xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงทำเนียบขาวสู่ระยะรณรงค์ทั่วปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี – ศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯปี 2008 ที่พลิกล็อกไปมาจนยากแก่การทำนาย เคลื่อนเข้าสู่ระยะแห่งการต่อสู้กันในระดับทั่วประเทศตั้งแต่วันพุธ(9) เมื่อบรรดาผู้หวังครองทำเนียบขาวจากทั้ง 2 พรรคใหญ่ ต้องตระเวนหาเสียงแข่งขันกันในหลายๆ มลรัฐ ซึ่งผู้ออกเสียงมีจำนวนมากมายกว่าสนามแรกๆ ที่ผ่านมา

การที่ ฮิลลารี คลินตัน วุฒิสมาชิกมลรัฐนิวยอร์กและอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ เฉือนชนะ บารัค โอบามา วุฒิสมาชิกอิลลินอยส์ ได้ในการเลือกตั้งขั้นต้นที่มลรัฐนิวแฮมป์เชียร์วันอังคาร(8) หลังแพ้ยับเหนือความคาดหมายในสัปดาห์ก่อนหน้านั้นที่มลรัฐไอโอวา ทำให้การชิงชัยระหว่างตัวเก็งทั้ง 2 เพื่อเป็นผู้สมัครของพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเดือนพฤศจิกายนนี้ กลายเป็นสงครามที่หนักหน่วงและน่าจะยืดเยื้อ โดยสมรภูมิสำคัญต่อจากนี้ไป ได้แก่ มลรัฐเนวาดา และมลรัฐเซาท์แคโรไลนา ก่อนจะถึง “ซูเปอร์ ทิวสเดย์” วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีการจัดเลือกตั้งขั้นต้นพร้อมๆ กันถึง 22 มลรัฐ

เช่นเดียวกับทางฝั่งพรรครีพับลิกัน ชัยชนะที่นิวแฮมป์เชียร์ของ จอห์น แมคเคน วุฒิสมาชิกมลรัฐแอริโซนา ก็ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้แข่งขันของพรรคนี้เปิดกว้างมากขึ้น แมคเคนหวังที่จะมีชัยอีกหนในสนามต่อไป คือ มลรัฐมิชิแกนวันที่ 15 นี้ โดยที่เขาเคยชนะที่นั่นมาแล้วในการรณรงค์หาเสียงเมื่อปี 2000 ทว่า มิตต์ รอมนีย์ อดีตผู้ว่าการมลรัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งได้แค่อันดับ 2 จากทั้งไอโอวาและนิวแฮมป์เชียร์ ก็ต้องพยายามชนะที่มิชิแกนให้ได้เช่นกัน ขณะที่ ไมก์ ฮักคาบี อดีตผู้ว่าการมลรัฐอาร์คันซอ ซึ่งชนะที่ไอโอวา หันไปสนใจกับสนามถัดไป คือ เซาท์แคโรไลนา มากกว่า แล้วยังมี รูดอล์ฟ จูลิอานี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ที่เดินยุทธศาสตร์ไม่ให้ความสำคัญกับมลรัฐเล็กๆ แต่ไปปักหลักหาเสียงที่มลรัฐฟลอริดา ซึ่งจะจัดเลือกตั้งขั้นต้นในวันที่ 29 มกราคม

การแข่งขันกันไปในแต่ละมลรัฐ เพื่อช่วงชิงบรรดาผู้แทนที่จะได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ระดับชาติของพรรคในเดือนสิงหาคม-กันยายน อันจะเป็นสถานที่ตัดสินอย่างเป็นทางการว่าใครจะได้เป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น มาถึงตอนนี้ก็ต้องเปลี่ยนจากการเมืองแบบพบปะสร้างความสนิทสนมกับผู้ออกเสียงในมลรัฐเล็กๆ อย่างไอโอวา และ นิวแฮมป์เชียร์ กลายเป็นการรณรงค์ในระดับชาติ ซึ่งต้องปูพรมด้วยโฆษณาทางทีวี และการตระเวนเดินทางด้วยเครื่องบิน อันล้วนแต่ต้องใช้จ่ายสูง

อดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของอเมริกา เดินทางไปยังเนวาดาวานนี้(10) เพื่อเร่งระดมเพิ่มเสียงสนับสนุนตัวเธอ ก่อนหน้าการเลือกตั้งขั้นต้นแบบคอคัสของมลรัฐนี้ในวันที่ 19 มกราคม โดยคาดหมายได้ว่าจะต้องเป็นการต่อสู้อันหนักหน่วง เพราะสหภาพแรงงานขนาดใหญ่ 2 แห่งของที่นั่น เพิ่งประกาศให้ความสนับสนุนโอบามาไปหมาดๆ

คลินตันซึ่งปกติวางมาดเข้มจริงจังมาตลอด ยอมรับว่าเหตุผลหนึ่งที่เธอกลับมาชนะในนิวแฮมป์เชียร์ ชนิดทำให้พวกสำนักโพลและสื่อต่างๆ หน้าแตกหมอไม่รับเย็บกันเป็นแถว มาจากการเปิดเผยตัวตนภายในแบบไม่มีอำพราง ตอนที่เธอเกือบปล่อยน้ำตาไหลหยด ระหว่างแวะหาเสียงในวันจันทร์(7) ซึ่งเธอพูดถึงความปรารถนาอันแรงกล้าของเธอที่จะเปลี่ยนแปลงอเมริกา แล้วพวกสถานีโทรทัศน์ก็เอาช็อตเด็ดช็อตนี้มาออกอากาศกันครั้งแล้วครั้งเล่า

“ดิฉันได้เวลาชั่วขณะอันเหลือเชื่อในการติดต่อเชื่อมโยงกับพวกผู้ออกเสียงของนิวแฮมป์เชียร์ และพวกเขาก็ได้เห็นมัน และพวกเขาก็ได้ยินมัน” เธอบอกระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการของโทรทัศน์ซีบีเอส

แต่ทางโอบามาก็ไม่แสดงอาการท้อแท้จากความพ่ายแพ้อย่างไม่คาดหมายในนิวแฮมป์เชียร์ และยังคงออกรณรงค์หาเสียงด้วยเนื้อหาเดิมที่ดูจะใช้ได้ผล นั่นคือ ประกาศว่าตนเองคือผู้ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

สำหรับ จอห์น เอดเวิร์ด อดีตวุฒิสมาชิกมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ผู้ได้อันดับ 2 ที่ไอโอวา แต่ตกมาเป็นที่ 3 ที่ นิวแฮมป์เชียร์ ยังคงยืนยันที่จะต่อสู้ต่อไป ทว่า บิลล์ ริชาร์ดสัน ผู้ว่าการมลรัฐนิวเม็กซิโก ซึ่งได้อันดับ 4 จากทั้ง 2 สนามแรก ได้ประกาศยอมแพ้ถอนตัวจากการชิงชัยแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น