xs
xsm
sm
md
lg

มารีนา “เดอะยามู” มีสิทธิล้ม เหตุทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ-เสี่ยงผิด กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - โครงการก่อสร้างมารีนา “เดอะยามู” มีสิทธิล้ม เมื่อคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม ระบุ จุดก่อสร้างทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ พร้อมเสี่ยงทำผิดกฎหมายขนย้ายปะการัง เสนอกำหนดโซนนิงก่อสร้างมารีนาในภูเก็ต ป้องกันมารีนาส่วนตัวเกิดเป็นดอกเห็ด


วันนี้ (7 ม.ค.) คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำโดยนายวสันต์ พาณิช ประธานคณะอนุกรรมการ พร้อมคณะได้เดินทางมารับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีที่ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้ร้องเรียนการก่อสร้างโครงการท่าเทียบเรือยอชต์ หรือ มารีนา “เดอะยามู” ของบริษัท เดอะยามู จำกัด ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปะการังและหญ้าทะเล หากมีการก่อสร้างโครงการดังกล่าว และการริดรอนสิทธิ์ชาวบ้านในการปิดทางสาธารณะ โดยมีนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำจังหวัดภูเก็ต นักวิชาการจากสถาบันชีวะฯ ประมงจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนจาก สผ. นายกอบต.ป่าคลอก ตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการและตัวแทนชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการ ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน

จว.ยันชาวบ้านขัดแย้งไม่ให้สร้าง

นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ชี้แจงว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2550 สำนักงานขนส่งทางน้ำจังหวัดภูเก็ตได้นำเรื่องสู่การพิจารณา ของคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคณะกรรมการได้เห็นชอบในหลักการในการก่อสร้างมารีนาดังกล่าว เพราะสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต แต่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอบต.ป่าคลอกไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเน้นการพัฒนาที่ควบคู่กับการอนุรักษ์

“จนถึงขณะนี้ จังหวัดภูเก็ตยังไม่ได้อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว ผู้ว่าฯย้ำตลอดว่า จะอนุญาตให้ก่อสร้างได้ก็ต่อเมื่อประชาชนในพื้นที่มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งจังหวัดภูเก็ตต้องการที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศกำหนดเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างท่าเรือให้ชัดเจน เพื่อให้ทางจังหวัดได้ใช้เป็นกรอบในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ก่อสร้างท่าเรือหรือมารีน่าในพื้นที่หรือไม่” นายวรพจน์ กล่าวและว่า

เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะมีเอกชนเข้ามาลงทุนมารีน่าส่วนตัวเหมือนโครงการเดอะยามูอีกหลายโครงการ

ปะการังแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

ขณะที่ นางสาวนลินี ทองแถม นักวิชาการจากสถาบันวิจัยและพัฒนา ทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งและป่าชายเลน กล่าวถึงสภาพปะการังและหญ้าทะเลในจุดที่จะก่อสร้างมารีน่าเดอะยามู ว่า พื้นที่ที่จะก่อสร้างมารีน่าดังกล่าวเป็นพื้นที่โผล่พ้นน้ำในช่วงที่น้ำลดจากการสำรวจพื้นที่หากจะสร้างมารีน่าจะต้องมีการขุดร่องน้ำ เพื่อให้เรือเข้าจอดได้ และจะต้องขุดล่องน้ำเป็นจำนวนมาก เพราะพื้นที่มีความลาดชันน้อย และปะการังในบริเวณนั้นจะเป็นปะการังที่มีความสมบูรณ์ประมาณ 30% ที่เหลือเป็นปะการังที่ตายทั้งหมด แต่ปะการังที่ตายแล้วถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ

ส่วนหญ้าทะเล ในบริเวณจุดที่สร้างมารีนาหญ้าทะเลจะมีความสมบูรณ์มาก แม้จะมีหญ้าทะเลเป็นหย่อมๆก็ตาม ซึ่งหญ้าทะเลในบริเวณนี้จะเชื่อมโยงกับหญ้าทะเลในอ่าวป่าคลอกที่มีประมาณ 1,800 ไร่ และในวันที่ลงปาสำรวจยังพบมามีปลาและกุ้งตัวเล็กอยู่ในบริเวณหญ้าทะเลนั้นด้วย

นางสาวนลินี กล่าวอีกว่า จากการที่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน ชาวบ้านยังมีความกังวลต่อการเกิดขึ้นของโครงการอีกหลายประการ ไม่ว่าจะตะกอนที่เกิดจากการขุดลอกล่องน้ำที่มีพื้นที่ประมาณ 13,800 ตรม.เพื่อรองรับเรือขนาด 3-30 ตันกรอส จำนวน 389 ลำ ที่จะคลุ้งกระจายไปกระทบปะการังและหญ้าทะเล จุดที่จะทิ้งตะกอน เมื่อก่อสร้างแล้วจะปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่

ชาวบ้านหนุนมีงานทำ

ด้าน นายสมบูรณ์ สำเภารัตน์ ชาวบ้านบ้านยามู กล่าวว่า ชาวบ้านบ้านยามูที่ทำอาชีพประมงมีเพียง 2 รายเท่านั้น และไม่ได้ทำประมงในบริเวณที่ก่อสร้าง ส่วนที่เหลือได้เข้าไปทำงานในโครงการเดอะยามูและโครงการอื่นๆ เมื่อก่อนตนเคยทำโป๊ะจับปลาที่บริเวณที่ก่อสร้างมารีนา จับปลาได้น้อยมากแทบที่จะไม่ได้ขายเลย ได้ขายเพียงครั้งเดียวคือจับปลากระเบนขนาดน้ำหนัก 20 กก.เท่านั้น ที่เหลือพอทำเป็นอาหารในครอบครัวเท่านั้น

นายปัญญา สำเภารัตน์ นายก อบต.ป่าคลอก ระบุว่า ตนเห็นด้วยที่จะให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อนำการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่ แต่การพัฒนานั้นจะต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและวีถีชีวิตของชุมชน และในบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่มีหญ้าทะเลไม่มากนัก หญ้าทะเลจะหนาแน่นในบริเวณหมู่ที่ 2 บ้านบางโรง

ชาวบ้านยังไม่เห็นด้วย

ด้าน นายสมพงศ์ คุ้มบ้าน ชาวบ้านเดอะยามู ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการ กล่าวว่า ตนทำอาชีพประมงด้วยการวางอวนจับปลา กุ้งและหาหอยในบริเวณดังกล่าว หากโครงการเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อตนและชาวประมงชายฝั่งในบริเวณนั้นอีกมาก

กำหนดโซนนิงสร้างมารีนา

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการได้สอบถามถึงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และหาแนวทางในการกำหนดกรอบการอนุญาตให้กับจังหวัดภูเก็ต โดยการกำหนดพื้นที่เป็นโซนนิ่งสำหรับกิจกรรมด้านมารีนาในภูเก็ต เพื่อวางกรอบในการพิจารณาของจังหวัดภูเก็ต ในการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตโครงการก่อสร้างมารีนาในอนาคต เพราะเชื่อว่าในอนาคตการพัฒนาที่ดินที่อยู่ติดริมทะเล จะต้องมีการขออนุญาตก่อสร้างมารีนาอีกหลายโครงการ ซึ่งกรอบที่กำหนด อาจจะมีการออกเป็นมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้ในภูเก็ตอยู่ในขณะนี้

ทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ-เสี่ยงผิดกฎหมาย

ด้าน นายวสันต์ กล่าวภายหลังจากรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ในบริเวณที่มีการก่อสร้างนั้นมีทั้งปะการังถึงแม้ว่าจะมีความสมบูรณ์เพียง 30%เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นซากปะการัง และบางส่วนยังมีหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งมองว่าทั้งสองส่วนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำแม้ว่าจะมีข้อมูลที่ยืนยันอยู่ 2 ส่วน ที่ไม่ตรงกัน ระหว่างชาวบ้านที่บอกว่าไม่มีผลกระทบต่อการจับสัตว์น้ำหรืออื่นๆใดเลย ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในบริเวณนั้นเมื่อเติบโตก็จะไปอยู่ด้านนอก ซึ่งหากมีการก่อสร้างก็เท่ากับเป็นการทำลายแหล่งอนุบาลหรือห่วงโซ่อาหาร ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ แม้จะไม่มีการจับปลาหรือทำมาหากินบริเวณนั้น แต่สัตว์น้ำไม่ได้มีการจำกัดอาณาเขตเฉพาะโดยมีการเผยแพร่ไปทั่วซึ่งย่อมที่จะมีผลกระทบอย่างแน่นอน

“เรื่องเหล่านี้เสี่ยงต่อการกระทำความผิดต่อกฎหมาย เนื่องจากภูเก็ตถูกคุ้มครองจากประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการระบุชัดเจนห้ามทำลายหรือแม้แต่การเคลื่อนย้ายซึ่งจะลงทุนสูง เมื่อมีผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ” นายวสันต์ กล่าวและว่า

ผู้ที่อนุมัติไปนั้นจะต้องทบทวนแล้วว่า การอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไปนั้นสมควรหรือไม่ เนื่องจากเมื่อเกิดความเสียหายไปแล้ว ไม่สามารถที่จะฟื้นคืนกลับมาเหมือนเดิม และถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการก่อสร้างในทะเล ซึ่งปัจจุบันใครมีพื้นที่ติดกับทะเลก็จะก่อสร้างได้โดยง่าย ต่อจากนี้จะมีกฎหมายหรือมาตรการอะไรมารองรับการก่อสร้างดังกล่าว นอกเหนือจาก IEE ซึ่งพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการระดับจังหวัดในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเฉพาะข้าราชการเท่านั้น จะแตกต่างจากคณะกรรมการระดับประเทศแม้จะมีหน่วยงานราชการร่วมอยู่ด้วย แต่ส่วนหนึ่งก็จะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีทั้งนักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จึงทำให้เกิดความไม่เท่าทัน ดังนั้น ในส่วนของกฎหมายก็ต้องมีการปรับปรุงใหม่

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า หลังการรับฟังความเห็นครั้งนี้ และมีการตรวจสอบแล้วคงจะมีรายงานเสนอผ่านทางคณะกรรมการสิทธิฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอให้มีการจัดโซนนิ่งในพื้นที่ของอ่าวพังงาทั้งหมดไม่เฉพาะภูเก็ตเท่านั้น ว่าจะให้เกิดมารีน่าหรือท่าเทียบเรือบริเวณใดได้บ้าง ซึ่งอนุกรรมการฯ เห็นด้วยกับการพัฒนา แต่จะต้องมีการจำกัดและคุ้มค่า ไม่ใช่เมื่อพัฒนาไปแล้วคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย เช่น ประมงพื้นบ้าน ไม่สามารถอยู่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าคนกลุ่มนี้ในภูเก็ตหรืออ่าวพังงา ยังมีอยู่ ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้ด้วย เพื่อให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยมิเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการทำลายรากฐานของคนกลุ่มนี้ เป็นเรื่องสำคัญ

ทั้งนี้ คิดว่าเรื่องนี้น่าจะจบ รอเพียงข้อมูลเพิ่มเติมจากรองผู้ว่าฯ ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็จะรีบสรุปเป็นรายงานนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น ซึ่งจะมองทั้งปัจจุบันและอนาคตด้วยว่า ควรจะก่อสร้างต่อไปหรือไม่อย่างไร แต่คงจะไม่ใช่เป็นการตัดสิน เพียงแต่ให้ความเห็นว่าเป็นอย่างไร เพราะการจะตอบได้นั้นต้องออกมาจากคณะกรรมการไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง ส่วนหน่วยงานจะนำไปใช้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง โดยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้ให้อำนาจกับกรรมการสิทธิฯเพิ่มเติม กรณีที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สามารถที่จะฟ้องต่อศาลปกครองแทนชาวบ้านได้

ต่อคำถามที่ว่าเอกชนจะร้องเรียนได้ว่ามี 2 มาตรฐาน เนื่องจากขณะนี้มีการอนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือของบริษัทอิตาเลี่ยนไทย จำกัด ที่บริเวณอ่าวปอ ซึ่งนายวสันต์ กล่าวว่า มีการเสนอเรื่องมายังกรรมการฯ เมื่อมีการก่อสร้างไปแล้วเกินกว่าครึ่ง ซึ่งเห็นว่าไม่สามารถที่จะยับยั้งได้ จึงมีการเสนอให้รัฐบาลลงโทษสอบสวนข้อเท็จจริงคนที่อนุมัติ เช่น คณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงลำล้ำน้ำ เป็นต้น เพื่อเป็นการป้องปรามในอนาคตไม่ให้มีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ทั้งๆ ที่มีกฎหมายกำหนดและเห็นปะการังชัดเจนที่ถูกทำลาย ส่วนกรณีของเดอะยามูเมื่อยังไม่อนุมัติก็เป็นการเตือนเพื่อให้หยุด

การพิจารณาการก่อสร้างท่าเรือหรือมารีนาในอนาคตนั้น นายวสันต์กล่าวว่า ในภูเก็ตต่างจากที่อื่นเนื่องจากเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมีการห้ามการก่อสร้าง ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากผิดกฎหมายก็ให้ชะลอ หรืออาจจะมีการยกเว้นโดยให้ทำเท่าที่จำเป็นและคุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพื่อให้เหลือพื้นที่ให้คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยอยู่ในพื้นที่ได้ด้วย นั่นก็คือ ประมงพื้นบ้าน โดยให้จังหวัดเสนอเรื่องไปยัง สผ.และให้กรรมการสิทธิฯเสนอไปด้วยส่วนหนึ่ง

เมื่อเห็นตรงกันก็ให้ออกเป็นประกาศ เพื่อสะดวกต่อจังหวัด ในการที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติในอนาคต ซึ่งมองในภาพรวมทั้งอ่าวพังงา เพราะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเหมือนกัน และมีแนวโน้มจะเกิดกรณีในลักษณะเดียวกัน ก็ต้องป้องกันไว้ก่อนไม่ใช่มาแก้กันทีละเรื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น