xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการเงิน : สหรัฐฯ ติดหล่มปัญหาเศรษฐกิจปัจจุบันได้อย่างไร (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด(มหาชน)
Bunluasak.pussarungsri@bankthai.co.th

ฉบับก่อนผมได้พูดถึงที่มาของปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯในปัจจุบัน ส่วนฉบับนี้จะกล่าวถึงปัจจัยอื่นๆ ที่แทรกซ้อนเข้ามาและทำให้ปัญหารุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯติดหล่มและดูท่าว่าจะยากต่อการแก้ไข

มีปัจจัยแทรกซ้อนหลายประการที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯทรุดตัวอย่างรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้าง ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ พัฒนาการของตลาดการเงิน รวมถึงการพัฒนาสินเชื่อประเภท Subprime การมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ตลอดจนการที่ครัวเรือนสหรัฐฯก่อหนี้เพิ่มอย่างมากในช่วงฟองสบู่ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนด้วยเงินทุนจำนวนมหาศาลจากเอเชียตะวันออกและตะวันออกกลางที่หลั่งไหลไปลงทุนในสหรัฐฯ

สาเหตุหลักที่ผลจากการแตกของฟองสบู่ที่อยู่อาศัยรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะสถาบันการเงินเพื่อการเคหะมีการพัฒนาสินเชื่อประเภทใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มเดิมที่มีฐานะการเงินและประวัติเครดิตดีไปสู่ลูกค้าที่มีคุณภาพด้อยกว่า ซึ่งเรารู้จักกันในชื่อว่าสินเชื่อ Subprime อันที่จริงสินเชื่อประเภทนี้มีมาก่อนฟองสบู่แต่มีมูลค่าต่ำเพราะมีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามการที่ตลาดที่อยู่อาศัยขยายตัวอย่างมาก จึงทำให้สถาบันการเงินเร่งปล่อยสินเชื่อรวมทั้งสินเชื่อ Subprime ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเก็งกำไร นอกจากนี้เพื่อจูงใจให้มีการกู้มากขึ้น สถาบันการเงินยังให้สินเชื่อประเภทคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำไว้ 2-3 ปีและปล่อยลอยตัวหลังจากนั้น มีการประเมินเบื้องต้นว่ามีสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่จะมีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปีนี้ ประกอบกับภาวะตลาดที่อยู่อาศัยที่ย่ำแย่ จึงคาดว่าอย่างน้อยประมาณกว่าครึ่งหนึ่งของผู้กู้จะไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้

การที่ปัญหาไม่จำกัดอยู่เฉพาะสถาบันการเงินเพื่อการเคหะแต่กระจายไปสู่สถาบันการเงินประเภทอื่นๆด้วย เพราะตลาดการเงินมีพัฒนาการมากขึ้น โดยมีการนำลูกหนี้โดยเฉพาะลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้อีกทอดหนี่ง เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Securitization (การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์) ส่งผลให้สถาบันการเงินอื่นๆ เช่น บริษัทประกัน ธนาคาร และกองทุนต่างๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าวจึงเท่ากับเป็นการลงทุนในตลาดที่อยู่อาศัยในทางอ้อมด้วย

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมการเงินแบบใหม่ ด้วยการนำตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมารวมกับตราสารหนี้และตราสารการเงินประเภทอื่นๆ เป็นก้อนใหญ่ กลายเป็นตราสารหนี้ประเภทใหม่ที่เรียกว่า Collateralized Debt Obligations (CDOs) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกที่จะซื้อ CDOs เป็นส่วนๆ ตามอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต้องการ ผลของกระบวนการดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงเกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยกระจายออกไปยังสถาบันการเงินอื่นๆแทนที่จะจำกัดอยู่เฉพาะสถาบันการเงินเพื่อการเคหะเท่านั้น

ปัจจัยทั้งหมดจึงทำให้เมื่อเกิดภาวะหนี้เสียในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ปัญหาจึงมีขนาดใหญ่และกระจายออกไปสู่สถาบันการเงินอื่นๆทั้งในและนอกสหรัฐฯ สำนักวิจัยหลายแห่งประมาณว่าความเสียหายจากหนี้เสียจะอยู่ที่ราว 650,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถ้ารวมภาระของผู้ออกตราสารอนุพันธ์ที่อิงกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความสูญเสียทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (อาจจะมีมูลค่าสูงกว่านี้ได้) ซึ่งสถาบันการเงินสหรัฐฯไม่ได้รับภาระทั้งหมด แต่กระจายไปสู่สถาบันการเงินต่างประเทศ เช่น Northern Rock ของอังกฤษ และ ANZ ของออสเตรเลีย เป็นต้น ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินทำให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินและภาวะสินเชื่อตึงตัว เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อแก่กันและยังระมัดระวังอย่างมากในการปล่อยสินเชื่อแก่เอกชนและธุรกิจอื่นๆ เศรษฐกิจสหรัฐฯจึงเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัยที่ทรุดตัวอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปีแล้ว

ภาวะฟองสบู่ยังทำให้ครัวเรือนสหรัฐฯ มีหนี้เพิ่มขึ้น โดยอาศัยโอกาสที่ราคาบ้านพุ่งขึ้น หลายครัวเรือนนำที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าตามราคาตลาดที่สูงขึ้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อการกู้เพิ่มขี้น (Mortgage Cash out) ธนาคารกลางสหรัฐฯและวาณิชธนกิจชั้นนำประเมินว่าสินเชื่อดังกล่าวมีมูลค่าถึงประมาณ 600,000 - 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี นอกจากนี้ครัวเรือนยังมีการก่อหนี้ประเภทต่างๆจำนวนมาก เช่น หนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ในปัจจุบันหนี้ของครัวเรือนสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 140 ของรายได้ จากเดิมที่ประมาณร้อยละ 100 ของรายได้ในปี 2545

การที่ครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลงและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย นอกจากนี้การก่อหนี้เพิ่มของครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการบริโภค จึงส่งผลให้สหรัฐฯมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนและนำไปสู่การขาดเสถียรภาพของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยิ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแย่ลง นอกจากปัญหาหนี้เสียในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยแล้ว หนี้เสียด้านอื่นๆ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาในอีกไม่ช้านี้

โดยปกติการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แสดงถึงการไม่เพียงพอของเงินออมในประเทศ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยของประเทศนั้นปรับตัวสูงขึ้นเพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ สหรัฐฯเป็นประเทศที่ขาดดุลต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน แต่จากการที่ประเทศในเอเชียตะวันออกและกลุ่มผู้ขายน้ำมันมีเงินออมเกินความต้องการจำนวนมาก และนำเงินดังกล่าวมาลงทุนในสหรัฐฯ ทำให้อุปทานเงินทุนในสหรัฐฯสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยจึงไม่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นการเอื้ออำนวยต่อการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยและเงินกู้อื่นๆ จนกระทั่งเกิดฟองสบู่ขึ้น

ปัจจัยทั้งหมดทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเหมือนกับติดหล่ม และมีแนวโน้มว่ามาตรการการเงินอย่างเดียวไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ มาตรการทางการคลังที่เพิ่งประกาศโดยประธานาธิบดีบุชก็ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ การลดอัตราดอกเบี้ยก็จะนำไปสู่การอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯที่กำลังไร้เสถียรภาพ และจะทำให้การระดมทุนทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันปัญหาสินเชื่อตึงตัวยังคงอยู่ การเพิ่มทุนและตัดหนี้สูญของสถาบันการเงินที่เผชิญปัญหา Subprime ยังต่ำกว่าความเสียหายจริงหลายเท่า ผมคิดว่าการออกจากหล่มเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ใช่ของง่ายนอกจากจะต้องใช้เวลาแล้วยังต้องใช้เงินมูลค่ามหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น