กฤษฎีกาพิจารณาสำนวนใบแดงของว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรค “พลังแม้ว” “มีชัย” ย้ำพิจารณาประเด็นสำนวนของ กกต.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ขั้นตอนสุดท้ายขึ้นกับการชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่กฎหมายให้อำนาจเอาไว้ สุดท้ายมีมติเห็นชอบใบแดง 3 ว่าที่ ส.ส.พปช.
วันนี้ (7 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 12 คณะ เพื่อประชุมและพิจารณาร่วมกันเกี่ยวกับสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ของ 3 ว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 1 พรรคพลังประชาชน ได้แก่ 1.นายประกิจ พลเดช 2.นายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน และ 3.นายรุ่งโรจน์ ทองศรี
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม ว่า การพิจารณาใบแดงของว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ เขต 1 พรรคพลังประชาชน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ (7 ม.ค.) ก่อนเวลา 12.00 น. ส่วนจะมีการยื่นหลักฐานเพิ่มเติมได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเบื้องต้นมีการส่งสำนวนของ กกต.มาให้พิจารณาล่วงหน้าแล้ว ขณะเดียวกันหากว่าที่ ส.ส.จะมาร้องขอความเป็นธรรม ต้องทำหนังสือมาก่อนล่วงหน้า เว้นแต่คณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสงสัยในสำนวนอาจจะเรียกมาชี้แจงได้ แต่โดยปกติจะสอบถามจากเลขาธิการ กกต.หรือตัวแทน
นายมีชัย กล่าวว่า การพิจารณาจะดูจากสำนวนของ กกต.เป็นหลักว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก่อนที่จะมีการลงรายละเอียดในพยานหลักฐาน ที่ผ่านมาคณะกรรมการกฤษฎีกามีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสำนวนของ กกต. โดยหากไม่เห็นด้วยกับสำนวนของ กกต. คณะกรรมการกฤษฎีกาต้องทำหนังสือเป็นเหตุผลประกอบ ซึ่งขึ้นอยู่กับ กกต.ในขั้นตอนสุดท้ายว่า จะยืนตามสำนวนเดิมของ กกต. หรือจะเห็นตามมติของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะตามกฎหมายได้ให้สิทธิ กกต.ในการชี้ขาดการให้ใบเหลือง-ใบแดง แต่หากจะยืนตามสำนวนเดิมของ กกต.ต้องทำความเห็นแนบไปด้วย ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ที่ผ่านมาหาก กกต.เห็นตามมติของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เปลี่ยนจากการให้ใบแดงมาเป็นใบเหลืองได้
ด้าน นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตาม พ.ร.บ เลือกตั้งและการได้มาซึ่ง ส.ว. แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการตรวจสอบได้มีการพิจารณาสำนวนการสั่งเพิกถอนสิทธิ 3 ว่าที่ ส.ส.เขต 1 พรรคพลังประชาชน จังหวัดบุรีรัมย์ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยมองว่า 1.กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเที่ยงธรรมหรือไม่ 2.ตรวจสอบการพิจารณาในข้อเท็จจริงใหข้อกฎหมายของ กกต.เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมหรือไม่
ในที่สุดคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า กรณีที่ กกต.ได้ให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเป็นผู้สืบสวนคดีดังกล่าวโดยให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายได้รับทราบและให้โอกาสชี้แจงข้อกล่าวหาพร้อมนำพยานหลักฐานเข้าสืบ ต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน จากนั้นคณะกรรมการจึงรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเสนอต่อ กกต. และกกต.ได้พิจารณาข้อมูลหลักฐานแล้ว เชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจริง สมควรสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การปฏิบัติดังกล่าวถือเป็นการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงผู้กล่าวหา และนำพยานมาแสดงแล้วพอสมควร จึงเห็นว่าเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนในการพิจารณาการตรวจสอบข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงของ กกต.เห็นว่า การให้ความเห็นของ กกต.ในการสั่งเพิกถอน 3 ว่าที่ ส.ส.ตั้งอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน คณะกรรมการจึงเห็นว่าการพิจารณาของ กกต.เป็นไปโดยชอบด้วย กม.แล้ว จากนี้ทางคณะกรรมการตรวจสอบจะได้ส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งภายในวันเดียวกัน
/0110