เมื่อชีวิตในมหาวิทยาลัยเริ่มต้นขึ้น สีว์ตัน เป็นเด็กสาวอีกหนึ่งคนที่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่ในขณะที่เพื่อนๆ ร่วมชั้นของเธอกำลังตื่นเต้นกับชีวิตนักศึกษา สีว์ตัน กลับมีเรื่องน่าตื่นเต้นเพิ่มมากกว่าเพื่อนๆ คนอื่น นั่นก็เป็นเพราะเธอตั้งใจว่าจะต้องหาสามีในอนาคตที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่ดีให้ได้ ภายในช่วงเวลาที่เธอกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งครอบครัวของเธอก็ได้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ เพื่อให้ลูกสาวบรรลุจุดมุ่งหมายด้วยเช่นกัน
หลังสอบเอนทรานส์ มุ่งหน้าเข้าบริษัทหาคู่
ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ มัธยมต้น สีว์ตันก็ถูกเพื่อนๆ เรียกว่าเป็นดาวโรงเรียน เนื่องจากหน้าตาที่น่ารัก และผลการเรียนโดดเด่นตลอดมา
เมื่อก่อนถึงวันสอบเอนทรานส์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่วัน ผู้ปกครองของเธอก็ขอให้เธอเผื่อทางเลือกในชีวิตไว้อีกเส้นหนึ่ง
“ตอนนี้ฉันยังสาว ยังสวย แต่ต่อไปหากสอบไม่ได้มหาวิทยาลัยดีๆ ก็คงจะหางานทำยาก มิสู้แต่งงานเร็วหน่อย ชีวิตจะได้มีความหมายมากขึ้น” สีว์ตันกล่าวอย่างเชื่อมั่น
“ฉันจำสีว์ตันได้ เพราะว่าเด้กสาวที่อายุขนาดนี้มาหาคู่ที่นี่มีไม่มากนัก เธอต้องการแต่งงานกับผู้ชายอายุประมาณ 30 ปีที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน” ไป๋หยัง ผู้มีอาชีพแม่สื่อกล่าว “ความกดดันในสังคมปัจจุบัน ทำให้เด็กเดี๋ยวนี้มีความคิดแบบนี้”
ไป๋หยังเล่าว่า เด็กสาวที่ทั้งสวยทั้งเก่งอย่างสีว์ตัน ย่อมเป็นที่หมายปองของชาวหนุ่มมากหน้าหลายตา ผ่านการหาคู่ มีชายหนุ่มไม่น้อยที่ขอทำความรู้จักกับเธอ ซึ่งสีว์ตันเองตั้งใจว่าจะลองคบกับชายหนุ่มหลายๆ คนเหล่านี้ ไปพร้อมๆ กัน และจะตัดสินใจแต่งงานก่อนที่จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
แต่งงานก่อนได้งาน
ในสมุดลงชื่อแสดงความจำนงหาคู่ของไป๋หยัง ไม่ได้มีสีว์ตันคนเดียวที่เป็นเด็กสาววัยเรียน “นักศึกษาปี 1 ปี 2 ก็เยอะ แต่ปี 3 ปี 4 ยิ่งเยอะมากขึ้นไปอีก” ไป๋หยังกล่าว และว่า จำนวนเด็กสาวที่มาลงชื่อนั้นยังมีมากกว่าเด็กชายหลายเท่าอีกด้วย
จินเสียหมิ่น นักศึกษาปีที่ 4 ก็เป็นเช่นเดียวกัน เธอให้ความเห็นว่า โอกาสที่จะคู่ที่เหมาะสมนั้นในมหาวิทยาลัยมีไม่มากเท่ากับโลกภายนอก ดังนั้นหากเปิดโอกาสให้ตัวเองรู้จักคนทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย(ผ่านการหาคู่)ย่อมมีโอกาสพบคนที่เหมาะสมมากกว่า นอกจากนั้นการรู้จักคนมากๆ ยังส่งผลดีต่อการหางานในอนาคตด้วย
“หลายคนเห็นเฉพาะfhkoสวยงานของใบทะเบียนสมรส แต่กลับลืมคิดถึงชีวิตหลังจากนั้น บางคนยังไม่ทันมีงานทำก็แต่งงานแล้ว ต้องพึ่งเงินเลี้ยงดูจากผู้ปกครองของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ”ไป๋หยังกล่าวตำหนิ
ไป๋หยังกล่าวอีกว่า เด็กสาวหลายรายที่มายังบริษัทหาคู่ต่างคิดว่าการแต่งงานคืออนาคตของพวกเธอ เป็นตัวบรรเทาความกดดันด้านการงานของพวกเธอ ซึ่งความคิดนี้นับวันก็ยิ่งได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้ปกครองมากขึ้นอีกด้วย แต่พวกเขากลับลืมนึกไปว่า ในความเป็นจริงแล้วบุตรหลานของตนเอง มีวุฒิภาวะพอที่จะไปรับผิดชอบครอบครัวใหม่ได้แล้วหรือไม่
แต่งงานไม่ใช่เรื่องเล็ก
จากประสบการณ์ในการทำงานกว่า 2 ปี ไป๋หยังได้แยกแยะสภาพจิตใจของนักศึกษาที่ต้องการแต่งงานเร็วไว้ดังนี้
บางคนรู้สึกว่าความรักของเขามาถึงจุดที่สามารถแต่งงานได้แล้ว นอกจากนั้นปัจจัยด้านอื่นก็ไม่บกพร่องจึงแต่งงาน ซึ่งกรณีนี้ถือว่าสมเหตุสมผล
บางคนนั้นได้วาดฝันไว้กับการแต่งงาน และมีความอยากรู้อยากเห็นในชีวิตแต่งงาน ซึ่งการแต่งงานโดยมีความคิดเช่นนี้ ชีวิตแต่งงานมักขึ้นๆ ลงๆ ดีบ้างร้ายบ้างสลับกันไป
นอกจากนี้ ยังมีเด็กสาวหลายคนที่เห็นว่าการแต่งงานเป็นการหาที่พึ่ง เมื่อสำเร็จการศึกษาก็หาที่พึ่งทางใจ และกาย เพื่อลดความกดดันในจิตใจ ซึ่งความคิดดังกล่าวเสี่ยงต่อความล้มเหลวในชีวิตแต่งงานมากที่สุด
เจ้าสาววัยเรียนรายหนึ่งซึ่งแต่งงานกับผู้บริหารบริษัทอายุ 32 ปีที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้มาปรึกษากับไป๋หยังว่า เธอมีปัญหาในการแต่งงาน เนื่องจากอายุที่แตกต่างทำให้คุยกับเพื่อนๆ ของสามีไม่รู้เรื่อง ส่วนสามีก็ไม่ต้องการทำตัวเป็นเด็กไปกับเพื่อนๆของเธอ
ไป๋หยังแนะนำว่า เด็กนักศึกษาควรมองการแต่งงานให้รอบด้าน อย่าหวังใช้การแต่งงานเป็นสะพานหาที่พึ่ง แต่ควรยืนด้วยขาของตนเองและดูแลตนเองให้ดีให้ได้ จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการแต่งงาน