xs
xsm
sm
md
lg

เคาะไฟ 13 ก.พ.ส่งสัญญาณ ขึ้นครั้งแรกในรอบ17 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- จับตาค่าไฟจ่อขึ้นก.พ.นี้ครั้งแรกรอบ 17 เดือน “ณอคุณ” เคาะตัวเลข 13 ก.พ.นี้ “ปิยสวัสดิ์” ชี้ทุกอย่างสะท้อนตามต้นทุนยันไร้การเมืองแทรกแซง ขณะที่วิตกโรงไฟฟ้าถ่านหินกฟผ.ส่อถอดใจสร้างหันไปลงทุนที่เกาะกงแทนซึ่งค่าไฟจะแพงกว่าสร้างในประเทศ

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าและบริการ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการฯจะพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในรอบก.พ.-พ.ค. 2551 วันที่ 13 ก.พ.นี้โดยยอมรับว่าแนวโน้มจะต้องปรับขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากราคาก๊าซได้ปรับเพิ่มขึ้น 10 บาทต่อล้านบีทียู แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาทต่อเหรียญสหรัฐจะมีผลให้ค่าไฟลดลง 3 สตางค์ต่อหน่วยก็คงจะต้องมาพิจาณราด้วยแต่คาดว่าคงจะมีผลไม่มากนัก

“ แนวโน้มค่าไฟคงจะขึ้นแต่จะเป็นตัวเลขเท่าใดต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง เพราะช่วง 3 เดือนข้างหน้าก็ยังเป็นห่วงเพราะเป็นช่วงหน้าร้อนปกติจะใช้ไฟมากแล้วก็ต้องใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าเสริม ก็จะต้องไปดูการบริหารจัดการก่อน”นายณอคุณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากค่า Ft งวดนี้ปรับขึ้นจะเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 17 เดือน โดยค่าเอฟทีตั้งแต่ ต.ค.49-ม.ค. 50 ปรับลด 7.02 สตางค์ต่อหน่วยรอบ ก.พ.-พ.ค. 50 ปรับลดลงอีก 5 สตางค์ต่อหน่วย รอบมิ.ย.-ก.ย.50 ปรับลดอีก 5 สตางค์ต่อหน่วย รอบต.ค.50-ม.ค. 51 ปรับลด 2.31 สตางค์ต่อหน่วย รวมลดถึง 19.33 สตางค์ต่อหน่วย

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่า Ft มีแนวโน้มสูงขึ้นตามทิศทางราคาพลังงานซึ่งแม้ว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาบริหารทุกอย่างก็จะสะท้อนตามสูตรอัตโนมัติอยู่แล้วจึงไม่เกี่ยวกับการเมืองที่จะมาสั่งตรึงแต่อย่างใด ส่วนกรณีการแทรกแซงราคาน้ำมัน คาดว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่คงจะไม่ดำเนินการเพราะสมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลต้องใช้เงินไปกว่า 90,000 ล้านบาท ในที่สุดประชาชนก็เป็นผู้ใช้หนี้และการบริโภคน้ำมันสูงกว่าที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตามยอมรับว่างานด้านไฟฟ้ามีความน่าเป็นห่วงซึ่งขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เองก็เริ่มถอดใจที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะคนไทยยังไม่ยอมรับทางเลือกพลังงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งในที่สุด กฟผ.คงต้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเกาะกงของกัมพูชาที่อาจเข้าไปร่วมทุนด้วย ซึ่งต้นทุนจะสูงกว่าการซื้อในประเทศและการจ้างงาน รวมทั้งด้านอื่น ๆ ในประเทศก็จะสูญเสียไป แต่ไม่ว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าในกัมพูชาหรือไทย เชื้อเพลิงถ่านหินก็จะต้องนำเข้าจากประเทศอื่นทั้งสิ้น

สำหรับการเจรจานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) คาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้หลังปี 2554 เป็นต้นไป แต่ราคาจะต้องสูง เพราะเป็นราคาในตลาดจร โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จะมีการลงนามข้อตกลงเบื้องต้นการรับซื้อก๊าซแอลเอ็นจีกับกาตาร์ แต่ได้ปริมาณเพียง 900,000 ตัน และราคาเป็นการอ้างอิงตลาดญี่ปุ่น (เจซีซี) ซึ่งมีราคาสูงประมาณ 9-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
กำลังโหลดความคิดเห็น