xs
xsm
sm
md
lg

สมัคร ส.ว.วันแรกเงียบเหงา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร ส.ว.แบบเลือกตั้งวันแรกไม่คึกคัก ทั่วประเทศมีแค่ 151 คน หลายจังหวัดมีญาติ ส.ส.เป็นตัวเต็ง ด้านกกต. ส่งชื่อผู้สมัครส.ว.แบบสรรหา ให้กก.สรรหาแล้ว เผยมีองค์กรเสนอชื่อบุคคลซ้ำถึง 22 องค์กร ส่วนปัญหาคนเดียวลงสมัครทั้ง 2 ระบบ จะมีข้อยุติ ภายใน 28 ม.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากหอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซ.อารีย์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัครผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา แบบเลือกตั้ง ซึ่ง กกต.กทม. เปิดรับสมัครเป็นวันแรกปรากฏว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า ยังไม่มีประชาชนที่สนใจจะสมัครส.ว.เดินทางมายังสถานที่รับสมัคร ผิดกับการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาผู้สมัครจะพากันมาลงเวลาสมัครก่อนเวลาเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการในเวลา 08.30 น.เพื่อรอจับฉลากหมายเลขผู้สมัคร โดยมีเพียงนาย ประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง เดินทางมาตรวจดูสถานที่รับสมัครในเวลา 08.30 น.

นายประพันธ์ กล่าวว่า สำหรับการรับสมัคร ส.ว.ที่ไม่มีผู้มาสมัครนั้น เนื่องจากผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.จะมีที่มาจาก 2 ระบบ คือ ระบบสรรหา 74 คน ซึ่งมีองค์กรที่เสนอชื่อผู้สมควรได้เป็นส.ว.ถึง 1,087 องค์กร ส่วนในระบบการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นเหมือนตอน ส.ว.สรรหา ซึ่งในวันแรกมีองค์กรมาเสนอชื่อเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังอาจจะเป็นเพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ว.เลือกตั้งมีเพียงจังหวัดละ 1 คนเท่านั้น แตละคนจึงไปใช้ช่องทางการเสนอชื่อให้สรรหามากกว่า

อย่างไรก็ตาม ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งก็มีความสำคัญมาก ดูจากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง มีวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปี ในขณะที่ ส.ว.ที่มาจากการสรรหามีวาระดำรงตำแหน่งเพียงครึ่งวาระ หรือ 3 ปีเท่านั้น ทั้งนี้จึงเชื่อว่าในวันต่อๆไป จะมีคนสนใจมาสมัครจำนวนมากเพราะ กกต.กทม.ได้กำหนดวันรับสมัครตั้งแต่วันที่ 21-25 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น.

สำหรับรายละเอียดของ ส.ว.แบบเลือกตั้งนี้จะสามารถหาเสียงในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของตัวเองได้ โดยทาง กกต.ได้กำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร โดยให้นับตามเขตเลือกตั้งของจังหวัด เขตละ 1 ล้านบาท อย่าง จ.ระนองที่มีเพียงเขตเลือกตั้งเดียว ผู้สมัคร ส.ว. ระนองก็ใช้ค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท หรืออย่างกทม.มี 12 เขตเลือกตั้ง ก็ใช้ค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 12 ล้านบาท ทั้งนี้กกต.ได้ตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งส.ว.ในวันที่ 2 มี.ค. ว่า จะไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และมีบัตรเสียไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์

สำหรับการประชุม กกต.ในช่วงเช้า กกต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ส.ว.จะมีการพิจารณารับรองรายชื่อองค์กรทั้ง 1,087 แห่ง ที่เสนอชื่อผู้สมควรได้รับการสรรหาเป็น ส.ว. เสนอคณะกรรมการสรรหาฯชุดใหญ่ที่มีนายวิรัช ลิ้มวิชัย เป็นประธาน ได้พิจารณารายชื่อ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ตั้งอนุกรรมการฯ ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเสนอชื่อ ซึ่งเชื่อว่ากรรมการสรรหาฯ จะดำเนินการสรรหา ส.ว.แบบสรรหาได้ทันกรอบระยะเวลา 30 วันตามที่กฎหมายกำหนด และภายในต้นเดือน มี.ค. จะมี ส.ว. ครบทั้ง 150 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนกระทั้งเวลา 09.45 น. นาย ประทีป พิทยวรพงศ์ อายุ 43 ปี อาชีพ มัคคุเทศน์อิสระ จบการศึกษาเทียบเท่าปริญญาตรี จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และจบการศึกษาปริญญาโท สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ เดินทางมาสมัครเป็นรายแรก และได้หมายเลข 1

ส่งชื่อ ส.ว.สรรหาให้ กก.สรรหาแล้ว

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. เปิดเผยภายหลังส่งมอบรายชื่อองค์กรที่เสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว.สรรหาให้กับคณะกรรมการสรรหา.ที่มี นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้มีการพูดว่า บางองค์กรเสนอรายชื่อบุคคลซ้ำกันถึง 22 องค์กร ซึ่งตรงนี้กรรมการจะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ และความซ้ำซ้อน คิดว่าคงไม่มีปัญหา ซึ่งกกต.น่าจะมีรวบรวมรายละเอียดให้ กกต.พิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตามในเรื่องการเสนอชื่อซ้ำซ้อน ที่ประชุมก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสรรหาฯ ต้องไปพิจารณากัน และในวันที่ 28 ม.ค. กรรมการสรรหา ก็น่าจะพิจารณาได้แล้วเสร็จ

ส่วนที่มีการมองว่า บุคคลที่มาสมัครในแบบสรรหา แล้วยังไปสมัคร ส.ว.แบบเลือกตั้งนั้น ตนก็มองว่า กฏหมายไม่ได้ห้าม สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องไปดูอีกที เพราะในเรื่องนี้กฏหมายไม่ได้ห้ามไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา กกต. ได้ออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการหาเสียงข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และการดำเนินการใด ของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ.2551 จำนวน 9 ข้อ โดยมีสาระสำคัญระบุ ว่า ในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ว. ผู้สมัครหรือบุคคลผู้ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่วุฒิสภา โดยเอกสาร หรือเทปวัสดุโทรทัศน์ที่ผู้สมัครจะใช้หาเสียง สามารถมีชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัคร และข้อความที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถใช้พาหนะในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่นอกเหนือจากการจัดสถานที่โฆษณาหาเสียงหรือเวทีกลางตามประกาศของ กกต.ได้ รวมทั้งยังสามารถใช้เครื่องขยายเสียง เพื่อช่วยในการหาเสียงได้ด้วย รวมทั้งสามารถ เช่า หรือจ้างรายการวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสปอตโฆษณา หรืออาจโฆษณาหาเสียงผ่ายเว็บไซต์ จดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

ส่วนการปิดประกาศโปสเตอร์ จะต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 ซม. ความยาวไม่เกิน 42 ซม. และให้ประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น ส่วนป้าย (คัตเอาท์)จะต้องมีความกว้างไม่เกิน 130 ซม. ความยาวไม่เกิน 245 ซม. โดยประกาศและแผ่นป้ายนั้น จะต้องระบุชื่อ สกุล ที่อยู่ผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวัน เดือน ปี ที่ผลิตไว้ด้วย และถ้าหากผู้สมัครต้องการปิดป้าย หรือปิดประกาศตามสถานที่ที่นอกเหนือจากที่รัฐจัดให้นั้นก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีขนาดตามที่กำหนด

ทั้งนี้การทำประกาศ(โปสเตอร์) นั้นผู้สมัครจะต้องจัดทำและมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งการปิดประกาศ และป้ายในการหาเสียงนั้นจะอยู่ถือเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานราชการนั้นๆ จะใช้ดุลพินิจในการกำหนดการติดป้ายของผู้สมัคร ส่วนการจัดทำป้าย (คัตเอาต์) นั้นจะต้องจัดทำและมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 5 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และกำหนดให้กกต.ประจำจังหวัดจัดให้มีสถานที่โฆษณาหาเสียง หรือเวทีกลาง เพื่อให้ผู้สมัครใช้โฆษณาหาเสียงอย่างน้อย 1 แห่ง และยังให้สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุโทรทัศน์ หรือกิจการอื่นที่เผยแพร่ภาพ เสียง ข้อความให้การสนับสนุนในการหาเสียงตามที่ กกต.จังหวัดร้องขอ

ทายาท"เอื้ออภิญญกุล"ลงชิง ส.ว.แพร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนภูมิภาคนั้น การรับสมัครส.ว.แบบเลือกตั้งก็เป็นไปด้วยความเงียบเหงา บางจังหวัดก็มีญาตินักการเมืองไปสมัคร เช่น ที่ จ.แพร่ นายองอาจ เอื้ออภิญญกุล อายุ 52 ปี อดีตกรรมการบริหารบริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) การศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมิสซูรี่ โคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เดินทางมาสมัครเพียงรายเดียว จึงได้หมายเลข 1 ทั้งนี้ นายองอาจ เป็นพี่ชายของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล และ นางปานหทัย เสรีรักษ์ หลังจากที่ข่าว นายองอาจ ลงสมัคร ส.ว.ในครั้งนี้ ทำให้ผู้สมัครรายอื่นเกิดความลังเลไปบ้าง เนื่องจากนายองอาจ ได้รับการวางตัวเป็นตัวเต็งในการเลือกตั้ง ส.ว.แพร่ในครั้งนี้

ส่วนที่ จ.พิษณุโลก ก็มีผู้มาสมัครเพียงรายเดียวเท่านั้น คือ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นพี่สาวของนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาก่อนที่จะมีการปฏิวัติ 19 ก.ย.49 นั้น นางพิกุลแก้ว ก็ลงสมัคร และได้คะแนนสูงสุดเป็นที่1ของจังหวัด

"พี่ชายหมอแว"ลงชิง ส.ว.นราธิวาส

ที่ จ.นราธิวาส มีผู้สมัครเพียง 2 ราย คือนายแวดือราแม แวดาโอะ เจ้าของโรงพยาบาลเอกชน "หมอแว" ซึ่งเป็นพี่ชายของ นายแวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส. นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน ส่วนอีกคน คือนายมูหามะรอสดี บอตอ ผู้บริหาร ร.ร.ดารุสลาม ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เป็นน้องชายนายฟัครรูดีน บอตอ อดีต ส.ว.ซึ่งถูกลอบยิงได้รับบาดเจ็บเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้นั่งรถเข็นเดินทางมาให้กำลังใจน้องชายด้วยตัวเอง โดยผู้สมัครทั้ง 2 รายได้ทำการตกลงกันเองก่อนรับสมัคร ส.ว. เพื่อเลือกหมายเลขเบอร์ประจำตัวผู้สมัคร ซึ่งนายมูหามะรอสดี ได้แสดงสปริตให้นายแวดือราแม เป็นผู้สมัครก่อนทำให้นายแวดือราแม แวดาโอะ ได้หมายเลข 1 ส่วนนายมูหะมะรอสดี บอตอ ได้หมายเลข 2

ส่วนที่ จ.สตูล มีผู้มายื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานเพียง 1 รายเป็นอดีต ส.ว.สตูล คือ นายสุริยา ปันจอร์ วัย 66 ปี และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง คือ กรรมาธิการวิสามัญศึกษาสอบสวนสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และเป็นนักจัดรายการวิทยุภาค มุสลิมใน จ.สตูล

เชียงใหม่ไม่คึกคักวันแรกสมัคร 3 คน

ที่ จ.เชียงใหม่ ในช่วงเช้ามีผู้ไปสมัครเพียง 3 คน โดยมีผู้ไปถึงสถานที่รับสมัครก่อนเวลา 08.30 น. 2 คนคือ นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร และ นายปิ่นนคร ศรีจันทร์ อาชีพทนายความทั้งสองคน ต้องจับสลากหมายเลขประจำตัว ปรากฏว่า นายชูชัย ได้หมายเลข 1 และ นายปิ่นนคร ได้หมายเลข 2 ต่อมามีผู้มาสมัครเพิ่มอีกคนคือ นายปราโมทย์ สมัครการ อดีตสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ ได้หมายเลข 3

นายพงษ์พันธ์ ริ้วทองทวี ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เหตุที่มีผู้สมัครับเลือกตั้งน้อย ก็คงเหมือนกับที่อื่นทั่วประเทศ คือ นักการเมืองรุ่นเก่าหลายคน ขาดคุณสมบัติ โดยเฉพาะผู้ที่ไปลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. จึงเหลือเฉพาะกลุ่มหน้าใหม่ ที่จะมาสมัครครั้งนี้

สมัคร ส.ว.วันแรก 151 คน

สำหรับยอดการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.วันแรกทั่วประเทศ มีผู้สมัครทั้งสิ้น 151 คน โดย จ.เพชรบุรี มีผู้สมัครมากที่สุด 9 คน ตามมาด้วย ลำพูน และระนอง จังหวัดละ 6 คน ส่วนกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้มีสิทธิมากที่สุดก็มีผู้สมัครเพียงคนเดียว อย่างไรก็ตามมี 4 จังหวัดที่ไม่มีผู้สมัครเลยคือ อยุธยา มหาสารคาม สุมทราปราการ และสุพรรณบุรี
กำลังโหลดความคิดเห็น