xs
xsm
sm
md
lg

เร่งผลักดันฉลาก Trans fat อิงกระแส"สุขภาพ"ทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน -สถาบันอาหาร เตรียมออกมาตราการผลักดันการออกฉลากระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์(Trans fat) ไขมันที่เป็นที่มาของโรคหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มให้การตื่นตัวและมีการออกกฎหมายบังคับทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เตือนผู้ประกอบการไทยด้านส่งออกอาหารเตรียมปรับตัวรับมือ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึง “ไขมันชนิดทรานส์” หรือ Trans Fatty Acid หรือ TFA สิ่งที่น่ากลัวสำหรับไขมันชนิดนี้ คือ นอกจากจะเข้าไปทำลายไขมันดี (HLD) และเข้าไปเพิ่มปริมาณไขมันร้าย (LDL) ซึ่งหากบริโภคไขมันชนิดทรานส์ติดต่อกันเป็นเวลานานทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไขมันชนิดทรานส์นี้พบมากใน มาการีน (เนยเทียม) ชอตเทนนิ่ง (เนยขาว) ครีมเทียม และน้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำจนเริ่มหนืด ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของไขมันชนิดทรานส์ อาทิเช่น เบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ โดนัท แคร็กเกอร์ และขนมขบเคียว

ระยะหลังมานี้หลายๆประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับอันตรายของไขมันชนิดทรานส์มากขึ้น เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก ได้ออกกฎหมายบังคับให้แสดงฉลากอาหารที่ระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์ในฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามที่จะปรับรูปแบบการนำไขมันชนิดทรานส์มาใช้กับอาหารให้น้อยลงหรือไม่ใช้เลยโดยเฉพาะในร้านอาหาร เช่น ในรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และมอนต์โกเมอรี่เค้าท์ตี้ ได้ออกประกาศห้ามบรรดาร้านอาหาร ภัตตาคาร ตลอดจนผู้ประกอบการด้านอาหารใช้ไขมันทรานส์ในการปรุงอาหาร รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญ

สำหรับในประเทศไทย ถึงแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์บนฉลากอาหาร แต่จำนวนประชากรในประเทศไทยที่มีอัตราการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้บริโภคควรตระหนักและระวังเอาไว้ การติดฉลากระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์ก็เป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งควรเพิ่มการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการอ่านฉลากก่อนเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปทุกครั้ง

แม้ว่าทั่วโลกจะตระหนักถึงอันตรายจากไขมันชนิดทรานส์มากขึ้น แต่การยกเลิกหรือห้ามใช้ในทันทีนั้นยังมีปัญหากับภาคอุตสาหกรรมอาหาร แต่เมื่อผลการวิจัยจากหลายประเทศได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าไขมันชนิดทรานส์มีอันตรายสูงต่อผู้บริโภค ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอาหารอาจจะต้องดำเนินการต่อไปนี้

ประการแรก อุตสาหกรรมที่ยังคงใช้ไขมันชนิดทรานส์เป็นส่วนประกอบในการผลิตอยู่ต้องหันมาปรับเปลี่ยนใช้ไขมันชนิดอื่นทดแทน หรือลดปริมาณการใช้ลงหรือพยายามใช้ไขมันจากธรรมชาติให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าอาจเพิ่มต้นทุนการผลิตและส่งผลต่อราคาสินค้า แต่จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารเพื่อสุขภาพหันมาเลือกซื้อมากขึ้นแทน ประการที่ สอง พิจารณาให้มีการติดฉลากแสดงปริมาณไขมันชนิดทรานส์

ประการสุดท้ายสำหรับผู้บริโภค ควรละเว้นการบริโภคอาหาร เช่น มาการีนหรือเนยเทียม ช็อตเทนนิ่ง ครีมเทียม และน้ำมันทอดซ้ำจนเริ่มหนืด และลดอาหารที่มีความเสี่ยงรองลงมา ได้แก่ ไก่ทอด ผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ คุกกี้ เวเฟอร์ ขนมปัง มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น