! ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว “ความจริง (Facts)” ของปรากฏการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าเราจะ “สมหวัง-ผิดหวัง” มากน้อยอย่างไร บางคนอาจถึงกับ “ถอดใจ-ท้อใจ” ว่าทำไมประชาชนคนไทยถึงเป็นเช่นนี้ ในขณะเดียวกันก็มีประชาชนจำนวนมากพอๆ กันที่“ลิงโลด-กระโดดโลดเต้น” ที่ ทั้งพรรคพลังประชาชนและหัวหน้าพรรคฯ คุณสมัคร สุนทรเวช ได้คะแนนเสียงมากมายเช่นนี้ จนในที่สุด คุณสมัคร สุนทรเวช ได้เดินขึ้น “ตึกไทยคู่ฟ้า” ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” สมหวังดังใจ

แต่ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า ประชาชนจำนวนมากถึงประมาณ 12 ล้านคน ยังคงติดใจอยู่กับ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและนายกรัฐมนตรี ที่บริหารชาติบ้านเมืองมา 5-6 ปี ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะ “ระดับล่าง-ระดับรากหญ้า” รู้สึกว่าชีวิตดีขึ้น ขอย้ำคำว่า “รู้สึก” ส่วนความจริงจะเป็นเช่นไรนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง

ถ้าเราจะวิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมาว่า ประชาชนที่มีสิทธิในการลงคะแนนหย่อนบัตรเลือกตั้งประมาณ 40 กว่าล้านคน ไปใช้สิทธิเลือก “พรรคพลังประชาชน” ซึ่งก็คือ “นอมินีพรรคไทยรักไทย” เดิมจำนวนประมาณ 12 ล้านคน อีก 12 ล้านคนก็เลือก “พรรคประชาธิปัตย์” เช่นเดียวกัน และที่เหลืออีกประมาณ 7-8 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 กว่าๆ ต่างกระจัดกระจายเลือกพรรคชาติไทยบ้าง พรรคเพื่อแผ่นดินบ้าง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาบ้าง เป็นต้น

จำนวนตัวเลขในระบบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบเขตอาจจะห่างไกลกันพอสมควรระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีมากถึง 68 ที่นั่งโดยประมาณ ในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ถ้านำจำนวนตัวเลข ส.ส.แบบระบบสัดส่วนห่างกันเพียง 1-2 คนเท่านั้น กล่าวคือ พรรคพลังประชาชนได้ 88 คน พรรคประชาธิปัตย์ 87 คน (ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนบ้าง)

ในกรณีนี้เราต้องวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งว่าพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศให้ “คะแนนนิยม” ในระบบพรรคที่มีคะแนนเรียกว่า “เท่ากัน” ก็คงไม่ผิดนัก และในขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนกรุงเทพฯ เลือก ส.ส.แบบเขตเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น 27 ต่อ 9 คน ของพรรคพลังประชาชน

จากสองกรณีข้างต้นนั้น เราต้องยอมรับความจริงว่า “ส่อนัยทางการเมือง” ในกรณีของ “ความรู้สึก” พี่น้องประชาชนจำนวนมากในระดับหนึ่งและเป็นกรณีที่พรรคพลังประชาชน โดยเฉพาะคุณทักษิณ ชินวัตร และแกนนำจะละเลยในการให้ความสำคัญไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ถ้าเราจะสังเคราะห์และวิเคราะห์โดย “องค์รวม-ภาพรวม” ทั้งหมดแล้วก็ต้องยอมรับความจริงว่าทั้งสองพรรคได้รับคะแนนนิยมจากกลุ่มประชาชนในระดับล่างที่แตกต่างกัน แต่ระดับกลางและบนนั้นแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่คงไม่สำคัญเท่ากับว่า ส.ส.แบบเขตที่ได้มากถึง 233 คนนั้น คนที่เข้าใจการเมืองไทยดีต้องตระหนักได้เป็นอย่างดีว่า “กระบวนการจัดตั้ง-กระบวนการซื้อตั้ง” นั้น ได้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ประเด็น “กระแส-กระสุน” เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองในยุคเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา และกำลังจะเป็น “วัฒนธรรมทางการเมือง” ของสังคมไทยไปแล้วที่ประชาชนจะ “เคยชิน” พร้อม “เสพติด” กับ “นโยบายประชานิยม” ที่ประชาชนสามารถจับต้องสัมผัสได้จนกลายเป็น “กระแส” ไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกันนี้ “กระสุน” หรือ “เงินทุน” ที่ต้องทุ่มกับสนามการเมืองอย่างมหาศาล ที่ความจริงเราต้องยอมรับว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” ได้เป็น “พฤติกรรม” ของคนไทยไปแล้วเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นในประเด็นของ “กระแส-กระสุน” นั้น “พรรคพลังประชาชน” ที่เป็น “นอมินี” พรรคไทยรักไทยเดิมนั้น ตระหนักและเข้าใจดีถึงสภาวะที่เป็นจริงของ “วัฒนธรรมการเมืองไทย”

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์จำนวนตัวเลขการได้มาของ ส.ส.ทั้งระบบเขตและแบบสัดส่วนข้างต้น ก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า ประชาชนคนไทยในยุค “คอการเมือง” เบ่งบาน มีความตื่นตัว ความรู้ความเข้าใจกับเหตุการณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้รับและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างมาก ตลอดจนมีส่วนร่วมกับการเมืองมากยิ่งขึ้น

ถามว่า คนไทยได้รับ “บทเรียน” บ้างหรือไม่กับ “ธุรกิจการเมือง” ก็ต้องตอบว่า “แน่นอน” ที่คนไทยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของประเทศ “รับรู้-ตระหนักดี” ถึงที่มาที่ไปก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลของ “การยึดอำนาจ” ที่ประชาชนส่วนใหญ่วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด และ “คลางแคลงใจ” ถึง “ข้อกล่าวหา” ต่างๆ ที่มีมา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรม แต่กระบวนการสอบสวนก็ต้องยอมรับว่า “ช้า-อืดอาด!” ไม่ค่อยถูกใจกันซักเท่าใดนัก

คนไทยในปัจจุบันบริโภคข้อมูลข่าวสารตลอดเวลา และแน่นอนที่ “ตื่นตัว” พร้อม “รับรู้-รับทราบ” และ “ฉลาด-รู้ทัน” มากกว่าเดิมเยอะ ขอถามอีกครั้งว่า คนไทยได้รับ “บทเรียน” หรือไม่ ทุกคนตระหนักและรู้เรียบร้อยดังนั้น “การรวบอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” เฉกเช่นเดิมได้หรือไม่ ก็ต้องขอฟันธงว่า “ยาก!”

เหตุผลสำคัญที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะว่า “รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 : 2550” เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไข มิให้มีการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นสำคัญมีดังต่อไปนี้ หนึ่ง กลไกและมาตราต่างๆ ที่กำหนดให้การเข้าชื่อตลอดจนทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีจำนวนลดน้อยลง พูดง่ายๆ คือ สามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ง่ายขึ้น สอง สมาชิกวุฒิสภามาจากสองแหล่งทั้งสรรหาและเลือกตั้งเพื่อป้องกันมิให้มีการครอบงำ และแทรกแซงวุฒิสภาได้มากเหมือนในอดีต และสาม องค์กรอิสระต่างๆ จะมีมาตรการในการป้องกันการครอบงำและแทรกแซงได้ยากมากขึ้น

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็หมายความว่า “การคานอำนาจ-การถ่วงดุล” เพื่อ “การตรวจสอบ” จะต้องเกิดขึ้น มิให้ฝ่ายบริหาร และ/หรือ “รัฐบาล” มีอำนาจบริหารชาติบ้านเมืองอย่าง “รวบอำนาจ” ได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหารสูงสุดคือ“นายกรัฐมนตรี”

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “เงิน-ทุน” ยังไงๆ ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะตราบใดที่กลุ่มบุคคลประชาชนทั่วไปยังนับถือ “เงินเป็นพระเจ้า!” เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะถูก “บิดเบือน-บิดพลิ้ว” ได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีการสกัดกั้นป้องกันอย่างไร


สภาวการณ์ทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป “เสถียรภาพ” ทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค ซึ่งเป็น “รัฐบาลผสม (Coalition Government)” จะไม่มั่นคงเหมือนในอดีตของพรรคไทยรักไทยเดิมที่มีจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด เรียกว่า “รัฐบาลพรรคเดียว (Single Party Government)”

การเจรจาต่อรองในกรณีของ “ผลประโยชน์” ต่างๆ จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับโครงการและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในรัฐบาลเอง ถามว่า “เงินสะพัด” อีกหรือไม่ ก็ต้องตอบฟันธงว่า “แน่นอน” และเมื่อใดที่มี “ข่าวอื้อฉาว” และ “ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง” โผล่เมื่อใด เมื่อนั้นรัฐบาลก็จะเสียความชอบธรรมทันที และเริ่ม “สั่นคลอน“ จนต้องมีทั้ง “การปรับคณะรัฐมนตรี” และ “ยุบสภา” ในที่สุด

สถาบันกองทัพกำลังเดินหน้ากลับเข้าสู่กรม กอง แต่ก็มิควรหันหลังให้กับประเทศชาติและประชาชน เนื่องด้วย “สถาบันทหาร” ยังจำเป็นต้องเป็นสถาบันหลักคู่ชาติบ้านเมืองมายาวนานและตลอดไป เพราะเมื่อใดที่ “การเมือง” ยังคงวนเวียนอยู่กับ “วงจรอุบาทว์” ประชาชนก็ยังคงต้องพึ่งสถาบันทหารเข้ามาช่วยทำความสะอาดชาติบ้านเมือง

อีกหนึ่งสถาบันที่จะต้องมีบทบาทมากยิ่งขึ้นคือ “สถาบันประชาชน” ที่ “การเมืองภาคประชาชน” จะต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นปึกแผ่นมากกว่าในอดีตและแข็งแกร่งมากกว่าเดิมเพื่อทำหน้าที่ “ตรวจสอบ-เฝ้าระวัง” โดยเฉพาะเพื่อเป็น “การคานอำนาจ-ถ่วงดุล” มิให้ “ภาคการเมือง” สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้มากเหมือนเดิมช่วง 2544-2549

“การเมืองภาคประชาชน” จำต้องเป็นสถาบันหลักอีกสถาบันหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ที่ต้องประกบคู่ไปกับ “สถาบันทหาร” และไม่สำคัญเท่ากับ “สถาบันกษัตริย์” ที่ต้องมิยอมให้ “ภาคการเมือง” มาทำหน้าที่ทุกอย่างในสังคมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้อีกต่อไป

ความจริงที่เราต้องมองเห็นและคาดการณ์ได้ถูกว่า “การเมืองจะไม่เหมือนเดิม” ที่พรรคการเมืองพรรคเดียวจะชี้เป็นชี้ตายบ้านเมืองได้อีก ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนและทุกสถาบันในสังคมจะต้องร่วมกันเป็น “คานถ่วงดุลอำนาจ” ที่ต้องกำหนดให้เป็น “สถาบัน” ให้ได้ มิเช่นนั้น ทุกอย่างจะกลับไปสู่สภาวะเดิม

อย่างไรก็ตาม “กติกาก็คือกติกา” ในเมื่อการเลือกตั้งก็จบสิ้นกระบวนการแล้ว ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบ 480 แล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้แล้ว และสำคัญที่สุด “นายกรัฐมนตรี” เราก็ได้แล้ว ขอแสดงความยินดีกับท่านนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช

เมื่อทุกอย่างในทางการเมือง “ชอบธรรม” และเป็นไปตาม “ครรลองประชาธิปไตย” แล้ว เราก็ต้องน้อมรับกฎกติกาที่พึ่งจะเป็น เพียงแต่ว่ารูปร่างหน้าตา “คณะรัฐมนตรี” ก็จะต้องชอบธรรมเช่นเดียวกัน

แต่คงไม่สำคัญเท่ากับ “การทำงานต้องชอบธรรม!” เช่นเดียวกัน เพราะว่าทุกภาคส่วนของสังคมต่างเฝ้าจับตาดูอยู่ด้วยความชอบธรรมจากทุกสถาบัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น