xs
xsm
sm
md
lg

ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังฟุ้งจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมศักดิ์ พจน์ปฏิญญา ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง(คนกลาง)
ศูนย์ข่าวศรีราชา- ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แจงผลงานปีงบ 50 ประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศเพิ่มขึ้น และจะพัฒนาให้ต่อเนื่องต่อไป พร้อมโวจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้า

นายสมศักดิ์ พจน์ปฏิญญา ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวถึงการทำงานในรอบปีงบประมาณ 2550 ว่า สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการบริการ (Service) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) และการควบคุมทางศุลกากร (Customs Control) โดยดำเนินการตามแผนงานและโครงการต่าง ๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลการปฏิบัติงานเชิงประจักษ์ เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความโปร่งใส ในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานฯมีส่วนร่วมในการยกระดับประเทศไทย เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น โครงการนำร่อง (Pilot Project) ในโครงการ e-export (Paperless) ซึ่งการดำเนินการประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายโครงการไปสู่หน่วยงานศุลกากรอื่น ๆ โดยล่าสุดธนาคารโลกได้สำรวจข้อมูลจากทั่วโลกเกี่ยวกับประเทศไทย ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจประจำปี 2007 ซึ่งผลการจัดอันดับประเทศไทยได้เลื่อนลำดับ ประเทศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ จากลำดับที่ 17 เป็นลำดับที่ 15 ของจำนวนประเทศต่าง ๆ 178 ประเทศทั่วโลก โดยระบุเหตุผลของการเลื่อนลำดับมาจากระบบ e-Customs ที่ช่วยยกเครื่องการค้า

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนจัดเก็บรายได้นั้นในปีงบประมาณ 2550 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากรให้จัดเก็บรายได้อากรศุลกากร จำนวน 24,785 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.16 ของประมาณการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร ซึ่งสำนักงานฯ สามารถจัดเก็บรายได้ 25,616 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 831 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.35

ส่วนด้านการจับกุมสินค้าลักลอบและหลีกเลี่ยงภาษีอากร ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังสามารถจับกุมได้ 98 ราย มูลค่า อากรรวมค่าปรับประมาณ 126 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา 88 ราย และมีมูลค่าสูงกว่า 120 ล้านบาท เนื่องจากทางศุลกากรปฏิบัติงาน เอื้อต่อการป้องกันการก่อการร้ายพร้อมมาตรการ และส่งเสริมศักยภาพให้แก่ผู้ส่งออกของไทย เช่น การ Scan ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา โดยใช้ระบบเอกซเรย์ในโครงการ Container Security Initiative : CSI ทำให้สินค้าผ่านการตรวจปล่อยอย่างรวดเร็ว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการของศุลกากรฯ จะต้องเน้นสร้างความเชื่อถือให้แก่ประเทศคู่ค้า โดยสินค้าจะไม่ถูกตรวจสอบที่ท่าเรือของสหรัฐฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกของไทยให้รวดเร็วขึ้น เพราะจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและเสียเวลาในการตรวจของที่สหรัฐฯ เนื่องจากจะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่อันดับ 1 ของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น