กกต.ฉับไวปล่อยผีเข้าสภาอีกชุด 17 คน ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งซ่อม เมื่อวานนี้ อ้างกลัวเสียสิทธิ์ ถูกกล่าวหา 2 มาตรฐาน ย้ำยังสอบสวนต่อไปถ้าผิดค่อยเสนอสอบภายหลัง ขณะเดียวกัน เตรียมออกระเบียบการหาเสียง ส.ว.แล้ว
วันนี้ (21 ม.ค.) นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.มีมติประกาศรับรอง ส.ส.17 คน ที่มีการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยทั้งหมดสามารถมารับหนังสือรับรองเพื่อนำไปรายงานตัว และจะได้เข้าร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภานัดแรก ทั้งนี้ กกต.ได้ประกาศรับรอง ส.ส.แล้วกว่า 477 คน ส่วนอีก 3 คนต้องรอการเลือกตั้งใหม่ ในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและปราจีนบุรี ที่จะมีขึ้นวันที่ 27 ม.ค.
ถามว่า กกต.ประกาศรับรอง ส.ส.จนสามารถเปิดประชุมสภานัดแรกได้แล้ว ทำไมจึงรีบประกาศรับรอง ส.ส.17 คน ทั้งที่ยังไม่พิจารณาเรื่องร้องคัดค้าน นายประพันธ์ กล่าวว่า เพราะยังไม่ทราบว่ามีการร้องคัดค้านจำนวนเท่าใด อีกทั้งคิดว่า หากจะต้องพิจารณาเรื่องร้องคัดค้านภายในวันนี้คงไม่ทัน ดังนั้น กกต.จึงพิจารณาให้ประกาศไปก่อน เพื่อไปร่วมรัฐพิธีเปิดประชุมสภานัดแรก ซึ่งเรื่องร้องคัดค้านที่มีการสอบสวนอยู่ ก็ยังไม่ได้แปลว่าผู้ที่ถูกร้องคัดค้านมีความผิด จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ฉะนั้น ถ้าเราไม่ประกาศรับรองไปก่อน เขาก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน
“แม้ กกต.จะปล่อยให้มีการรับรองไปก่อนก็ยังดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป หาก กกต.สืบสวนสอบสวนแล้วพิจารณาเห็นว่า มีมูลและให้ใบเหลือง-ใบแดง เราก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถ้าสอบไปแล้วไม่มีมูลก็จะยกคำร้อง หากไม่ประกาศรับรองไปเขาก็จะเกิดความเสียหาย กกต.ได้ศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบแล้ว ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าบุคคลที่ผ่านการรับรองไปนี้กกต.จะงดการสืบสวนสอบสวน เพราะขณะนี้ผู้ได้รับรอง ส.ส.ไปแล้วก็ยังปรากฏว่า มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตเลือกตั้งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง” กกต.ผู้นี้ ระบุ
สำหรับรายชื่อ ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองจำนวน 17 คน ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน 14 คน ได้แก่ นายธนาธร โล่ห์สุนทร ส.ส.เขต 1 ลำปาง นายณรงค์กร ชวาลสันตติ ส.ส.เขต 1 จ.เพชรบูรณ์, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล นายนิยม วิวรรธนดิฐกุล นางปานหทัย เสรีรักษ์ ส.ส.เขต 1 จ.แพร่,นาย บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.เขต 6 จ.นครราชสีมา พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ ส.ส.เขต 1 อุดรธานี
นายอนันต์ ศรีพันธุ์ ส.ส.เขต 1 อุดรธานี นายเชิดชัย วิเชียรวรรณ ส.ส.เขต 1 อุดรธานี นายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส.เขต 2 อุดรธานี นายทองดี มนิสสาร ส.ส.เขต 2 อุดรธานี นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น ส.ส.เขต 2 อุดรธานี นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.เขต 3 อุดรธานี และนายเฉลิมชาติ การุญ ส.ส.เขต 1 สกลนคร พรรคพลังแผ่นดิน 2 คน ได้แก่ นายพลพีร์ สุวรรณฉวี ส.ส.เขต 6 นครราชสีมา นายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.เขต 3 อุดรธานี พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน คือ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.เขต 1 นครนายก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ กกต.จะมีมติประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ ปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง อาทิ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.เขต 1 นครนายก นายต่อพงษ์ และนายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี ก็เดินทางมารอเพื่อรับหนังสือรับรองอยู่ก่อนแล้ว
ด้าน นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.กล่าวว่า การรับรอง ส.ส.17 คนเพิ่มเติมนั้นที่ประชุมเห็นว่าควรให้ความยุติธรรมเท่าเทียมกันเหมือนกรณี 5 ส.ส.ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียนกกต.กลางประกาศรับรองไปก่อนหน้านี้
“ใน 7 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่มีการพูดกันว่ามีการร้องคัดค้าน แต่หนังสือทางการก็ยังไม่มาถึง กกต.ทั้ง 5 ก็เห็นว่าครวจะรับรอง เพราะเดี๋ยวจะกลายเป็น 2 มาตรฐานที่ว่าทำไม 5 คนก่อนหน้า กกต.ถึงรับรองแล้ว 17 คนนี้ ทำไมไม่รับรอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าไม่เท่าเทียม แต่แม้จะรับรองไปแล้ว กกต.ก็ยังสามารถดำเนินการต่อได้ หากว่ามีการร้องเรียนเข้ามา และหากพบว่ามีการกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้งจริงถึงขั้นได้ใบเหลือง หรือแดง กกต.ก็จะส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งแม้กระทั่ง ส.ส.ที่ กกต.ประกาศรับรองไปแล้วก็ยังมีเรื่องร้องคัดค้านเข้ามาอยู่เรื่อย”
เมื่อถามว่า กรณี ส.ส.รับรองไปแล้ว 21 ราย ที่มีเรื่องร้องเรียนและเรื่องร้องคัดค้านค้างอยู่ กกต.จะเริ่มดำเนินการสอบเมื่อไหร่ นายอภิชาต กล่าวว่า กกต.จะทำให้เร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้กรรมการสืบสวนสอบสวนฯก็มีการดำเนินสอบอยู่ถ้าเสนอมาเมื่อไหร่ กกต.ก็จะพิจารณาได้ทันที ซึ่งขณะนี้เรื่องที่ใหญ่ที่สุด ก็คือ กรณี จ.เชียงราย ที่คณะกรรมการกำลังสอบอยู่ซึ่งกกต.ก็ไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเสร็จเพื่อไหร่ แต่เท่าที่ทราบกรรมการที่สอบก็กำลังดำเนินการสอบ
ประธาน กกต.ยังกล่าวถึงกรณี นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตสมาชิกผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.บุรีรัมย์ จะมายื่นหนังสือต่อ กกต.ให้สอบกรณีวีซีดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีภายหลังที่ศาลฎีกาไม่รับพิจารณาว่า หากต้องการให้ กกต.สอบก็สามารถมายื่นหนังสือได้ กกต.จะพิจารณาให้ เพราะเรื่องนี้ก็ยังเป็นปัญหา ซึ่ง กกต.ก็ให้สืบสวนสอบสวนจังหวัดไปรวบรวมข้อมูลและเสนอมายังกกต.กลาง ซึ่งในส่วนของ กกต.ก็มีการรวบรวมอยู่เหมือนกัน และจะได้มีการสอบคู่กันไป ไม่ถือว่าเป็นการซ้ำซ้อนกับคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ที่มี นายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ เป็นประธานที่ กกต.ได้ตั้งไว้ก่อนหน้าแล้ว
นอกจากนี้ ประธาน กกต.เปิดเผยภายหลังส่งมอบรายชื่อองค์กรที่เสนอชื่อผู้สมัคร ส.ว.สรรหาให้กับคณะกรรมการสรรหา ที่มี นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีการพูดว่าบางองค์กรเสนอรายชื่อบุคคลซ้ำกันถึง 22 องค์กร ซึ่งตรงนี้กรรมการจะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและความซ้ำซ้อน คิดว่าคงไม่มีปัญหา ซึ่ง กกต.น่าจะมีรวบรวมรายละเอียดให้ กกต.พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเสนอชื่อซ้ำซ้อน ที่ประชุมก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าจะทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสรรหาฯต้องไปพิจารณากัน และในวันที่ 28 ม.ค.กรรมการสรรหาก็น่าจะพิจารณาได้แล้วเสร็จ
ส่วนที่มีการมองว่า บุคคลที่มาสมัครในแบบสรรหาแล้วยังไปสมัคร ส.ว.แบบเลือกตั้งนั้น ตนก็มองว่ากฎหมายไม่ได้ได้ สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องไปดูอีกที เพราะในเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกระเบียบ กกต.ว่าด้วยการหาเสียงข้อควรปฏิบัติและข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งและการดำเนินการใด ของผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ.2551 จำนวน 9 ข้อ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือบุคคลผู้ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่วุฒิสภา โดยเอกสาร หรือเทปวัสดุโทรทัศน์ที่ผู้สมัครจะใช้หาเสียง สามารถมีชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้สมัครและข้อความที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้สมัครสามารถใช้พาหนะในการหาเสียงเลือกตั้งหรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่นอกเหนือจากการจัดสถานที่โฆษณาหาเสียงหรือเวทีกลางตามประกาศของ กกต.ได้ รวมทั้งยังสามารถใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยในการหาเสียงได้ด้วย รวมทั้งสามารถ เช่า หรือจ้างรายการวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวีหรือสป็อตโฆษณา หรืออาจโฆษณาหาเสียงผ่ายเว็บไซต์ จดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
ส่วนการปิดประกาศ โปสเตอร์ จะต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร ความยาวไม่เกิน 42 เซนติเมตร และให้ประกาศได้สถานที่ละ 1 แผ่น ส่วนป้าย(คัตเอาท์) จะต้องมีความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร ความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร โดยประกาศและแผ่นป้ายนั้นจะต้องระบุชื่อ สกุล ที่อยู่ผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวนและวันเดือนปี ที่ผลิตไว้ด้วย และถ้าหากผู้สมัครต้องการปิดป้ายหรือปิดประกาศตามสถานที่ที่นอกเหนือจากที่รัฐจัดให้นั้นก็สามารถทำได้แต่ต้องมีขนาดตามที่กำหนด ทั้งนี้การทำประกาศ (โปสเตอร์) นั้นผู้สมัครจะต้องจัดทำ และมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ซึ่งการปิดประกาศและป้ายในการหาเสียงนั้นจะอยู่ถือเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานราชการนั้นๆ จะใช้ดุลพินิจในการกำหนดการติดป้ายของผู้สมัคร
ส่วนการจัดทำป้าย (คัตเอาต์) นั้น จะต้องจัดทำและมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และกำหนดให้ กกต.ประจำจังหวัดจัดให้มีสถานที่โฆษณาหาเสียง หรือเวทีกลาง เพื่อให้ผู้สมัครใช้โฆษณาหาเสียงอย่างน้อย 1 แห่ง และยังให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์หรือกิจการอื่นที่เผยแพร่ภาพ เสียง ข้อความให้การสนับสนุนในการหาเสียงตามที่ กกต.จังหวัดร้องขอ
/0110