xs
xsm
sm
md
lg

หยัน"สมัคร"นายกฯ กาฝาก - รมต.แค่พวกได้ปูนบำเหน็จ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีสัมมนาชี้รัฐบาลอายุสั้น เจอศึกนอก ศึกใน จากการแบ่งเค้กไม่ลงตัว เชื่อเร่งสางแค้น สะสมเสบียงและวางหมากเพื่อเลือกตั้งรอบใหม่ โฆษกรัฐบาล จวกยึดอำนาจสูญเปล่า นักวิชาการหยาม "สมัคร" นายกฯกาฝาก เหตุไม่ใช่ผู้นำตัวจริง ส่วนรัฐมนตรีก็เป็นพวกที่ได้รับบำเหน็จจากการปกป้องนาย ไม่ได้มุ่งหวังการบริหารประเทศ อาจารย์มหา"ลัยขอนแก่น หวั่นฝ่ายนิติบัญญัติฯหลับหูหลับตาเอื้อประโยชน์พวกพ้อง แนะภาคประชาชนเตรียม 1 หมื่นรายชื่อ ช่วยฝ่ายค้านถ่วงดุลอำนาจรัฐ เชื่อตั้ง "เฉลิม" นั่ง มท.1 เป็นเชื่อเพลิงให้ถูกล้มเร็วขึ้น ปชป.ซัด พปช. เตรียมตั้ง กมธ.เช็คบิล ขรก. ถือเป็นการข่มขู่ คุกคาม ขัดกับแนวคิดสมานฉันฑ์

นายทวี สุรฤทธิกุล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวในการสัมมนาวิชาการเรื่อง "รัฐบาลใหม่ต้องทำอะไรต่อไป" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลใหม่จะมีอายุสั้นมาก ไร้เสถียรภาพ ตกเป็นเป้าโจมตีจากสาธารณะทั้งสื่อมวลชนและประชาชน มีการปรับครม.บ่อยครั้ง และจะบริหารงานแบบถูลู่ถูกังไม่เกิน 2 ปีจะยุบสภา และเวียนเทียนกลับเข้ามาใหม่

"ดังนั้น ในเวลาอันสั้นรัฐบาลนี้จะเร่งรีบชำระหนี้แค้นให้เสร็จโดยเร็วพร้อมกับสะสมเสบียงและวางหมากสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่วนปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมจะถูกหมักซุกให้เป็นหายนะในอนาคตต่อไป วิกฤตการเมืองรอบใหม่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง จนกว่าจะมีตัวเลือกใหม่ให้ประชาชน"

ด้าน นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญผล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้จะเกิดปัญหาความขัดแย้งสูง เนื่องจากแบ่งเค้กไม่ลงตัว หลังจากนี้พรรคร่วมโดยเฉพาะพรรคชาติไทย และพรรคเพื่อแผ่นดินจะต่อรองกันอย่างหนักหน่วง

นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า รัฐบาลพรรคพลังประชาชน จะอวดอ้างไม่ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต้องการให้เป็นรัฐบาล เพราะเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเสียงของพรรคอื่น มีมากกว่าคะแนนเสียงของพรรคพลังประชาชน แต่ภายหลังพรรคเล็ก และพรรคกลางทรยศประชาชน

"ผมผิดหวังกับความคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นอย่างยิ่งที่เลือก นายยงยุทธ ติยะไพรัช มาเป็นประธานรัฐสภา เป็นการปูนบำเหน็จให้กับคนที่ต่อสู้เพื่อท่านเท่านั้น แม้จะมีวิสัยของนักเลงที่ไม่ทอดทิ้งคนที่เคยช่วยเหลือ แต่สำหรับเรื่องประเทศชาติจะตอบแทนกันอย่างนี้ไม่ได้ ต้องให้เกียรติประชาชนบ้าง"

อำนาจจัดตั้ง รมต.อยู่ที่ฮ่องกง

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สนช. กล่าวว่า การเมืองหลังจากนี้จะมีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะทำเนียบรัฐบาลไม่ใช่ศูน์กลางของอำนาจรัฐอีกต่อไป แต่ศูนย์บัญชาการรัฐบาลจะอยู่ที่ฮ่องกง มีผู้ใหญ่ที่ตนรู้จักอยู่คนหนึ่งได้รับการติดต่อให้เป็นรัฐมนตรี โดยบอกว่าหากสนใจจะติดต่อกับคนที่อยู่ฮ่องกงให้ ไม่ได้ติดต่อกับนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากรัฐบาลเดินหน้า แนวทางสมานฉันท์อย่างจริงจัง ประชาชนจะหันมาให้การสนับสนุนรัฐบาล

นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยต้องวางทีมงานด้านนี้ให้เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะ รมว.คลัง

"ไชยา"ซัดยึดอำนาจสูญเปล่า

นายไชยา ยิ้มวิไล โฆษกประจำสำนักนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวตอนหนึ่งว่า การยึดอำนาจ 19 ก.ย.ถือว่าสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง "ผมเป็นนักประชาธิปไตยไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ แต่ที่ต้องรับเป็นโฆษกรัฐบาล เพราะถูกแต่งตั้งกลางอากาศ ขณะอยู่บนเครื่องบิน และตอนนี้ก็พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งนี้ทันที"

แนะเตรียม1หมื่นชื่อช่วยตรวจสอบ

นายสมพันธ์ เตชะอธิก นักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ว่า โฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่นี้ เป็นไปตามฉันทานุมัติจากการเลือกตั้ง ที่ได้เสียงข้างมาก และสามารถ รวมเสียงตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.จากพรรคไทยรักไทยเก่าเกือบทั้งหมด ที่แตกพรรคออกไป เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในช่วงทักษิณ 2 อย่างรุนแรงจนสลายขั้วออกไป ซึ่งการกลับมารวมกันในครั้งนี้ เป็นการยอมจำนนต่ออำนาจ และผลประโยชน์ที่จะจัดสรรกันเอง ซึ่งมีความชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจเหนือ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน ว่าที่นายกรัฐมนนตรี และเป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จะต้องวางระบบการตรวจสอบให้ดี และพยายามจับหลักฐานให้แน่น รวมทั้งภาคประชาชน ต้องช่วยกันตรวจสอบว่า รัฐบาลชุดนี้ มีการดำเนินการภายใต้ความชอบธรรมหรือไม่

"ความคาดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ ในแง่การทำงานในสภา ต้องทำกลไก การตรวจอสอบไม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลมากเกินไป ไม่ใช่หลับหูหลับตายกมือ แต่ก็เชื่อว่าไม่สามารถทำได้อย่างที่หวัง ดังนั้นการเมืองภาคประชาชนต้องเป็นกลไก สำคัญ ที่สร้างสภาพแวดล้อมให้ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ให้อยู่ในที่ ที่สามารถ ตรวจสอบได้ทุกเรื่อง เพื่อเป็นการถ่วงดุล โดยอาศัยกฏหมายรัฐธรรมนูญ ล่ารายชื่อ 1 หมื่นชื่อเอาไว้ เพื่อช่วยฝ่ายค้านในการถ่วงดุลอำนาจและตรวจสอบรัฐบาลชุดนี้"

นายสมพันธ์ กล่าวว่า ที่มีการวางตัว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรมว.มหาดไทย ที่ไม่มีความสามารถและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากทะเลาะกับประชาชนทุกวัน และสร้างผลงานไม่เป็นที่น่าพอใจ ยิ่งจะสร้างเชื้อเพลิง ให้ประชาชน และก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในที่สุด

หยาม"สมัคร"นายกฯ กาฝาก

นายชุติพงศ์ สมทรัพย์ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายปฏิบัติการ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ในส่วนของนายกรัฐมนตรี แม้จะยอมรับได้โดยระบบ เพราะนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน แต่ก็เป็นการเข้ารับตำแหน่งที่ไม่สง่างาม เพราะนายสมัครไม่ได้มาจากรากแท้ของพรรคพลังประชาชน แต่เนื่องจากนายสมัครเป็นนักพูดฝีปากกล้า ทำให้ถูกหยิบมาเป็นการเฉพาะกิจ หรือเรียกว่า จ้างมาเพื่อเกมในสภาโดยเฉพาะ

ซึ่งเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะส่งผลกระทบกับการบริหารประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีอำนาจอย่างแท้จริงในรัฐบาล โดยต้องขับเคลื่อนไปตามนโยบายของผู้นำตัวจริงที่อยู่เบื้องหลัง นายสมัคร จึงเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงสัญลักษณ์ หรืออาจเปรียบได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีกาฝาก

สำหรับ ครม.ที่ฟอร์มทีมกันอยู่ขณะนี้นั้น นายชุติพงศ์ กล่าวว่า หากเป็นไปตามคาดการก็เป็นสิ่งที่แสดงชัดเจนว่าการเลือกตัวรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มุ่งหวังในการบริหารงานให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการให้บำเหน็จกับผู้ที่ร่วมกันปกป้องนายมาโดยตลอด เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีแนวโน้มว่านายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรคพลังประชาชน จะได้เก้าอี้นี้ไป แม้ว่านายนพดลจะมี ความสามารถ แต่หากไม่เข้าใจในระบบการศึกษา ก็จะไม่เกิดการพัฒนาในระบบการศึกษาและ ศีลธรรมอย่างแท้จริง แต่คงจะเกิดขึ้นได้เฉพาะรูปธรรมซึ่งจะออกมาในรูปแบบการจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ

ส่วนกระทรวงมหาดไทย ผู้ที่จะเข้ามาทำงานต้องเป็นผู้ที่สามารถซึบซับปัญหา และมีการปรับปรุงอย่างละมุนละม่อมเพราะต้องอยู่ใกล้ชิดกับประชาชน เพียงแค่จะเอาคนที่ดูกฏหมายออก บอกกฏหมายเป็น มาเป็น มท.1 คงจะไม่ได้ ทั้งนี้ หากมอง ในภาพรวมแล้วถือว่ารัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่านใน เรื่องของความเหมาะสม แต่หากกลับใจพิจารณาคนตามความรู้ความสามารถก็อาจพลิกวิกฤตศรัทธา ให้เป็นโอกาสได้

ระบุการบริหารงานโดยข้าราชการ

นายนิรันดร์ กุลฑานันท์ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านคือ อย่างน้อยการมีรัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาทำให้ประเทศกลับสู่สภาปกติ ส่งผลให้ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ แต่จากผลพวงของการทำรัฐประหารที่ผ่านมา โดยเฉพาะการออกมาตรการต่างๆ เช่น การแขวนกรรมการบริหาร พรรคไทยรักไทย 111 คน ส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้ มีตัวเลือกคนที่จะเป็นรัฐมนตรีน้อย ส่งผลต่อคุณภาพรัฐมนตรีเป็นอย่างมาก โดยเท่าที่มีข่าวลือถึงการวางตัวรัฐมนตรี ว่ามีโควต้า 9 ต่อ 1 ซึ่งแบ่งลักษณะนี้ จะย้อนการเมืองกลับไปในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งให้หัวหน้ามุ้งแบ่งกันคุมตามโควตา และไม่ดูถึงความเหมาะสม และความสามารถของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี

ขฉะนั้นเข้าใจได้ว่า หากเราได้รัฐมนตรีที่ไม่เชี่ยวชาญงาน จะทำให้มีการบริหาร แบบเดิม คือการบริหารแบบตามน้ำ โดยมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงเป็นผู้บริหาร งานจริง ๆ ดังนั้น ความเฉียบขาดจะไม่มี และมีการทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสวนทางกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ และทำให้การแก้ปัญหาที่บอกว่า ภายใน 6 เดือนนั้นจะไม่ได้ผล และเรื้อรัง

ทั้งนี้หากไม่สำเร็จหรือไม่ประสบผล จะส่งกระทบต่อรัฐบาล ซึ่งอาจมีอายุสั้นตามที่มีคนทำนายเอาไว้ ขณะเดียวกันความขัดแย้งของคนในสังคมที่มีอยู่ในขณะนี้จะทำให้รัฐบาล ถูกแรงกดดันจากพลังนอกสภา โดยจะถูกการตรวจสอบจากภาคประชาชนสูงมาก และเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคต

ปชป.จวก พปช.จ้องคุกคาม ขรก.

นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนกรณี .ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคพลังประชาชน ที่ออกมาแสดงท่าที เสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญสอบสวนการทุจริตการเลือกตั้ง นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่ต้องการความสมานฉันท์ การตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมา เป็นเหมือนการข่มขู่ เป็นพฤติกรรมคุกคามข้าราชการ

ส่วนตัวเห็นว่าพฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ต่างกับพฤติกรรม ในระบบทักษิณ หากพรรคพลังประชาชนเห็นว่าช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมามีข้าราชการวางตัวไม่เหมาะสม ก็ควรร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งกฎหมาย ได้เปิดช่องให้อยู่แล้ว สามารถจัดการกับข้าราชการที่วางตัวไม่เป็นกลาง ทำไมไม่ทำใน ตอนนั้น หากพรรคพลังประชาชนยังมีพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไป ตนคิดว่าอาจลุกลามไปถึง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) หรือฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับพรรคพลังประชาชน หรือแม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตนอยากให้พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน ได้พิจารณาก่อนที่จะมีประชุมสภาฯเพื่อเลือกนายกฯ เพราะข้อเสนอของทั้ง 2 พรรคต้องการความสมานฉันท์
กำลังโหลดความคิดเห็น