xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติชี้ผลดีพรบ.เงินฝาก ช่วยลดเสี่ยง-เร่งใช้กลางปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าการแบงก์ชาติระบุพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากช่วยให้สถาบันการเงินแข่งแกร่งและปรับตัวก้าวสู่การแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น พร้อมทั้งลดภาระใช้เงินภาษีประชาชนมาหนุนสถาบันการเงินที่บริหารเจ๊ง รับแม้กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการตั้งรับกับการแก้ไขปัญหาทั้งเข้าไปดูแลเร็วขึ้น ลดความเสี่ยง และทำให้เจ้าหนี้-ผู้ฝากเงินได้เงินคืนเร็ว คาดในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษาและตั้งคณะกรรมการดูแลภายใน 180 วัน

เมื่อวานนี้(17 ม.ค.)ที่ผ่านมา ทางคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ เนื่องในงานรำลึกศาสตราจารย์ ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร ในหัวข้อ “ผลของกฎหมายคุ้มครองเงินฝากต่อผู้ฝากเงิน” โดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาหลายครั้งหลายคราว เพราะมองเห็นถึงความจำเป็นในการดูแลผู้ฝากเงินรายย่อย และหากมีองค์กรหนึ่งเข้ามาดูแลจะทำให้ระบบสถาบันการเงินแข่งแกร่ง พร้อมทั้งสามารถก้าวสู่การแข่งขันในภาวะเศรษฐกิจโลกมากขึ้น อีกทั้งในกฎหมายฉบับนี้ได้มีการคุ้มครองเงินฝากบางส่วน จากปัจจุบันที่มีการคุ้มครองเต็มจำนวนอาจสร้างความกังวลให้แก่ผู้ฝากเงินได้ แและใน 92 ประเทศทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนระบบนี้มาแล้ว 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาวิกฤตการเงินแต่ละครั้ง ระบบสถาบันการเงินจะเข้าไปดูแลเงินฝากของประชาชนแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับนโยบายสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และความพร้อมของรัฐบาลในช่วงนั้น จึงทำให้การช่วยเหลือเหล่านั้นมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากภาษีของประชาชน จึงจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงิน ขณะที่สถาบันการเงินก็ต้องมีการสร้างความแข็งแกร่งเช่นกัน

“เมื่อมีปัญหาวิกฤตเกิดขึ้นในยุคแรก ผู้ฝากเงินจะรับตั๋วแลกกลับไปแทนการคืนเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงจำนวนเงินฝาก ถ้าเป็นผู้ฝากรายย่อยจะได้รับเงินคืนภายใน 1 ปี หรือมากกว่า 3 หรือ 5 ปี ขณะที่ยุคปี 40 ซึ่งมีการปิดสถาบันการเงิน 56 แห่งก็ยิ่งมีการยืดเวลาจ่ายเงินคืนยาวขึ้นเป็น 10 ปี และบางส่วนก็มีการชำระคืนเฉพาะเงินต้น หรือบางส่วนก็ได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมากด้วย จึงไม่มีกติกาอะไรที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดจุดอ่อนขึ้น อีกทั้งทำให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเห่ถอนเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้การที่เราเข้าไปแก้ไขปัญหายากขึ้น จึงต้องมีกติกาที่ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากเงิน”นางธาริษากล่าว

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในปัจจุบันต่างกับในสถานการณ์เมื่อ 11 ปีก่อน เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ความมั่นคงมากขึ้น แม้สถานการณ์ต่างๆ ไม่ได้อยู่กับที่ แต่ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ส่วนธปท.เองก็มีการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินที่ดีขึ้น จากเดิมที่ธปท.จะเข้าไปกำกับดูแลเฉพาะเป็นจุดๆ หรือมีการเข้าไปจับผิดสถาบันการเงินเมื่อไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่ขณะนี้เริ่มพิจารณาตั้งแต่ต้นทางหรือตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อว่าการตรวจสอบมีการวางระบบถูกต้องหรือไม่ รวมถึงมีการคานอำนาจในส่วนต่างๆ ถือเป็นการกำกับดูแลที่เน้นความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งธปท.มีการฝึกผู้ตรวจสอบให้มีความรู้ ความสามารถมากขึ้นเช่นกัน

“สถาบันการเงินได้รับบทเรียนจากอดีตที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับระบบการทำงานที่เน้นความเสี่ยง มีคุณธรรม และจริยธรรมมากขึ้น”ผู้ว่าธปท.กล่าว

ดังนั้น ในกฎหมายฉบับนี้ จะเน้นคุ้มครองผู้ฝากเงินรายย่อยที่อาจมีความเข้าใจและข้อมูลที่น้อยกว่าผู้ฝากเงินรายใหญ่ และให้เงินคืนเร็วที่สุด คือ ภายใน 30 วัน รวมทั้งผู้ฝากเงินสามารถสามารถปรับตัวได้ทันภายใน 5 ปีโดยในปีแรกสร้างความเข้าใจกับผู้ฝากเงินก่อน ทำให้ยังคงคุ้มครองเต็มจำนวนอยู่ ส่วนปีสองลดลงเหลือ 100ล้านบาท ปีที่สาม 50 ล้านบาท และปีที่สี่ 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคุ้มครอง 1 บัญชีต่อสถาบันการเงิน ทำให้ผู้ฝากเงินสามารถทยอยฝากเงินได้กับสถาบันการเงินในระบบทั้ง 43 แห่งได้ ส่งผลให้สถาบันการเงินในระบบมีการดูแลความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

“แม้กฎหมายนี้จะมีหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการตั้งรับเมื่อเกิดปัญหาแล้วมากกว่า แต่เชื่อว่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น และการออกพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินและพ.ร.บ.ธปท.ก็จะเชื่อมต่อให้การแก้ไขปัญหาหยุดเร็วขึ้น ความเสี่ยงหายจะลดลง และทำให้มีทรัพย์สินที่เหลือจากการชำระบัญชีให้คืนผู้ฝากเงินและเจ้าหน้าได้มากขึ้น รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลชัดเจนมากขึ้นด้วย จากในอดีตมีข้อโต้แย้งว่าหากเหตุการณ์ยังไม่เกิดธปท.ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงหรือสั่งการอะไรได้ แต่ตอนนี้สามารถเข้าไปดูแลได้ก่อน”

ด้านนายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท.กล่าวว่า พฤติกรรมผู้ฝากเงินในปัจจุบันต่างกับอดีตมาก โดยส่วนใหญ่เงินออมประมาณ 70% เป็นการฝากระยะสั้น 3 เดือน และในความเป็นจริงคนส่วนใหญ่จะมีการถอนเงินออกก่อนครบกำหนดอายุการฝาก ขณะที่สถาบันการเงินเองก็มีการปรับเงินฝากเป็นการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้เมื่อเอาเงินคืนยากขึ้น ดังนั้น ในกฎหมายนี้ต้องการให้สถาบันการเงินทำตัวให้แข็งแกร่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้สถาบันการเงินตัดสินใจเลือกฝากเงินได้

ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินรายใดเลิกกิจการก่อนที่ธปท.เข้าไปแทรกแซงก็ต้องชำระเงินคืนให้แก่เจ้าหนี้และผู้ฝากเงินก่อน หรืออาจมีการโอนเงินให้สถาบันการเงินอื่นดูแลแทนก็ได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินกองหทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนรวม หรือการลงทุนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่นำเงินของประชาชนไปฝากยังสถาบันการเงินต่างๆ ต้องให้คณะกรรมการภายใต้กฎหมายนี้เข้ามาพิจารณาแทน โดยคาดว่าจะแต่งตั้งในช่วง 180 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงคาดว่าพ.ร.บ.นี้จะมีการลงพระปรมาธิไธยในเดือนกุมภาพันธ์นี้และเริ่มใช้ในเดือนสิงหาคม 2551 นี้

“กฎหมายนี้จะคุ้มครองเงินฝากในรูปเงินบาททุกประเภท ยกเว้นเงินฝากในบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นฐานนอกประเทศ(นอนเรสซิเด้นท์บาท) รวมถึงบัญชีเงินตราต่างตราประเทศ ซึ่งคนไทยฝากเงินในรูปเงินตราต่างประเทศ”นายชาญชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น