xs
xsm
sm
md
lg

“กฤษฎีกา” ตอกฝาโลง 3 ว่าที่ ส.ส.บุรีรัมย์ พลังแม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธ์
กฤษฎีกามีมติเอกฉันท์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 3 ว่าที่ ส.ส.พปช.เขต 1 บุรีรัมย์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ชี้การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ชี้แจงต่อ กกต.โดยตรงไม่ถือว่าผิด เหตุ กม.เอื้อประโยชน์ให้ กกต.ใช้อำนาจวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง ขณะที่ ปธ.กกต.บุรีรัมย์ เตรียมหอบสำนวนทุจริตแจง กกต.อีกครั้งวันพรุ่งนี้

วันนี้ (7 ม.ค.) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งได้มีการพิจารณาสำนวนสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 3 ว่าที่ ส.ส.เขต 1 จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคพลังประชาชน ของ กกต.นานกว่า 2 ชั่งโมง นายอัชพร จารุจินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาใน 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการพิจารณาของ กกต.ในเรื่องสำนวนดังกล่าวเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและเที่ยงธรรมหรือไม่ 2.การพิจารณาในข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายของ กกต.เป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมหรือไม่

โดยในประเด็นแรก จากการตรวจสอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนทั้งหมด พบว่า กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ และให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รายได้มีโอกาสมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมทั้งได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน เมื่อแล้วเสร็จคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนจึงทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อ กกต. เมื่อ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้งจริง ทางคณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ กกต.เป็นการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาพอสมควรแล้วในการมาชี้แจงข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหา จึงเห็นว่ากระบวนการการพิจารณาของ กกต.เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนในประเด็นการพิจารณาในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของ กกต.ว่าเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมหรือไม่ คณะกรรมการตรวจสอบเห็นว่า การให้ความเห็นสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานการพิจารณาหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในสำนวน จึงใช้ดุลพินิจวินิจฉัยโดยเชื่อว่าพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สมควรสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

“ขอชี้แจงว่า การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบฯ เป็นการตรวจสอบในขั้นตอน วิธีการพิจารณาของ กกต.ว่ามีการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาเพียงพอหรือไม่ ส่วนในเรื่องดุลพินิจเป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่จะลงไปตรวจสอบชั่งน้ำหนักพยาน หลักฐาน แล้วดูว่าการใช้ดุลพินิจของ กกต.ถูกต้องหรือไม่ ดังนั้น โดยสรุปคณะกรรมการตรวจสอบฯ ด้วยเสียงเอกฉันท์ เห็นว่า การดำเนินการของ กกต.ในเรื่องนี้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จากนี้คณะกรรมการตรวจสอบฯก็จะได้มีการสั่งความเห็นดังกล่าวกลับไปยัง กกต.ภายในวันเดียวกัน”

นายอัชพร ยังกล่าวด้วยว่า แม้ทางพรรคพลังประชาชนจะได้มีการส่งหนังสือโต้แย้งและคำชี้แจงมา ซึ่งก็มีการนำเสนอให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้พิจารณา แต่ตามมาตรา 105 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น ให้คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาโดยยึดสำนวนการสืบสอบสวนสวนของ กกต.เป็นหลัก ส่วนที่มีการมองว่าการไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหาต่อ กกต.โดยตรงอาจจะขัดกับกฎหมายนั้น คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้ตรวจสอบในข้อกฎหมายแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 236 (5) ได้ให้อำนาจ กกต.สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง และวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเลือกตั้ง ดังนั้น เมื่อ กกต.วินิจฉัยว่าสามารถออกระเบียบมอบให้บุคคลใดไปรับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ก็ต้องเป็นไปตามดุลพินิจ

เมื่อถามว่า แต่การชี้แจงกับคณะกรรมการสืบสวนเหมือนผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้รับโอกาส นายอัชพร กล่าวว่า การจะได้รับโอกาสหรือไม่ ก็ต้องดูว่า กกต.ได้ให้โอกาสกับผู้ถูกกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 104 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ได้ให้อำนาจ กกต.ในการที่จะแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการคณะหนึ่งหรือหลายคณะตามความจำเป็น เพื่อให้มาช่วย กกต.ในการตรวจสำนวน สืบสวนสอบสวน รวมทั้งรับฟังคำชี้แจงหรือพยานหลักฐานแทน กกต. โดยในระดับเจ้าหน้าที่ก็ได้ชี้แจงถึงแนวปฏิบัติงานของ กกต.ต่อคณะกรรมการตรวจสอบว่าไม่จำเป็นที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องมาชี้แจงต่อ กกต.เสมอไป

แต่ที่มีการดำเนินการในอดีตโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องชี้แจง กกต.นั้น เป็นการวางแนวปฏิบัติของ กกต.แต่ละชุด อีกทั้งการเลือกตั้งระดับอื่นๆ ที่ผ่านมา กกต.ก็มีการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก โดยที่ไม่ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวโดยตรงต่อ กกต. ดังนั้น ในประเด็นนี้ต้องถือว่าบทบัญญัติของกฎหมายได้เอื้อประโยชน์ให้ กกต.ได้วินิจฉัยชี้ขาดด้วยตนเอง ซึ่งถ้าหากผู้เสียหายเห็นว่าประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อตนเองก็ต้องไปใช้สิทธิทางศาล ขณะเดียวกัน ถ้าเห็นว่าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนที่ กกต.แต่งตั้งขึ้นมีการดำเนินการที่ไม่ชอบก็เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องรับผิดชอบ

นายอัชพร ยังชี้แจงด้วยว่า หลักการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ในครั้งนี้ ไม่มีความแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา โดยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งให้อำนาจในการพิจารณาเฉพาะกระบวนการพิจารณาของ กกต.ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ได้ให้อำนาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยการใช้ดุลพินิจตามตามพยานหลักฐานในสำนวนของ กกต.ในอดีตที่ กกต.เคยเสนอความเห็นเรื่องสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาให้คณะกรรมการตรวจสอบฯ และคณะกรรมการตรวจสอบฯมีความเห็นโต้แย้งไปมีเพียง 2 รายเท่านั้น โดยสาเหตุที่เห็นแย้งเพราะจากพยาน หลักฐานที่ปรากฏในสำนวนกับการให้ความเห็นของ กกต.ในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นต่างกัน คณะกรรมการตรวจสอบฯ จึงเห็นว่าการวินิจฉัยสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ กกต.ในขณะนั้นไม่เที่ยงธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น