xs
xsm
sm
md
lg

ก.ต.เห็นชอบส่ง “5 ผู้พิพากษา” ทำหน้าที่อนุ กก.สรรหา ส.ว.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ก.ต. เห็นชอบส่ง “5 ผู้พิพากษา” ทำหน้าที่อนุ กก.สรรหา ส.ว.ช่วยงาน “วิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา” ขณะที่ “ปรีชา ธนานันท์” พ.อาวุโสศาลฎีกา อดีตรอง ปธ.ศาลฎีกา เสนอตัว เตรียมประชุมเลือกตัวแทน 14 ม.ค.นี้ ศาลหวั่นองค์กรเสนอรายชื่อน้อยอาจติดปัญหาเดดล็อก ได้ ส.ว.ไม่ดี

วันนี้ (9 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเห็นชอบ อนุญาตข้าราชการตุลาการจำนวน 5 คน ไปเป็นอนุกรรมการสรรหาวุฒิสภา ( ส.ว.) ซึ่งประกอบด้วย 1.นายอำนาจ พวงชมภู ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ 2.นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 3.นายบวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ 4.นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และ 5.นายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา

โดยการปฏิบัติหน้าที่เป็นอนุกรรมการสรรหา ส.ว.ดังกล่าว ข้าราชการตุลาการทั้ง 5 คนจะรับผิดชอบการพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่เสนอชื่อเป็นตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ทั้งนี้ การปฏิบัติภารกิจเป็นอนุกรรมการสรรหา ส.ว.ดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะกิจในช่วงการสรรหา ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ โดยการพิจารณาอนุญาตให้ข้าราชการตุลาการทั้ง 5 คนไปปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นการสนับสนุนช่วยเหลืองานการปฏิบัติหน้าที่ของนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งนายวิรัช ประธานศาลฎีกา เห็นชอบกับการเสนอชื่อข้าราชการตุลาการทั้งห้าแล้ว

ทั้งนี้ นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า สำหรับหน่วยงานศาลยุติธรรมในส่วนที่เป็นองค์กรในภาครัฐที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่มีความสามารถ และความเหมาะสมเพื่อสรรหาเป็น ส.ว.นั้น ขณะนี้มีข้าราชการตุลาการแสดงเจตจำนงยื่นใบสมัครเสนอตัวร่วมการสรรหาแล้ว คือนายปรีชา ธนานันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งอดีตเคยเป็นรองประธานศาลฎีกา และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยขณะนี้นายปรีชาได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาแล้วเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติการเสนอตัว สรรหาเป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 และ 102 (8) อย่างไรก็ดี นอกจากนายปรีชาแล้วยังมีข้าราชการตุลาการอีกจำนวนหนึ่งที่แสดงความสนใจจะเสนอตัวสรรหา ส.ว. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจในการยื่นใบสมัคร

นายสราวุธ กล่าวว่า สำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอรายชื่อข้าราชตุลาการที่เสนอตัวสรรหา ส.ว.ต่อที่ประชุม ก.ต.ในวันที่ 14 ม.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ซึ่งประเด็นแรกที่ประชุม ก.ต.จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกว่าควรคัดเลือกผู้เสนอตัวเป็น ส.ว. ส่งให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.พิจารณาคัดเลือกนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ยังดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.โดยตำแหน่งอีกด้วย ซึ่งหากที่ประชุม ก.ต.เห็นสมควรให้ สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอชื่อผู้เสนอตัวไปเป็น ส.ว.ได้ ที่ประชุม ก.ต.จึงจะประชุมคัดเลือกบุคคลต่อไป

นายสราวุธ กล่าวว่า หากที่ประชุม ก.ต.พิจารณาคัดเลือกรายชื่อผู้สมควรเป็น ส.ว.ได้แล้ว ก็จะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ภายในวันที่ 17 ม.ค. จากนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติว่าตรวจสอบว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ครั้งนี้กำหนดลักษณะต้องห้ามด้วยว่า ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอื่นๆหรือไม่ ให้เสร็จสิ้นภายใน 5 วัน และต้องเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.พิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะได้ทราบว่า ผู้ได้รับการสรรหา เป็น ส.ว.ทั้ง 74 คน เป็นบุคคลใดบ้าง เป็นตัวแทนจากองค์กรภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคอื่นๆ จำนวนเท่าใด ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 ส่วน ส.ว. อีก 76 คนจะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีกำหนดเลือกตั้งในวันที่ 2 มีนาคม 2551 ก็จะได้ ส.ว.ครบ 150 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

“การสรรหา ส.ว.เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำภายใต้กรอบเงื่อนไขระยะเวลาและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและเป็นเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ และองค์กรต่างๆ ที่ไม่แสวงผลกำไร ที่มีสิทธิในการเสนอรายชื่อผู้สมควรเป็น ส.ว. ช่วยกันเสนอชื่อให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ทำการคัดเลือก เพราะถ้าหากมีการเสนอรายชื่อจำนวนน้อย อาจเกิดปัญหาเดดล็อกได้บุคคลที่ไม่เหมาะสมมาเป็น ส.ว. ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกภาคส่วนและทุกองค์กรร่วมมือกันเสนอรายชื่อบุคลากรในองค์กร หรือเคยปฏิบัติงานในองค์กร ให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. พิจารณาคัดเลือกให้มากๆ เพื่อประโยชน์ของประเทศในการที่จะสรรหา ส.ว.ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมมาปฏิบัติหน้าที่” นายสราวุธ กล่าว
 นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
นายปรีชา ธนานันท์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา อดีตรองประธานศาลฎีกาและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
กำลังโหลดความคิดเห็น