xs
xsm
sm
md
lg

โครงการมารีนา“เดอะยามู”มีสิทธิ์ล้ม ผิดกม.-ทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 พื้นที่ก่อสร้างโครงการมารีนาเดอะยามู จากข้อมูลนักวิชาการชายฝั่งฯ พบว่า หากก่อสร้างโครงการจะกระทบต่อปะการังและหญ้าทะเล ที่มีความสำคัญต่อสัตว์น้ำ
ศูนย์ข่าวภูเก็ต -โครงการก่อสร้างมารีนา “เดอะยามู” มีสิทธิ์ล้ม เมื่อคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม ระบุจุดก่อสร้างทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ พร้อมเสี่ยงทำผิดกฎหมายขนย้ายปะการัง เสนอกำหนดโซนนิ่งก่อสร้างมารีนาในภูเก็ต ป้องกันมารีนาส่วนตัวเกิดเป็นดอกเห็ด

คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำโดยนายวสันต์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการฯ พร้อมคณะได้เดินทางมารับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้ร้องเรียนการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือยอชต์ หรือ มารีนา “เดอะยามู” ของบริษัท เดอะยามู จำกัด ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปะการังและหญ้าทะเล หากมีการก่อสร้างโครงการ และการลิดรอนสิทธิ์ชาวบ้านในการปิดทางสาธารณะ โดยมีนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำจังหวัดภูเก็ต นักวิชาการจากสถาบันชีวะฯ ประมงจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจาก สผ. นายกอบต.ป่าคลอก ตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการและตัวแทนชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน

**จว.ยันชาวบ้านขัดแย้งไม่ให้สร้าง

นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ชี้แจงว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2550 สำนักงานขนส่งทางน้ำจังหวัดภูเก็ตได้นำเรื่องสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคณะกรรมการฯได้เห็นชอบในหลักการในการก่อสร้างมารีนาดังกล่าว เพราะสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต แต่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอบต.ป่าคลอก ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่เห็นด้วยกับโครงการ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเน้นการพัฒนาที่ควบคู่กับการอนุรักษ์

“จนถึงขณะนี้ จังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการ ผู้ว่าฯย้ำตลอดว่า จะอนุญาตให้ก่อสร้างได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตต้องการที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนดเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างท่าเรือให้ชัดเจน เพื่อใช้เป็นกรอบในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเรือหรือมารีนาในพื้นที่หรือไม่” นายวรพจน์ กล่าวและว่า เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนมารีนาส่วนตัวเหมือนโครงการเดอะยามูอีกหลายโครงการ

ปะการังแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

ขณะที่นางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน กล่าวถึงสภาพปะการังและหญ้าทะเลในจุดที่จะก่อสร้างมารีนาเดอะยามู ว่า พื้นที่ที่จะก่อสร้างมารีนาดังกล่าวเป็นพื้นที่โผล่พ้นน้ำในช่วงที่น้ำลดจากการสำรวจพื้นที่หากจะสร้างมารีนาจะต้องมีการขุดล่องน้ำ เพื่อให้เรือเข้าจอดได้ และจะต้องขุดล่องน้ำเป็นจำนวนมาก เพราะพื้นที่มีความลาดชันน้อย และปะการังในบริเวณนั้นมีความสมบูรณ์ประมาณ 30% ที่เหลือเป็นปะการังที่ตาย แต่ปะการังที่ตายแล้วถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

ส่วนหญ้าทะเล ในบริเวณจุดสร้างมารีนามีความสมบูรณ์มาก แม้จะมีเป็นหย่อมๆก็ตาม ซึ่งหญ้าทะเลในบริเวณนี้จะเชื่อมโยงกับหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกที่มีประมาณ 1,800 ไร่ และในวันที่ลงสำรวจยังพบว่ามีปลาและกุ้งตัวเล็กอยู่ในบริเวณหญ้าทะเลด้วย

นางสาวนลินี กล่าวอีกว่า จากการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านยังมีความกังวลต่อการเกิดขึ้นของโครงการอีกหลายประการ ไม่ว่าจะตะกอนที่เกิดจากการขุดลอกร่องน้ำที่มีพื้นที่ประมาณ 13,800 ตารางเมตร เพื่อรองรับเรือขนาด 3-30 ตันกรอส จำนวน 389 ลำ ที่จะคลุ้งกระจายไปกระทบปะการังและหญ้าทะเล จุดที่จะทิ้งตะกอน เมื่อก่อสร้างแล้วจะปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

กำหนดโซนนิ่งสร้างมารีนา

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯได้สอบถามถึงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และหาแนวทางในการกำหนดกรอบการอนุญาตให้แก่จังหวัดภูเก็ต โดยการกำหนดพื้นที่เป็นโซนนิ่งสำหรับกิจกรรมด้านมารีนาในภูเก็ต เพื่อวางกรอบในการพิจารณาของจังหวัดภูเก็ต ในการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตโครงการก่อสร้างมารีนาในอนาคต เพราะเชื่อว่าในอนาคตการพัฒนาที่ดินที่อยู่ติดริมทะเล จะต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างมารีนาอีกหลายโครงการ ซึ่งกรอบที่กำหนด อาจจะมีการออกเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในภูเก็ตอยู่ในขณะนี้

ทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ-เสี่ยงผิดกฎหมาย

ด้านนายวสันต์ กล่าวว่า ในบริเวณที่มีการก่อสร้าง มีทั้งปะการังถึงแม้ว่าจะมีความสมบูรณ์เพียง 30%เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นซากปะการัง และบางส่วนยังมีหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมองว่าทั้ง 2 ส่วนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำแม้ว่าจะมีข้อมูลที่ยืนยันอยู่ 2 ส่วน ที่ไม่ตรงกัน ระหว่างชาวบ้านที่บอกว่าไม่มีผลกระทบต่อการจับสัตว์น้ำหรืออื่นๆใดเลย ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้นเมื่อเติบโตก็จะไปอยู่ด้านนอก ซึ่งหากมีการก่อสร้างก็เท่ากับเป็นการทำลายแหล่งอนุบาลหรือห่วงโซ่อาหาร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะไม่มีการจับปลาหรือทำมาหากินบริเวณนั้น แต่สัตว์น้ำไม่ได้มีการจำกัดอาณาเขตเฉพาะ โดยมีการเผยแพร่ไปทั่วซึ่งย่อมที่จะมีผลกระทบอย่างแน่นอน

“เรื่องเหล่านี้เสี่ยงต่อการกระทำความผิดต่อกฎหมาย เนื่องจากภูเก็ตถูกคุ้มครองจากประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการระบุชัดเจนห้ามทำลายหรือแม้แต่การเคลื่อนย้าย ซึ่งจะลงทุนสูง เมื่อมีผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ” นายวสันต์ กล่าวและว่า

ผู้ที่อนุมัติจะต้องทบทวนแล้วว่า การอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปนั้นสมควรหรือไม่ เนื่องจากเมื่อเกิดความเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถที่จะฟื้นคืนกลับมาเหมือนเดิม และถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการก่อสร้างในทะเล ปัจจุบันใครมีพื้นที่ติดกับทะเลก็จะก่อสร้างได้โดยง่าย ต่อจากนี้จะมีกฎหมายหรือมาตรการอะไรมารองรับการก่อสร้างดังกล่าว นอกเหนือจาก IEE ซึ่งพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการระดับจังหวัดในพื้นที่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเฉพาะข้าราชการเท่านั้น จะแตกต่างจากคณะกรรมการระดับประเทศแม้จะมีหน่วยงานราชการร่วมอยู่ด้วย แต่ส่วนหนึ่งก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีทั้งนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ดังนั้น ในส่วนของกฎหมายก็ต้องมีการปรับปรุงใหม่

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า หลังการรับฟังความเห็นครั้งนี้ และมีการตรวจสอบแล้วคงจะมีรายงานเสนอผ่านทางคณะกรรมการสิทธิฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอให้มีการจัดโซนนิ่งในพื้นที่ของอ่าวพังงาทั้งหมดไม่เฉพาะภูเก็ตเท่านั้น ว่าจะให้เกิดมารีนาหรือท่าเทียบเรือบริเวณใดได้บ้าง ซึ่งอนุกรรมการฯ เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่จะต้องมีการจำกัดและคุ้มค่า ไม่ใช่เมื่อพัฒนาไปแล้วคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย เช่น ประมงพื้นบ้าน ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าคนกลุ่มนี้ในภูเก็ตหรืออ่าวพังงา ยังมีอยู่ ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้ด้วย เพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยมิเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของคนกลุ่มนี้ เป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ คิดว่าเรื่องนี้น่าจะจบ รอเพียงข้อมูลเพิ่มเติมจากรองผู้ว่าฯ ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็จะรีบสรุปเป็นรายงานนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น ซึ่งจะมองทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยว่า ควรจะก่อสร้างต่อไปหรือไม่อย่างไร แต่คงจะไม่ใช่เป็นการตัดสิน เพียงแต่ให้ความเห็นว่าเป็นอย่างไร เพราะการจะตอบได้ต้องออกมาจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ส่วนหน่วยงานจะนำไปใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง โดยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ให้อำนาจแก่กรรมการสิทธิฯเพิ่มเติม กรณีที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะฟ้องต่อศาลปกครองแทนชาวบ้านได้

สำหรับโครงการมารีนาของบริษัท เดอะยามู เป็นการลงทุนโดยนักลงทุนชาวต่างชาตินายเอียน ไมเคิล ซาร์ลส์ แฮนรี เป็นท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอส พร้อมโรงแรม 66 หลัง และรีสอร์ตที่เป็นวิลลาอีก 32 หลัง เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น