xs
xsm
sm
md
lg

พรบ.แบงก์ชาติคุมปลดผู้ว่าการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติระบุพ.ร.บ.ที่คาดว่าจะนำมาประกาศใช้ได้ต้นเดือนหน้า กำหนดให้ครม.ระบุเหตุผลปลดผู้ว่าการฯให้ชัดเจน พร้อมเปิดช่องให้ผู้ว่าการฯไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้ ส่วนการบริหารสินทรัพย์ธปท.เพิ่มบัญชีเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สิน หวังสะท้อนกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาของสินทรัพย์ธปท. และกำหนดโทษหนักกรรมการในบอร์ดต่างๆ หากเปิดเผยข้อมูล
นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกฎหมายและคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ผ่านร่างการพิจารณากฎหมายการเงิน 3 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วยพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยและพ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากแล้ว โดยขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจถ้อยคำเนื้อหา ซึ่งคาดว่าสำนักนายกรัฐมนตรีจะสามารถนำทูลเกล้า เพื่อลงพระปรมาภิไธยได้ในช่วงกลางเดือนนี้ โดยพ.ร.บ.ธปท.จะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ส่วนกฎหมายการเงินที่เหลือจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หรือกลางปีนี้
สำหรับสาระสำคัญในส่วนของพ.ร.บ.ธปท.นั้น ได้กำหนดให้ชัดเจนว่าผู้ว่าการธปท.จะพ้นจากตำแหน่งได้นอกเหนือจากกรณี ตาย ลาออก และขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามแล้ว คณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือคณะกรรมการธปท.(กกธ.) เสนอแนะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเห็นชอบแล้วเสนอให้ครม.อนุมัติให้ออกได้ในกรณีประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ หรือบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรงหรือหย่อนความสามารถ ซึ่งต้องแสดงเหตุผลดังกล่าวอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันหากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมีความเห็นว่าการตัดสินดังกล่าวไม่เป็นธรรมในกฎหมายฉบับนี้ก็เปิดช่องให้สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ด้วย
“กฎหมายได้ระบุให้ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จัดทำเป้าหมายนโยบายการเงินของปีถัดไป เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐและธปท.ในการดำเนินการ และเพื่อให้ธปท.รักษาเสถียรภาพด้านราคา จึงต้องมีการตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกนง.แล้วให้ครม.อนุมัติ ส่วนกรณีที่ผ่านมารัฐบาลจะเน้นให้เศรษฐกิจขยายตัว และทางกนง.จะเน้นในเรื่องการดูแลเสถียรภาพ ซึ่งมีมาตรการที่ใช้ต่างกันไป แต่กนง.จะดำเนินการให้สู่เป้าหมายตามที่ได้ตกลงร่วมกัน แต่หากไม่ตรงตามเป้าหมายแล้วจะส่งผลพ้นจากตำแหน่งด้วยกรณีหย่อนความสามารถหรือไม่นั้น ไม่ใช่ดูแค่ความรู้สึกหรือสิ่งที่เห็นเท่านั้น แต่ต้องเอาเหตุผลมาคุยกัน”
สำหรับการบริหารสินทรัพย์ของธปท.นั้นได้กำหนดให้มีการแยกบัญชีเงินสำรองอันเกิดจากการตีราคาสินทรัพย์และหนี้สินออกมาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาของสินทรัพย์ธปท.นอกเหนือจากในแต่ละปีจะหักเงินจากกำไรสุทธิประมาณ 25% เข้าในบัญชีเงินสำรองธรรมดา ซึ่งเป็นเงินเกี่ยวกับการบริหารกิจการของธปท. และส่วนที่เหลือจะหักเข้าบัญชีเงินสำรองประเภทอื่นตามที่กกธ.กำหนดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติ และถ้าปีใดขาดทุนก็ให้นำเงินสำรองธรรมดามาชดเชยผลขาดทุนนั้น ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้กับงบการเงินของธปท.ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังสามารถนำทรัพย์สินของธปท.ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ได้แก่ ทองคำ เงินตราต่างประเทศตามที่กกธ.กำหนด หลักทรัพย์ต่างประเทศภาครัฐ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ นิติบุคคลต่างประเทศอื่นที่กกธกำหนด สิทธิซื้อส่วนสำรองหรือสิทธิพิเศษถอนเงิน สินทรัพย์อื่นที่ธปท.สำส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) หรือสินทรัพย์อื่นๆ ที่กกธ.กำหนดเงื่อนไข
นายชาญชัย กล่าวว่า ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ชุด ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(กกธ.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) และคณะกรรมการระบบการชำระเงิน(กรช.) ซึ่งจึงคาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ซึ่งเริ่มจากกกธ. ก่อน
“กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อเลือกประธานกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามาเป็นกรรมการในบอร์ดต่างๆ รวมถึงตำแหน่งผู้ว่าการจะเป็นบอร์ดคัดเลือกคนละชุด แต่จะสรรหาจากอดีตข้าราชการที่ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้เสีย ซึ่งเมื่อเสร็จหน้าที่จะสลายไป ส่วนบอร์ดที่จะคัดเลือกตำแหน่งผู้ว่าการนั้นจะต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติที่ดีมาไม่น้อยกว่า 2 คน ซึ่งยอมรับว่าจะรู้เฉพาะบอร์ดชุดนี้เท่านั้น”
ขณะเดียวกันการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเป็นกรรมการในคณะกรรมการชุดต่างๆ ในการทำหน้าที่ แต่ก็มีการกำหนดบทลงโทษกรรมการ ผู้ว่าการ พนักงาน ลูกจ้างที่เปิดเผยความลับต่อบุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกับบุคคลภายนอกที่เปิดเผยความลับก็มีความผิดเช่นกัน
นอกจากนี้ หากกรรมการ ผู้ว่าการ พนักงาน หรือลูกจ้างเบียดบังทรัพย์สินโดยทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่บังคับหรือจูงใจบุคคลอื่นให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ เพื่อให้ทำหรือไม่ทำหน้าที่ รวมถึงการทำหรือไม่ทำหน้าที่ โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ตนเรียกหรือรับก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่นั้น และใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ทำให้ธปท.เสียหายจะต้องระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือปรับ 500,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น