xs
xsm
sm
md
lg

"ซีทราน"ทุ่ม 460 ล้านพัฒนาท่าเรือแหลมทวด เปิดประตูขนส่งสินค้าสู่จีน-รับเซาเทิร์นซีบอร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังประสบความสำเร็จในการบริหารท่าเรือเฟอร์รีข้ามไปเกาะต่างๆในจ.สุราษฎร์ฯ บริษัท ซีทรานฯได้ลงทุนทำท่าเรืออเนกประสงค์ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าขึ้นอีก 1 แห่ง
ศูนย์ข่าวภูเก็ต -“ซีทราน”ทุ่มงบ 460 ล้าน พัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์บ้านแหลมทวด เปิดประตูขนส่งสินค้าทางทะเล เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง บรรทุกรับ-ส่งสินค้าไปประเทศจีน และรองรับเซาเทิร์นซีบอร์ด

นายศรีศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีทราน เฟอร์รี จำกัด ผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รีข้ามฟาก ดอนสัก-เกาะสมุย-เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้ลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์บ้านแหลมทวด อำเภอดอนสัก จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อให้เป็นท่าเรือมาตรฐานรองรับการเป็นศูนย์กลางขนส่งทางทะเลใหญ่ที่สุดในภาคใต้

ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในระยะแรกและเปิดบริการแล้วในช่วงปลายปี 2550 เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลเส้นทางระหว่างท่าเทียบเรือ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี – ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี โดยเดินเรือสัปดาห์ละ 4 เที่ยว เที่ยวละ 100 ตู้คอนเทนเนอร์

ทั้งนี้การขนส่งสินค้าทางเรือจะทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลงอย่างมาก เพราะสามารถขนส่งได้ครั้งละปริมาณมากๆ เป็นการเพิ่มขีดแข่งขันกับคู่แข่งโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และยังช่วยลดปัญหาการจราจรบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี

“หากเป็นการขนส่งทางบกปริมาณสินค้า 100 ตู้คอนเทนเนอร์ จะต้องใช้รถบรรทุกขนส่งถึง 100 คัน จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงมาก แต่หากขนส่งทางเรือ สามารถขนส่งด้วยเรือเพียงลำเดียว จึงช่วยให้อุตสาหกรรมของภาคใต้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้เป็นอย่างดี ขณะที่เมื่อนำสินค้าจากภาคใต้ไปยังแหลมฉบังแล้ว ยังจะมีการติดต่อนำสินค้าจากอุตสาหกรรมต่างๆ จากกรุงเทพฯ ส่งมายังภาคใต้ด้วย เช่น สินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถบรรทุก และรถยนต์ เป็นต้น”

สำหรับการเดินเรือจาก อ.ดอนสัก ถึง ท่าเทียบเรือแหลมฉบังนั้นมีระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร และเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางบกจากจังหวัดต่างๆของภาคใต้ไปถึงแหลมฉบัง จะมีระยะทางมากกว่า 800กิโลเมตร โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 20 ชั่วโมงในการลำเลียงสินค้า

โครงการพัฒนาท่าเทียบเรืออเนกประสงค์บ้านแหลมทวด อำเภอดอนสัก ใช้งบประมาณลงทุนระยะแรกประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อพัฒนาให้เป็นท่าเรือมาตรฐานรองรับการเป็นศูนย์กลางขนส่งทางทะเลใหญ่ที่สุดในภาคใต้ โดยได้มีการปรับปรุงลานวางสินค้าขนาดพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร รับน้ำหนักได้ 5 ตันต่อตารางเมตร เรือบาสเครนขนาด 200 ตัน สำหรับยกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์จากเรือสินค้าขนาด 40 ตัน สำหรับยกและย้ายตู้คอนเทนเนอร์

ในขณะนี้กำลังเริ่มโครงการในระยะที่ 2 โดยใช้งบประมาณ 160 ล้านบาท เพื่อขยายท่าเรือรองรับเรือขนาดใหญ่ เพื่อบรรทุกรับ-ส่งสินค้าไปประเทศจีน และเพื่อรองรับสินค้าที่ใช้เส้นทางเซาเทิร์นซีบอร์ด

นอกจากนี้การพัฒนาท่าเรือดอนสักดังกล่าว จะเป็นไปในรูปแบบครบวงจร โดยจะมีอู่ซ่อมเรือขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถซ่อมเรือเดินทะเลขนาด 4,000 ตัน และเรือเฟอร์รีต่างๆในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป้าหมายจะพยายามพัฒนาให้เป็นอู่ซ่อมเรือ ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น