xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

วิเคราะห์ปัญหาเครื่องบินถึงดีเลย์

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ปัจจุบันเครื่องบินดีเลย์นับเป็นปัญหาใหญ่ของการขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความไม่สะดวกต่อผู้โดยสารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ในปี 2550 ปัญหาเครื่องบินดีเลย์ หรือการที่เครื่องบินบินถึงจุดหมายปลายทางล่าช้าเกินกว่า 15 นาที คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเที่ยวบินทั้งหมด และส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของสายการบินของสหรัฐฯ มากถึงปีละ 200,000 ล้านบาท ทั้งในรูปเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงของพนักงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดหาที่พักและอาหารสำหรับผู้โดยสาร รวมถึงต้องสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น เนื่องจากต้องคงจำนวนเที่ยวบินเท่าเดิมเอาไว้

สำหรับสาเหตุของปัญหาการดีเลย์ของเครื่องบินมีหลายประการ

ประการแรก ปัญหาที่อยู่เหนือการควบคุม โดยเฉพาะในเรื่องของสภาวะอากาศ เช่น หมอก หิมะ พายุ ฯลฯ ทำให้เครื่องบินไม่สามารถร่อนลงหรือบินขึ้นจากท่าอากาศยานทั้งในส่วนต้นทางหรือปลายทางได้

ประการที่สอง ปัญหาจากสายการบินพยายามใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยกำหนดให้บินขึ้นภายในเวลา 30 นาที นับจากบินถึงจุดหมายปลายทาง ไม่มีเวลาสำรองเอาไว้ ดังนั้น หากเที่ยวบินใดเที่ยวบินหนึ่งดีเลย์ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเที่ยวบินอื่นๆ ของเครื่องบินลำนั้นต้องดีเลย์ตามไปด้วย

เพื่อแก้ไขปัญหา ปัจจุบันสายการบินของสหรัฐฯ ได้เพิ่มเวลาเดินทางของเที่ยวบิน (Travel Time) ให้ยาวนานขึ้น เป็นต้นว่า เที่ยวบินจากนครดัลลาสและนครฮุสตัน เดิมกำหนดเอาไว้ 55 นาที ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1 ชั่วโมง หรือกรณีของเที่ยวบินระหว่างนครบอสตันและนครฟิลาเดลเฟีย ได้เพิ่มจากเดิม 80 นาที เป็น 86 นาที เพื่อสำรองเวลาให้ถึงจุดหมายปลายทางตามกำหนด อย่างไรก็ตาม แม้ตามสถิติแล้วการเพิ่ม Travel Time จะทำให้เที่ยวบินไม่เกิดการดีเลย์ แต่ความจริงแล้วนับเป็นการปกปิดปัญหาการดีเลย์เอาไว้ จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

ประการที่สาม ปัญหาของท่าอากาศยานซึ่งมีรันเวย์จำกัด ทำให้เครื่องบินต้องต่อคิวหลายลำกว่าจะบินขึ้นได้ เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่าท่าอากาศยานควรมีมาตรการจูงใจให้สายการบินหันมาใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสนามบินให้รองรับผู้โดยสารมากขึ้น รวมถึงก่อสร้างรันเวย์เพิ่มเติม

อนึ่ง ท่าอากาศยานบางแห่งได้จูงใจให้ไปใช้ท่าอากาศยานอื่นที่อยู่ใกล้เคียง เป็นต้นว่า บริษัท BAA ซึ่งเป็นเจ้าของท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรุงลอนดอน ประสบปัญหาท่าอากาศยานฮีทโธรว์และท่าอากาศยาน Gatwick แออัดอย่างมาก จึงจูงใจให้ไปใช้ท่าอากาศยาน Stansted ซึ่งอยู่ใกล้เคียง โดยเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราต่ำ ส่งผลทำให้สายการบินต้นทุนต่ำสนใจไปใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้จำนวนมาก

ประการที่สี่ ปัญหาสายการบินต่างๆ ยังนิยมจัดเที่ยวบินให้กระจุกตัวในช่วง Rush Hour ที่ผู้โดยสารนิยมใช้บริการ เป็นต้นว่า ท่าอากาศยาน JFK ของนครนิวยอร์ก มีการกระจุกตัวของเที่ยวบินมากกว่า 90 เที่ยว/ชั่วโมง ในช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็นของแต่ละวัน ทำให้เกิดปัญหาเที่ยวบินดีเลย์จำนวนมากในช่วงดังกล่าว

ส่วนกรณีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย กลับตรงกันข้าม เที่ยวบินจะกระจุกตัวในช่วงกลางคืน เนื่องจากเที่ยวบินระหว่างประเทศไปยังทวีปยุโรปนิยมใช้บริการในช่วงดังกล่าวเป็นอย่างมาก เพราะสามารถพักผ่อนนอนหลับในเครื่องบินและเดินทางไปถึงทวีปยุโรปในช่วงเวลาเช้าพอดี

เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะว่าท่าอากาศยานจะต้องใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ โดยเก็บค่าธรรมเนียมสนามบินตามระยะเวลา (Variable Landing Fees) โดยหากเที่ยวบินที่ให้บริการในช่วงแออัด ก็จะต้องเก็บค่าธรรมเนียมสนามบินเพิ่มขึ้น หรือมิฉะนั้น ก็ให้สายการบินประมูลเพื่อให้ได้รับโควตาเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอข้างต้นได้รับการต่อต้านจากบรรดาสายการบินที่มีเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยกำหนดให้ท่าอากาศยาน JFK ลดจำนวนเที่ยวบินลงเหลือไม่เกิน 82 - 83 เที่ยวบิน/ชั่วโมง นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นไป

ประการที่ห้า ความนิยมใช้เครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยิ่งส่งผลให้ปริมาณการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น แม้เครื่องบินแบบนี้จะใช้สนามบินขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนมากกว่า 5,000 แห่งในสหรัฐฯ ไม่เน้นใช้สนามบินขนาดใหญ่ 450 แห่ง ที่ใช้บริการโดยสายการบินต่างๆ แต่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบวิทยุการบินซึ่งมีความสามารถจำกัด

แม้หน่วยงานการบินพลเรือนของสหรัฐฯ จะมีแผนเก็บค่าบริการในด้านวิทยุการบินจากเครื่องบินส่วนตัวเพิ่มขึ้น เพื่อสะท้อนถึงต้นทุนในการให้บริการ เนื่องจากเครื่องบินส่วนตัวขนาดเล็กจะมีต้นทุนการให้บริการมากพอๆ กับเครื่องบินจัมโบ้ที่มีขนาดใหญ่ แต่ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้กลับจ่ายค่าบริการเพียงแค่ 3% ขณะที่เป็นภาระในการให้บริการสูงถึง 16% ของทั้งหมด แต่ความพยายามนี้ได้รับการคัดค้านจากสมาคมผู้เป็นเจ้าของเครื่องบินส่วนตัว

เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดของวิทยุการบินดังกล่าวข้างต้นหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จีน ฯลฯ รวมถึงผู้ประกอบการลอจิสติกส์ด้านขนส่งทางอากาศชั้นนำของโลก คือ UPS และ FedEx ได้ปรับปรุงระบบวิทยุการบินเป็นแบบใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะระบบ GPS นำทางโดยดาวเทียม ซึ่งมีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง ทำให้เครื่องบินสามารถบินใกล้กันมากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถรองรับจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นับว่าทันสมัยกว่าระบบปัจจุบันที่ใช้ในสหรัฐฯ ซึ่งเน้นการใช้ระบบเรดาห์เป็นหลัก

ประการที่หก ปัญหาด้านบริหารจัดการของสายการบินเอง เป็นต้นว่า ต้องเสียเวลาซ่อมเครื่องบินมากกว่าปกติ ทำความสะอาดภายในเครื่องบินไม่ทัน เติมน้ำมันไม่ทัน นำอาหารขึ้นเครื่องบินไม่ทัน นักบินมาสนามบินไม่ทัน ฯลฯ

ประการที่เจ็ด ปัญหาความล่าช้าของผู้โดยสาร ซึ่งบางครั้งอาจจะชอปปิ้งภายในร้านค้าปลอดภาษีเพลิน ทำให้ขึ้นเครื่องบินช้า ซึ่งบางสายการบินมีนโยบายรอผู้โดยสารให้เต็มเครื่องก่อนขึ้นบิน แต่หากเป็นสายการบินต้นทุนต่ำบางแห่งแล้วจะไม่รอแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการใช้ประโยชน์จากเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับกรณีผู้โดยสารเดินทางถึงท่าอากาศยานล่าช้า เช็กอินล่าช้ากว่าเส้นตายที่กำหนด แต่พนักงานของสายการบินเห็นว่าน่าจะขึ้นเครื่องบินได้ทัน สายการบินบางแห่งจะมีพนักงานบางคนทำหน้าที่เป็น HAG (Have A Go) เพื่อช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารคนนั้นๆ เป็นกรณีพิเศษให้สามารถเดินทางไปถึงประตูเพื่อขึ้นเครื่องบินได้ทันตามกำหนด เพื่อป้องกันปัญหาเครื่องบินดีเลย์จากการรอคอยผู้โดยสารคนนั้นๆ

หากไม่ต้องการเผชิญกับปัญหาเครื่องบินดีเลย์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำหลายประการ

ประการแรก ควรเลือกเดินทางในเที่ยวบินช่วงเช้าตรู่ ซึ่งเป็นเที่ยวบินแรกของเครื่องบินลำนั้นๆ ซึ่งจะบินตรงเวลามากที่สุด เพราะไม่ได้รับผลกระทบต่อการดีเลย์ของเที่ยวบินอื่นๆ

ประการที่สอง พยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางในเที่ยวบินท้ายสุดของวัน เนื่องจากหากเกิดการดีเลย์ ทำให้ไม่สามารถต่อเที่ยวบินนั้นๆ ได้แล้ว ผู้โดยสารจะไม่สามารถหาเที่ยวบินอื่นไปยังจุดหมายปลายทางได้

ประการที่สาม พยายามหลีกเลี่ยงการใช้บริการท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่มีเที่ยวบินจำนวนมาก โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่มีสถิติในช่วงที่ผ่านมาว่ามีเที่ยวบินดีเลย์จำนวนมาก เป็นต้นว่า ท่าอากาศยาน O’Hare ของนครชิคาโก มีอัตราเครื่องบินดีเลย์สูงที่สุดในสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนสูงถึง 35.7% ของเที่ยวบินทั้งหมด รองลงมา คือ ท่าอากาศยาน JFK ของนครนิวยอร์ก สัดส่วนสูงถึง 34.2%

ประการที่สี่ เลือกเดินทางเที่ยวบินที่ Non Stop เนื่องจากหากเที่ยวบินยิ่งบินขึ้นบินลงสนามบินมากครั้งเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดปัญหาเครื่องบินดีเลย์มากขึ้นเท่านั้น แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องต่อเครื่องบินแล้ว จะต้องสำรองเวลาเพื่อเผื่อการดีเลย์ของเครื่องบินด้วย

ประการที่ห้า ศึกษาการดีเลย์ของเที่ยวบินนั้นๆ จากเว็บไซต์ต่างๆ โดยบางเที่ยวบินจะมีการดีเลย์เป็นประจำ เป็นต้นว่า สายการบิน Delta Connection เที่ยวบิน 5283 จากท่าอากาศยาน JFK ของนครนิวยอร์ก มายังท่าอากาศยานเรแกนของกรุงวอชิงตัน จะมีสถิติการดีเลย์เต็ม 100% โดยมีระยะเวลาดีเลย์เฉลี่ยมากถึง 1 ชั่วโมง 19 นาที ทั้งๆ ที่ระยะเวลาเดินทางเพียงแค่ 53 นาที เท่านั้น

ปัจจุบันสายการบินบางแห่งมีนโยบายจ่ายเงินชดเชยการดีเลย์ของเครื่องบิน เพื่อเป็นการขอโทษผู้โดยสาร เป็นต้นว่า สายการบิน JetBlue ได้ประกาศนโยบายเมื่อต้นปี 2550 ว่ากรณีเครื่องบินดีเลย์เนื่องจากความผิดของสายการบินแล้ว หากระยะเวลาดีเลย์ 1 - 2 ชั่วโมง จะให้ส่วนลด 25 เหรียญสหรัฐ สำหรับการซื้อตั๋วในอนาคต หากดีเลย์ 2 - 4 ชั่วโมง จะให้ส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็น 50 เหรียญสหรัฐฯ และหากดีเลย์เกิน 6 ชั่วโมง จะให้ส่วนลดเป็นมูลค่าเท่ากับตั๋วโดยสารที่ซื้อมา

ส่วนสายการบิน China Southern เที่ยวบิน CZ3200 จากท่าอากาศยานของนคร Lanzhou ไปยังกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550 เกิดปัญหาเครื่องบินขัดข้องก่อนออกเดินทาง ทำให้ผู้โดยสารมากกว่า 100 คน ต้องนั่งคอยที่ท่าอากาศยาน Lanzhou เป็นเวลายาวนานถึง 33 ชั่วโมง ก่อนที่สายการบินแห่งนี้จะนำเครื่องบินอีกลำไปรับผู้โดยสาร ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้โดยสารไม่ได้รับการดูแลจากสายการบินแห่งนี้แต่อย่างใด โดยให้เพียงบะหมี่สำเร็จรูปเท่านั้น สร้างความไม่พอใจแก่ผู้โดยสารเป็นอย่างมาก ในที่สุดสายการบินแห่งนี้ก็ยินยอมจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้โดยสารเป็นเงินคนละ 4,000 บาท

สุดท้ายนี้ สำหรับกรณีของประเทศไทยก็เริ่มประสบปัญหาเครื่องบินดีเลย์มากขึ้นนับตั้งแต่มีบริการสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งจะมีปัญหาเครื่องบินดีเลย์บ่อยครั้ง บางครั้งต้องดีเลย์เป็นเวลาหลายชั่วโมง เป็นต้นว่า กำหนดเวลาเดินทางต้องเปลี่ยนจากเที่ยงวันเป็นเที่ยงคืน กรมการขนส่งทางอากาศจึงได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับสิทธิของผู้โดยสาร โดยมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป

สำหรับกรณีใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ หากสายการบินปฏิเสธการขนส่ง ยกเลิกเที่ยวบิน และทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้เกินควร ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับการดูแลจากสายการบิน ซึ่งต้องชดเชยในรูปแบบต่างๆ เช่น ผู้โดยสารไม่ต้องเสียค่าโดยสาร หรือได้รับคืนค่าโดยสาร หรือเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินอื่นแทน หากสายการบินใดไม่ปฏิบัติตาม ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนมายังกรมการขนส่งทางอากาศได้

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่กองการตลาดเพื่อการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8163 หรือที่ marketing@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น