xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ส่งออกทุเรียนจันทบุรีครวญพิษเงินบาททำมูลค่าส่งออกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุขประเสริฐ พัฒนะผล
ศูนย์ข่าวศรีราชา –ผู้ส่งออกทุเรียนจันทบุรีครวญ สารพันปัญหารุม ทั้งพิษเงินบาททำมูลค่าตลาดที่ควรจะได้ลดลง โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน ที่แต่ละปีจะมีตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อคิดเป็นค่าเงินบาทกลับสวนทางกับตัวเลขส่งออก ขณะเดียวกันพ่อค้าคนกลางในจีนยังกดราคา เตรียมหาลู่ทางขยายตลาดส่งออกไปฟิลิปปินส์เพื่อกระจายผลผลิตในปีหน้า ด้านศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก(จันทบุรี) ชี้เป้าตัวเลขส่งออกผัก ผลไม้แช่เย็น แช่แข็งและแห้งในปี 51จะถึง 641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสุขประเสริฐ พัฒนะผล ผู้ดูแลแผงทุเรียนแหม่ม จังหวัดจันทบุรี ศูนย์รวมและคัดแยกทุเรียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน เผยถึงการส่งออกทุเรียนในปี 2551 ว่าแม้ ความต้องการบริโภคในประเทศจีนจะมีมากขึ้น แต่ผู้ส่งออกกลับได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้มูลค่าตลาดที่ควรจะได้รับลดลงอย่างน่าตกใจ กล่าวคือในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูผลผลิตที่มีคำสั่งซื้อมาแล้ว 8-9 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน แต่แผงกลับส่งออกได้เพียง 5 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน เพราะค่าเงินบาททำให้ยอดขายที่ควรจะได้รับไม่คุ้มค่าการลงทุน

“แม้จะส่งไปในปริมาณมากแต่เมื่อตีเป็นเงินไทยแล้วเรากลับได้น้อยลง ซึ่งในแต่ละปีเราจะส่งออกประมาณพันกว่าตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท โดย เฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีผลผลิตออกมากเราก็ส่งได้มาก แต่ในปีนี้ค่าเงินบาทแข็งเกินไปถึงส่งไปเยอะรายได้ก็ไม่เยอะตาม ที่สำคัญเรายังแก้ปัญหาเรื่องถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และการปั่นราคาจำหน่ายในต่างประเทศไม่ได้จนทำให้ขณะนี้ราคาผลไม้ของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก ”

นายสุขประเสริฐ ยืนยันว่าสาเหตุสำคัญที่การส่งออกทุเรียนไปจีน ของกลุ่มผู้ส่งออกไม่มากเท่าที่ควร ไม่ใช่เพราะปัญหาด้านมาตรฐานทุเรียน แต่เป็นเพราะการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยให้ความช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาพ่อค้าคนกลางชาวไทยในประเทศจีน สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าเกษตรไม่ใช่สินค้าที่สามารถพยุงราคาได้ จึงทำให้ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของผู้ส่งออกคือหันไปหาตลาดใหม่ที่มีความสนใจผลไม้จากไทยเช่นเดียวกับประเทศจีน ซึ่งในเร็วๆ นี้ผู้บริหารแผงทุเรียนแหม่ม จะเดินทางไปเปิดตลาดในประ เทศฟิลิปปินส์เพื่อกระจายผลผลิตในปีหน้า

อย่างไรก็ดีทิศทางราคาผลไม้ในปี 2551 โดยเฉพาะทุเรียนคาดว่าน่าจะสร้างผลกำไรให้แก่ชาวสวนได้ เนื่องจากราคาจำหน่ายหน้าสวนขณะนี้ขยับตัวสูงขึ้น เห็นได้จากการตั้งราคาจำหน่ายทุเรียนพันธุ์กระดุม ในระดับ 20 บาทต่อกิโลกรัมจากปีก่อนที่จำ หน่ายเพียง 10 กว่าบาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น และคาดว่าราคาจำหน่ายทุเรียนในพันธุ์อื่นๆ ก็จะสูงตามด้วย

หอฯจันท์ จี้รัฐบาลหาเจ้าภาพพัฒนาสินค้าเกษตร
ทุเรียนเกรดเอ ถูกคัดแยกเพื่อเตรียมส่งออกไปยังประเทศจีน โดยปีนี้ คาดว่าการส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศมีทิศทางที่สดใส
นายปราโมช ร่วมสูข ประธานหอการค้าจังหวัดจันทุบรี เผยถึงตลาดส่งออกผลไม้ในภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีว่ายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาเรื่องระบบขนส่ง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถกระจายผลผลิตออกสู่ตลาด ทั้งในและต่างประเทศได้สะดวก จนก่อให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด ส่งผลกระทบต่อราคาจำหน่าย ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือ ด้านการจัดการระบบขนส่งเพื่อกระจายสินค้า หรือแม้แต่รัฐบาลหากให้ความจริงใจในการจัดหาเจ้าภาพในการพัฒนาคุณภาพ ผลผลิตทางการเกษตรและการกระจายสินค้า ก็จะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ลืมตาอ้าปากได้

ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้เชี่ยวชาญจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เผยว่าปัจจุบันผู้ส่งออกไทยยังต้องผจญกับต้นทุนลอจิสติกส์ต่อยอดขายที่สูงมาก โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งผลไม้ไปยังต่างประเทศที่สูงถึง 15.5% ดังนั้นในอนาคตผู้ส่งออกจะต้องรวมตัวกันเพื่อส่งออกผลผลิตสำหรับลดต้นทุนขนส่ง

ด้านนางรุ่งศรี เฑียรพาณิชย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) เผยุถึงแนวโน้มการส่งออกผลไม้ในภาคตะวันออกไปยังต่างประเทศว่ามีทิศทางที่สดใส เห็นได้จากจำนวนศูนย์กระจายสินค้าและคัดแยกสินค้าการเกษตรที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่ ดังนั้น ในอนาคตหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องการขนส่งได้สำเร็จ ก็จะทำให้การกระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศของเกษตรกรภาคตะวันออกดียิ่งขึ้น

คาดส่งออกผลไม้ปี 51แตะ 641.8 ล้านเหรียญ

ทั้งนี้จากการจัดทำโครงสร้างการส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ในภาคตะวันออกของศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคตะวันออก (จันทบุรี) ชี้เป้าหมายการส่งออกผักและผลไม้ในปี 2551 ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 641.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 10 เห็นได้จากตัวเลขในเดือนแรกของปี 2551(มกราคม-กุมภาพันธ์ ) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งในประเทศจีน มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.92 อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.87 ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 30.11

สำหรับสินค้าผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าพบว่าผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งมีมูลค่า 10.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า 45.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.34 โดยมีตลาดหลักคือ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซียและฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 57.59 ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น มาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 80.61 ไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 68.62
กำลังโหลดความคิดเห็น