xs
xsm
sm
md
lg

โยนวุ่นชี้ขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการสรรรหา ส.ว. อ้างยังไม่มีอำนาจตีความว่า ส.ว. ชุดปี 43 ที่เป็น สนช.ปัจจุบัน สามารถลงสมัคร ส.ว หรือไม่ ต้องรอ กกต.ชี้ขาด ขณะที่ กกต. โยนกลับคณะกรรมการสรรหาฯ อ้าง กม.ให้อำนาจ กกต. แค่รวบรวมรายชื่อแล้วเสนอเท่านั้น ด้านสนช. กว่า 10 คน เตรียมลาออก หลังถูกเสนอชื่อ สรรหา ส.ว. "มีชัย" เตือนไม่ต้องรีบร้อนลาออก ให้รอความชัดเจนจาก กกต.ก่อน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสรรหา ส.ว. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ว่าได้มีการรายงานความคืบหน้าของการเสนอรายชื่อ ซึ่งล่าสุดมีองค์กรที่ร่วมเสนอ 483 องค์กร จำแนกเป็น องค์กรเอกชน 154 องค์กร องค์กรวิชาการ 37 องค์กร องค์กรภาครัฐ 23 องค์กร องค์กรวิชาชีพ 62 องค์กร และภาคอื่นๆ 130 องค์กร ซึ่งที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น 5 ชุด เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติขององค์กรที่เสนอชื่อ และจะมีคณะอนุกรรมการประสานงานขึ้นมาอีกหนึ่งชุด เพื่อทำหน้าที่ประสานกับอนุกรรมการแต่ละชุดกับคณะกรรมการสรรหา และหลังวันที่ 17 ม.ค. จะเสนอรายชื่อเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันที่ 21 ม.ค. เพื่อเสนอให้คณะกรรมการสรรหาต่อไป ซึ่งคณะกรรมการสรรหา จะมีเวลาพิจารณา 30 วัน นับแต่วันที่ได้เสนอชื่อ และจากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะส่งคัดเลือกผู้ที่ได้รับการสรรหาทั้ง 74 คน ภายในวันที่ 19 ก.พ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก มี อดีตส.ว. ชุด ปี 2543 ซึ่งรัฐธรมนูญห้ามเป็นส.ว. ชุดใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญติแห่งชาติ(สนช.)ในขณะนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดห้ามเอาไว้ จะมีคุณสมบัติเข้ารับการสรรหาหรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการสรรหาบางคนมองว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสมัคร ซึงคณะกรรมการสรรหาจะมีอำนาจหน้าที่การพิจารณาก็ต่อเมื่อได้รับรายชื่อแล้วจึงมอบให้ ประธาน กกต.ไปช่วยดำเนินการ ซึ่ง กกต.จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ในช่วงบ่าย (16 ม.ค.)

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คณะกรรมการสรรหาได้หารือหรือไม่ว่า จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ไม่มี แต่ฝ่ายเลขานุการมองกันว่าเป็นปัญหาที่ต้อมีการตีความรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะไปถึงขั้นที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ เพราะการจะส่งศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นเรื่องที่องค์กรนั้นๆ มองว่า เป็นปัญหา แต่ขณะนี้ยังไมได้มองไปถึงจุดนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากให้ กกต. เป็นผู้ตีความ หากผู้เสียหายเห็นว่าตีความไม่ถูก จะฟ้องร้องใครระหว่างคณะกรรมการสรรหา และ กกต. เลขาธิการ กกต.กล่าวว่าใครที่มีผลกระทบทางกฎหมายก็สามารถใช้สิทธิตามช่องกฎหมายได้อยู่แล้ว

เมื่อถามต่อว่า หากจะต้องส่งตีความใครจะเป็นผู้ส่ง ระหว่าง กกต. กับคณะกรรมการสรรหา นายสุทธิพลกล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาเห็นว่า ตนเองเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่ในเรื่องของการสรรหาที่ตรงนี้ต้องมาดูเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้จะส่งเรื่องได้ ต้องเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมา นายสุทธิพล เปิดเผยถึงการประชุม กกต. ว่า ได้มีการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว.มอบหมายให้พิจารณาว่า ผู้ที่เป็น สนช. จะสามารถยื่นสมัครรับการสรรหาเป็น ส.ว.ได้หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณา พ.ร.บ. เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ที่บัญญัติว่า ให้ กกต.มีหน้าที่รวบรวมรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อและเสนอต่อกรรมการสรรหาเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นว่า หากผู้ที่เป็นสนช. จะมายื่นสมัคร ก็จะรับไว้ และรวบรวมข้อมูลต่างๆเสนอให้ กก.สรรหาพิจารณาตาม มาตรา 130 ของพ.ร.บ.เดียวกัน แต่ทั้งนี้ ในชั้นของอนุกรรมการ กลั่นกรอง ก็อาจจะมีการตั้งข้อสังเกต และนำข้อสังเกตดังกล่าว เสนอต่อ กก.สรรหาด้วย

"ขอเรียนกับผู้ที่เป็น สนช. และต้องการสมัครเป็นส.ว.ครั้งนี้ว่า ขณะนี้มีแนวความคิดเป็น 2 ทาง คือ เห็นว่าถ้าจะมาสมัคร ก็ต้องยื่นลาออก และอีกทางคือไม่ต้องยื่นลาออก เพราะฉะนั้น ผู้สมัครก็ต้องพิจารณาเอาเอง"นายสุทธิพล กล่าว

ด้าน นายประวิง คชาชีวะ รองเลขาธิการกกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า หลัง พ.ร.ฎ เลือกตั้ง ส.ว. มีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จะเปิดรับสมัครในวันที่ 21-25 ม.ค.นี้ โดยในส่วนของ กทม.จะใช้หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซ. อารีย์ เป็นสถานที่รับสมัคร ส่วนในจังหวัดต่างๆ จะใช้ศาลากลางจังหวัด เป็นที่รับสมัคร อย่างไรก็ตาม นับแต่วันที่ กกต.เปิดให้องค์กรต่างๆ ได้เสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น ส.ว ต่อคณะกรรมการสรรหา จนถึงขณะนี้มีผู้ประสงค์เข้ารับการสรรหาทั้งสิ้น 736 คนแล้ว โดยในวันนี้ ( 17 ม.ค. ) จะเป็นวันสุดท้ายของการเปิดรับการเสนอชื่อ

"มีชัย"เตือน สนช.อย่าเพิ่งลาออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วานนี้มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธาน ก่อนเข้าวาระการประชุม นายมีชัย ได้แจ้งต่อที่ประชุม กรณี สมาชิก สนช. ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะของสนช. หลังจากที่มีการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ว่า ความเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และความเป็นสมาชิกสนช. ยังคงมีอยู่ตราบเท่าที่ยังทำหน้าที่ โดย สนช.จะไปทำหน้าที่วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่ชื่อยังคงใช้ชื่อ สนช. เหมือนเดิม และยังใช้ข้อบังคับการประชุม สนช.ได้ต่อไป รวมถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการ และกิจการใดๆ สามารถทำได้จนกว่า ส.ว.ชุดใหม่จะเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งเข้าใจว่า อย่างเร็วที่สุดคือ วันทื่ 3 มี.ค. ส่วนรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาคาดว่า น่าจะเปิดประชุมได้ในวันที่ 21 หรือ 22 ม.ค. ซึ่ง สนช.ในฐานะเป็นสมาชิก ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อไปร่วมรัฐพิธี โดยการแต่งกายให้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ

ส่วนสมาชิก สนช. ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ที่มีข้อสงสัยว่า จะต้องลาออกจาก สนช.หรือไม่ ซึ่งตนได้โทรศัพท์ไปสอบถามกับประธาน กกต. ว่า จำเป็นต้องลาออกจาก สนช.หรือไม่ ซึ่งประธาน กกต.ได้หารือกับ กกต.อีก 2 คน ได้ความว่า ไม่จำเป็นต้องลาออก

ดังนั้น หลายคนที่ได้ทำหนังสือลาออก ก็ไม่ต้องแล้ว แต่ก็ยังมีสมาชิกได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ว่า จะต้องลาออก ดังนั้นตนจึงได้ทำหนังสือถึง กกต. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหาก กกต.เปลี่ยนความคิดว่า ต้องลาออก จึงขอให้เปิดโอกาสให้ สนช.ที่ได้รับการเสนอชื่อได้ส่งเอกสารการลาออกเพิ่มเติมภายหลังได้

อย่างไรก็ตาม ทาง กกต.ได้มีการสอบถามไปยังคณะกรรมการการสรรหา ส.ว.ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหา ส.ว.ว่า มีคุณสมบัติอย่างไร แต่ทางกรรมการสรรหาตอบกลับว่า กกต.จะเป็นผู้พิจารณาเรื่องคุณสมบัติเอง ซึ่ง กกต.จะพิจารณาเรื่องนี้ในบ่ายวันที่ 16 ม.ค. และจะตอบกลับมายังตนอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสมาชิกที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว. กว่า 10 คนเช่น นายประมนต์ สุธีวงศ์ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน นายตวง อันทะไชย นายชบ ยอดแก้ว นายโยธิน อนาวิล พล.อ.โชคชัย หงส์ทอง นายชลิต แก้วจินดา เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น