xs
xsm
sm
md
lg

การประกันตัวในชั้นศาล

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ไม่มีผู้ใดอยากตกเป็นจำเลยโดยเฉพาะคดีอาญา เพราะเมื่อนึกถึงคำว่า “จำเลย” นอกจากจะให้ความรู้สึกที่น่าสะพรึงกลัว เป็นที่ระแวงสงสัยของสังคมแล้วยังทำให้นึกถึงภาพการถูกควบคุมตัวหรือการกักขัง ซึ่งทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องสูญเสียเสรีภาพ

แต่หากตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้ว จะทำอย่างไรเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่ากระทำความผิดจริงหรือไม่

สิทธิการได้รับการประกันตัว

รัฐธรรมนูญได้กำหนดหลัก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีอาญาอาจได้รับก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ ไว้ในมาตรา 39 โดยกำหนดว่า “…ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อผู้นั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้” อีกทั้งในมาตรา 40 (7) ยังกำหนดว่า “ ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างพอเพียง การตรวจสอบหรือรับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยชั่วคราว…”

จากหลักกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้จำเลยมีสิทธิได้รับการ การประกันตัวได้ เพื่อมิให้จำเลยถูกควบคุมหรือกักขังนานเกินความจำเป็นในระหว่างพิจารณาคดี

การร้องขอให้ศาลปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวนั้นกระทำได้ไม่ว่าในระหว่างฝากขัง หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกา

ใช้อะไรเป็นหลักประกัน

หลักประกันที่ใช้ในการขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว
ได้แก่ เงินสด หรือ หลักทรัพย์อื่น เช่น ที่ดินมีโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก.), พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคาร ผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว หรือเช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือเช็คที่ธนาคารรับรองแล้ว เงินฝากธนาคาร หนังสือค้ำประกันหรือหนังสือรับรองของธนาคารหนังสือรับรองของบริษัทประกันภัย หรือที่เรียกกันว่า “การประกันภัยอิสรภาพ” ผู้ประสงค์จะซื้อสามารถติดต่อขอซื้อประกันภัยอิสรภาพได้ที่บริษัทประกันภัยโดยบริษัทจะออกกรมธรรม์และหนังสือรับรองให้ตามจำนวนเงินเอาประกันภัย

นอกจากเงินสดและหลักทรัพย์อื่นแล้ว ยังสามารถใช้บุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันได้ เช่น

การใช้ตำแหน่งประกัน

ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารราชการส่วนท้องถิ่น พนักงานบริหารองค์การส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานของรัฐประเภทอื่นๆ ลูกจ้างของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารพรรคการเมือง และทนายความ สามารถใช้ตนเองเป็นหลักประกันได้โดยต้องมีหนังสือรับรองจากต้นสังกัดแสดงฐานะตำแหน่งและระดับเงินเดือน โดยสามารถทำสัญญาประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ผู้ที่จะใช้ตำแหน่งประกันนั้นจะต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บิดา มารดา บุตร สามี ภริยา ญาติพี่น้อง นายจ้าง ผู้บังคับบัญชา หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควร

การใช้ตนเองเป็นหลักประกันของผู้ประกอบวิชาชีพ

ผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร อาจใช้ตนเองเป็นหลักประกันได้ หากการตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเกิดขึ้นจากการที่ตนปฏิบัติหน้าที่หรือการปฎิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น

และหากข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ให้ส่วนราชการสามารถร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา ที่กำหนดว่าหากจำนวนเงินที่ระบุในหนังสือรับรองหรือคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวเพียงพอแล้ว ควรถือว่าหนังสือรับรองหรือคำร้องนั้นเป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้

นอกจากนี้ในกรณีที่ความผิดไม่ร้ายแรง ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้บิดา มารดา เป็นผู้ร้องขอประกันบุตรโดยไม่ต้องมีหลักประกัน

สำหรับกรณีที่กรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วน พนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลใดตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย นิติบุคคลนั้นสามารถเป็นหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวได้

วงเงินที่ใช้ในการประกัน

หลักการสำคัญในการสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คือ ต้องพิจารณาสั่งอย่างรวดเร็วและจะเรียกประกันจนเกินแก่กรณีไม่ได้ ซึ่งการจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่เป็น ดุลพินิจของศาลโดยแท้ ซึ่งหากศาลเห็นสมควรให้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว วงเงินประกันมีแนวทางกำหนดไว้ในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังนี้

คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้โดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีหลักประกันให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ให้ระบุเหตุนั้นไว้โดยชัดแจ้ง

คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี การอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ได้ แต่วงเงินประกันต้องไม่สูงเกินสมควร ในคดีปกติที่ไม่มีพฤติการณ์เป็นอย่างอื่นการกำหนดวงเงินให้เป็นไปตามนี้

คดีที่มีโทษจำคุก แต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วยให้กำหนดวงเงินประกันโดยถือเกณฑ์ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อระวางโทษจำคุก 1 ปี

คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต ให้กำหนดวงเงินประกันไม่เกิน 600,000 บาท

สำหรับคดีที่มีโทษประหารชีวิต ให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 800,000 บาท

การปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกา กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปีไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน แต่วงเงินประกันไม่ควรสูงเกินกว่า 100,000 บาท

สำหรับจำเลยที่ถูกพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกันนั้นหากศาลเห็นสมควรอาจกำหนดวงเงินให้สูงขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ก็ได้ แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันต้องอาศัยเหตุผลตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมายเท่านั้น เช่น คดีมีอัตราโทษสูงหากปล่อยตัวไปเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงให้ยกคำร้อง เป็นต้น และต้องแจ้งเหตุผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ร้องขอประกันทราบโดยเร็ว

การสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีเงื่อนไข

เมื่อศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวแล้ว หากเกรงว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี หรือ เกรงว่าจะเกิดภัยอันตรายหรือความเสียหายจากการปล่อยชั่วคราว ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวไว้ก็ได้

เงื่อนไขที่ว่านี้มีหลายรูปแบบตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีๆไป อาจเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำหนดที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย เงื่อนไขที่กำหนดให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานตามที่ศาลกำหนด เงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หรือเงื่อนไขที่กำหนดให้ละเว้นกิจกรรมบางอย่างที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นอีก เป็นต้น แต่การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวศาลจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ประกันเกินความจำเป็นแก่กรณีไม่ได้

เมื่อสัญญาประกันสิ้นสุดลง เช่น ผู้ขอประกันร้องขอถอนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว หรือเมื่อศาลมีคำสั่งขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลจะมีคำสั่งคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกัน

แต่หากผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยใช้ประกันภัยอิสรภาพเป็นหลักประกันศาลจะมีคำสั่งให้ปรับตามสัญญาประกันและต้องจ่ายค่าปรับต่อศาลภายใน 30 วัน

ส่วนการผิดสัญญาประกันจากการที่ผู้ประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยตามนัดศาลจะมีคำสั่งปรับผู้ประกันและผู้เป็นหลักประกันเต็มตามสัญญา ให้ผู้ประกันและผู้เป็นหลักประกันนำเงินค่าปรับมาชำระต่อศาลภายใน 30 วัน และหมายจับผู้ต้องหา

ในกรณีที่ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ประกันตายก่อนผิดสัญญาหรือผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในวันนัดได้เนื่องจากผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกจับหรือถูกคุมขังในคดีอื่นอยู่ก่อนแล้ว ไม่เป็นการผิดสัญญาประกัน

เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวควรปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขที่ศาลกำหนดโดยเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้ต้องเสียทั้งเงินและเสรีภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น