xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” ยอมรับค่าไฟฟ้าวิกฤต โยกเงินกองทุนน้ำมันฯ 3.3 พัน ล.รณรงค์ประหยัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.พลังงาน ชี้ผลกระทบน้ำมันแพง ทำต้นทุนไฟฟ้าพุ่ง อาจต้องปรับขึ้นค่าเอฟทีอีกรอบ งัดโครงการประหยัดพลังงานใช้หลอดผอมเบอร์ 5 ประเดิมใช้ในหน่วยงานราชการ-โรงงานอุตสาหกรรม พร้อมโยกเม็ดเงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน พร้อมอัดเม็ดเงินทันที 3.3 พันล้าน ลุ้นค่าเอฟทีปรับขึ้น 6 สต./หน่วย 14 ก.พ.นี้

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงภาวะวิกฤตต้นทุนไฟฟ้าซึงกำลังได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง โดยระบุว่า รัฐบาลกำลังคิดแผนเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตที่กำลังจะเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้ โดยจุดเริ่มต้นคงต้องเน้นที่มาตรการประหยัดการใช้พลังงาน ทั้งนี้ ทางกระทรวงได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการเครือข่ายร่วมลดโลกร้อน ด้วยหลอดผอมใหม่เบอร์ 5 โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานระหว่างปี 2551-2555 สนับสนุนงบรวม 3.3 พันล้านบาท รณรงค์ให้หน่วยงานราชการ โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทที่ใช้พลังงานมากเปลี่ยนมาใช้หลอดผอมใหม่เบอร์ 5 จำนวน 200 ล้านหลอด ซึ่งจะลดการใช้พลังงานได้ 30-40% จากการใช้ไฟปกติ หรือคิดเป็นเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท/ปี

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง ก่อนจะกระจายไปยังระดับบ้านเรือนทั่วไป โดยเบื้องต้น คาดว่า จะลดการนำเข้าเชื้อเพลิงมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5 ล้านตันต่อปี

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าวว่า กฟผ.จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ก่อน หลังจากนั้น อาจให้แบ่งชำระเป็นรายเดือนภายใน 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย โดยเบื้องต้นมีหน่วยงานเข้าร่วมลงนามแล้ว 32 องค์กร

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.นี้ กระทรวงพลังงานได้โยกเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไปยังกองทุนอนุรักษ์พลังงานสำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้า ทั้งในส่วนของดีเซล เบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันภายในประเทศ ขณะนี้กระทรวงพลังงานติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวขึ้นสูงสุดแตะที่ระดับ 112 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่น้ำมันเบนซินอยู่ที่ 107 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ซึ่งขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มอ่อนตัวลงมา แต่ถือว่าทรงตัวในระดับสูง ดังนั้น ผู้ใช้น้ำมันต้องตระหนักและใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนนโยบายที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ เข้ามาอุดหนุนนั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระหนี้ แต่อาจทำได้ด้วยวิธีการลดภาษีสรรพสามิต แต่ก็จะมีผลกระทบทำให้รายได้ของภาครัฐหายไป

ก่อนหน้านี้ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) กล่าวว่า ค่าไฟฟ้างวดใหม่ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.- มี.ค. นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะปรับขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้า ปรับขึ้นถึง 11 บาท/ล้านบีทียู

“การเปลี่ยนแปลงของราคาก๊าซทุก 10 บาท จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าประมาณ 6 สตางค์ต่อหน่วย แต่ครั้งนี้ค่าไฟฟ้าจะขึ้นถึง 6 สตางค์หรือไม่ ยังระบุไม่ได้ ต้องรอหารือวันที่ 14 ก.พ.นี้”

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การจัดทำตัวเลขค่าเอฟทีเดือน ก.พ.-พ.ค.เบื้องต้นค่าเอฟทีมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 3-4 สตางค์/หน่วย ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นการประเมินจากราคาเชื้อเพลิง แต่ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่น ค่าเงินบาท และการนำเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ที่มีต้นทุนถูกกว่ามาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น