ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – สภาพัฒน์วาง 6 ยุทธศาสตร์รับแผนจังหวัด-กลุ่มจังหวัด แนะคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือ หอฯไทย ร่วมวางแนวทางสร้างมูลค่าเพิ่มเกษตรอินทรีย์-เกษตรประณีต พร้อมเร่งรัดพัฒนา Logistics รับการค้าในพื้นที่และการค้าชายแดน มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวรับเฉพาะกลุ่ม พร้อมเปิดเส้นทางเที่ยวใน GMS เร่งฟื้นชีพเขตเศรษฐกิจชายแดน สร้างขนส่งมวลชนเมืองใหญ่ โดยเฉพาะ BRT เชียงใหม่ให้แจ้งเกิดโดยเร็ว แต่ย้ำต้องไม่ลืมปัญหาสังคม แก้วิกฤตคนฆ่าตัวตาย-สวล.-ภัยธรรมชาติ
ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 รวมถึง พรฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่ง ครม.มีมติเมื่อ 8 มกราคม 2551 ที่บัญญัติในเรื่องการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในส่วนของจังหวัด กำหนดให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดยื่นคำของบประมาณได้ รวมทั้งกำหนดให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด – กลุ่มจังหวัด ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-ธุรกิจเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมนั้น
ในส่วนของหอการค้าฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ขึ้นที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ จ.ตาก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีนายวิโรจน์ จิรัฐติกาลโชต เป็นประธานฯ นายอนุดิษฐ์ ภูวเศรษฐ นายยุทธนา กาญจนวงศ์ชัย นายนิยม ไวรัชพานิช นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ และนายเอกชัย วงศ์วรกุล เป็นรองประธานฯ โดยมีประธานหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเป็นแกนนำในการประสาน-จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคของภาคเอกชน ให้สอดคล้องกับทิศทางของประเทศ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ทั้งรัฐ-เอกชน สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
การประชุมครั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้บรรยายพิเศษแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภาคเหนือ และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ว่า แนวทางที่ 1 ต้องสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของฐานการผลิตที่มีความหลากหลาย โดยภาคเหนือตอนบน เน้นเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เกษตรประณีต เกษตรปลอดภัย ในพืชผัก ไม้ผล ไม้ดอก และเมล็ดพันธุ์พืช / ภาคเหนือตอนล่าง เน้นเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีโดยเฉพาะ อุทัยธานี พิจิตร นครสวรรค์ สุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
นอกจากนี้ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ส่งเสริมการวิจัย-ต่อยอดผลิตภัณฑ์ เช่น ลำไย-พืชผัก ในเชียงใหม่ ลำพูน , ข้าวเหนียว ในเชียงราย พะเยา , โคเนื้อ ในพื้นที่ตาก อุทัยธานี นครสวรรค์ ,สุกร ไก่ ในเพชรบูรณ์ พิษณุโลก
พร้อมกับสนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ หัตถอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการสุขภาพ ในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องสร้างเครือข่ายธุรกิจ (Cluster) เพิ่มเขตประกอบการอุตสาหกรรมในลำพูน – ชายแดนแม่สอด จ.ตาก และอ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมทั้งผลักดันให้เกิดการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
แนวทางที่ 2 ต้องยกระดับการค้าและบริการให้ได้มาตรฐาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสตลาด โดยมุ่งเน้นพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบลอจิสติกส์( Logistics )สนับสนุนการค้า – การค้าชายแดน โดยเฉพาะเชียงใหม่ - ลำพูน ,เชียงราย และตาก /พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ธุรกิจประชุมสัมมนา(MICE )ในเชียงใหม่ , ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ ,การท่องเที่ยวพำนักระยะยาวในเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย
รวมถึงการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง( GMS) เช่น เส้นทางลำน้ำโขง หยุนหนัน-เชียงราย-หลวงพระบาง ตลอดจนการพัฒนากลุ่มพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น กลุ่มอุทยานประวัติศาสตร์พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร , กลุ่มวัฒนธรรมล้านนา เป็นต้น
แนวทางที่ 3 มุ่งพัฒนาเมืองศูนย์กลางความเจริญและเมืองชายแดน รองรับการเชื่อมโยงระดับนานาชาติ ด้วยการวางแผนแม่บท-แผนบริหารจัดการเมืองศูนย์กลางความเจริญ ได้แก่ เชียงใหม่-ลำพูน ,เชียงราย พิษณุโลก นครสวรรค์ และเมืองชายแดนอย่างมีบูรณาการ ต้องเร่งรัดทุกโครงการภายใต้โครงการเขตเศรษฐกิจชายแดน รองรับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจชายแดน อ.เชียงแสน –อ.เชียงของ จ.เชียงราย อ.แม่สอด จ.ตาก และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองใหญ่ โดยเฉพาะการเร่งรัดก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนแบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ BRT) ในตัวเมืองเชียงใหม่ โดยเร็ว
แนวทางที่ 4 ต้องพัฒนาคนและสังคมให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านสุขภาพอนามัยที่มีความเสี่ยงสูง ตั้งแต่ระดับสุขภาพแม่และเด็ก – แก้ปัญหาสุขภาพจิต (ฆ่าตัวตาย) ในลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ตาก กำแพงเพชร รวมถึงพฤติกรรมเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในเชียงใหม่ ลำพูน – ลดปัญหา ธาลัสซีเมียในแม่ฮ่องสอน ลำพูน เชียงราย ตลอดจนพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานในพื้นที่ให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องเร่งรัดการจัดระบบแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย และตาก
แนวทางที่ 5 เร่งรัดพัฒนาศักยภาพของสถาบันครอบครัวและชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
แนวทางที่ 6 ต้องบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เน้นอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างสมดุล รวมถึงเตรียมตัวป้องกันและรับมือภัยธรรมชาติ
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอฯเชียงใหม่,รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ ประจำปี 2550-2551 ระบุว่า เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 50 ที่มุ่งให้จังหวัด-กลุ่มจังหวัดวางยุทธศาสตร์ แล้วนำมารวมกันเป็นแผนชาติ และในปี 52 ก็จะต้องบริหารจัดการงบพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์แต่ละกลุ่ม
ประเด็นสำคัญก่อนที่จะถึงจุดนั้น “ฝ่ายปกครอง” ต้องเปลี่ยนทัศนคติครั้งใหญ่ จาก “ผู้ปกครอง” ต้องเป็น “ผู้ประสานงาน” เพื่อดึงศักยภาพจากแต่ละภาคส่วนในสังคมมาทำงาน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลการพัฒนาสาธารณูปโภค อันเป็นแนวทางต่อยอดการกระจายอำนาจจาก รธน.40