xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”เดินหน้ากม.ค้าปลีกฯ ขีดเส้นห้างค้าปลีกลงเอ็มโอยู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-“พาณิชย์”ยืนยันเดินหน้ากฎหมายค้าปลีก เตรียมส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่พิจารณา “ยรรยง”ขีดเส้นห้างค้าปลีกเซ็นเอ็มโอยูรับเงื่อนไขสถานที่ตั้งและระยะเวลาเปิดปิดภายในเดือนม.ค.นี้ หวังให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ในช่วงไม่มีกฎหมายเฉพาะดูแล พร้อมสร้างเครือข่ายผู้ผลิตกับโชห่วย นำร่อง 5 จังหวัด และช่วยพัฒนาร้านค้าปลีก

นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยในงานประชุมผู้บริหารนโยบายค้าปลีก-ค้าส่งแห่งเอเชีย วานนี้ (8 ม.ค.) ว่า กรมฯ จะเสนอร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ. ... ที่ได้มีการยกร่างเสร็จแล้ว แต่มีผลบังคับใช้ไม่ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ให้รัฐบาลใหม่พิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้มีการเดินหน้าร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากรัฐบาลใหม่เห็นด้วย ก็สามารถผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาในการยกร่างกฎหมายใหม่

ทั้งนี้ กรมฯ ยืนยันว่าไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายค้าปลีกค้าส่งมาบังคับใช้ เพราะเป็นกฎหมายเฉพาะที่ดูแลเรื่องธุรกิจค้าปลีกค้าส่งโดยตรง ไม่สามารถใช้กฎหมายฉบับอื่น เช่น กฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร เข้ามาแก้ไขปัญหาได้

“ทุกประเทศที่มาร่วมประชุมผู้บริหารนโยบายค้าปลีก-ค้าส่งแห่งเอเชีย ในครั้งนี้ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ต่างระบุถึงความจำเป็นของการมีกฎหมายในการดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง โดยเฉพาะกฎหมายที่จะดูแลเรื่องการจัดโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกภายในประเทศ เช่น กำหนดสถานที่ตั้ง เวลาเปิดปิด และพฤติกรรมของในการแข่งขันที่เป็นธรรม”นายยรรยงกล่าว

นายยรรยงกล่าวว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายค้าปลีกมาบังคับใช้ กรมฯ จะใช้วิธีขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ให้ยอมรับเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ที่จะขอความร่วมมือในเรื่องของการกำหนดสถานที่ตั้งของห้างค้าปลีก และระยะเวลาเปิดปิด เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย ได้รับผลกระทบมากไปกว่านี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งไปหารือรายละเอียดระหว่างกันอยู่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาหาข้อสรุปได้ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้การลงนามเอ็มโอยูเสร็จสิ้นภายในเดือนม.ค. 2551 นี้

“คิดว่าผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ จะเห็นด้วยตามข้อตกลงในเอ็มโอยู เพราะเอ็มโอยูจะดูแลใน 2 ส่วน คือ สถานที่ตั้ง และระยะเวลาเปิดปิด โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ตั้ง ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ยอมรับได้อยู่แล้ว เพราะเป็นหลักปฏิบัติทั่วไป ส่วนระยะเวลาเปิดปิด ก็ไม่น่ามีปัญหา”นายยรรยงกล่าว

สำหรับเงื่อนไขในเอ็มโอยูนั้น กำหนดไว้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ห้างค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ดิสเคาท์สโตร์ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ และแคชแอนด์แครี่ กำหนดให้บริเวณที่ตั้งอยู่ห่างเขตเทศบาลไม่น้อยกว่า 12 กิโลเมตร และมีความหนาแน่นประชากรในเขตอำเภท รวมถึงผู้สัญจรผ่านไปมาไม่น้อยกว่า 100,000 คนต่อ 1 แห่ง กำหนดระยะเวลาเปิด-ปิด ไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน

2.ร้านสรรพาหาร เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต กำหนดบริเวณที่ตั้ง อยู่ห่างเขตเทศบาลไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร และมีความหนาแน่นของประชากรในเขตอำเภท รวมถึงผู้สัญจรผ่านไปมาไม่น้อยกว่า 50,000 คน ต่อ 1 แห่ง กำหนดเวลาเปิด-ปิด ไม่เกินวันละ 12 ชั่วโมง

3.ร้านสะดวกซื้อที่ขายสินค้าลดราคา ได้แก่ ดิสเคาท์คอนวีเนี่ยนสโตร์ กำหนดบริเวณที่ตั้งอยู่ห่างตลาดสดไม่น้อยกว่า 500 เมตร และความหนาแน่นประชากรในเขตเทศบาลหรือชุมชน รวมถึงผู้สัญจรไปมา ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ต่อ 1 แห่ง กำหนดเวลาเปิด-ปิด ไม่เกินวันละ 15 ชั่วโมง

4.ร้านสะดวกซื้อทั่วไป ได้แก่ คอนวีเนี่ยนสโตร์ ไม่กำหนดบริเวณที่ตั้ง แต่ต้องมีความหนาแน่นประชากรในเขตเทศบาลหรือชุมชน รวมถึงผู้สัญจรไปมา ไม่น้อยกว่า 3,000 คนต่อ 1 แห่ง และไม่กำหนดระยะเวลาเปิด-ปิด

นายยรรยงกล่าวว่า นอกจากการใช้เอ็มโอยูในการแก้ไขปัญหาค้าปลีกค้าส่งระหว่างที่ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ กระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไทย โดยรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายให้เกิดการเชื่อมโยงผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เพื่อดำเนินการทางการตลาดในการรวมกันสั่งซื้อสินค้า การจัดกิจกรรมทางการตลาด รวมทั้งสร้างประสิทธิภาพในการกระจายสินค้า โดยได้ดำเนินการนำร่องใน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร อุบลราชธานี สระบุรี จันทบุรี และสมุทรสงคราม

ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาภาพลักษณ์และการบริหารจัดการที่ดี โดยการสร้างต้นแบบร้านสะดวกซื้อ ที่มีการบริหารจัดการสินค้าอย่างเป็นระบบ ให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการสมัยใหม่ และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง

นายโมฮัมเม็ด เอเลียส บิน อาบู บากา ผู้แทนกระทรวงการค้าภายในและผู้บริโภค จากมาเลเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันมาเลเซียมีกฎหมายค้าปลีกค้าส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะใช้ดูแลการเติบโตของธุรกิจนี้ โดยสาระสำคัญคือการปกป้องให้เกิดความเป็นธรรมต่อค้าปลีกดั่งเดิมของประเทศ และการพัฒนาค้าปลีกดั่งเดิมให้สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้กระทบความเชื่อมั่นการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศยังสามารถมีได้ภายใต้เงื่อนไข เช่น การกำหนดระยะห่างการตั้งสาขาห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ การให้มีสินค้าท้องถิ่นวางจำหน่ายในห้างไม่ต่ำกว่า 50% การกำหนดให้ใช้บริการในประเทศ เช่น บริการทนายความ

นายโด ตุง เกียม ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามมีกฎหมายเฉพาะที่ดูแลธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 2 ฉบับ คือ กฎหมายที่ดูแลเรื่องระบบตลาด มีการกำหนดขนาดว่าธุรกิจเล็ก กลางและใหญ่ เพื่อให้การกำกับดูแลทั้งระบบมีความเหมาะสม และกฎหมายที่ดูแลเรื่องบริหารจัดการด้านการแข่งขันให้เป็นธรรม

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง กล่าวว่า ในส่วนของผู้ประกอบการแล้ว เห็นด้วยที่จะให้มีพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งออกมาบังคับใช้ แต่ขอให้เป็นกฎหมายที่มีความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากกว่า เนื้อหาของพระราชบัญญัติ นอกจากจะไม่ช่วยโชห่วยตามวัตถุประสงค์แล้ว ยังขาดสาระสำคัญในการคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สุดของวงจรธุรกิจค้าปลีกค้าส่งอีกด้วย แต่เมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับเดิมไม่ผ่านสภาฯ และขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง ก็เชื่อมั่นว่าทั้งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ฯ จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งฉบับนี้อย่างเป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคมากกว่ามุ่งปกป้องพ่อค้าคนกลางเหมือนกับร่าง ฯ เดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น