xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯห่วงเขื่อนกันคลื่นมารีนาฉลองทำน้ำกัดเซาะชายหาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรรมการสิทธิฯยังไม่ฟันธง โครงการท่าเทียบเรือมารีน่าอ่าวฉลองเฟส 2 ห่วงเขื่อนกันคลื่นส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม เผยมีตัวอย่างให้เห็นทำน้ำกัดเซาะชายหาดรุนแรง ขณะกรมขนส่งทางน้ำยังไม่ระบุเดินหน้า หรือหยุดรอฟังความเห็นชาวบ้านอีกครั้งแต่ยังไม่มีเจ้าภาพจัด

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะได้รับฟังข้อชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวกับโครงการพัฒนาสร้างท่าเทียบเรือสำราญกีฬา บริเวณอ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งขณะนี้มีการก่อสร้างเฟสแรกเสร็จแล้ว เป็นท่าเทียบเรือมารีนาของรัฐแห่งแรกสามารถจอดเรือได้ 44 ลำ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในการดำเนินการจำนวน 70 ล้านบาท

ขณะที่การก่อสร้างในเฟส 2 นั้น ยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ หลังจากมีการร้องเรียนขอให้ระงับโครงการก่อสร้างไปยังคณะกรรมการสิทธิฯของชุมชนในพื้นที่

คณะกรรมการสิทธิโดยคณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อมจึงลงพื้นที่เพื่อรับฟังการชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรวมรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงนำเสนอคณะกรรมการสิทธิฯ และสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป โดยมีผู้แทนจากกรมขนส่งพาณิชย์นาวี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนเครือข่ายชุมชนอ่าวฉลองเข้าร่วมประชุม

ตัวแทนจากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญอ่าวฉลอง จ.ภูเก็ต เป็นหนึ่งในโครงการศึกษาออกแบบท่าเรือสำราญกีฬา ในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ซึ่งในพื้นที่ภูเก็ตนั้น จากผลการศึกษาพบว่า บริเวณท่าเทียบเรืออ่าวฉลองมีความเหมาะสม ขณะนี้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ดำเนินการก่อสร้าง ที่ท่าเทียบเรือสำราญหรือเรือยอชต์ ในเฟสแรกเสร็จไปแล้ว สามารถจอดเรือยอชต์ได้ 44 ลำ ด้วยงบประมาณ 70 ล้านบาท และได้ศึกษาออกแบบในเฟสที่ 2 ต่อเพื่อที่จะรองรับเรือยอชต์ได้มากขึ้น เนื่องจากในแต่ละปีจะมีเรือยอชต์ของชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาภูเก็ตเป็นจำนวนมาก

จากการศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้าง ท่าเทียบเรือสำราญกีฬาอ่าวฉลองในเฟส 2 นี้ ภายในโครงการจะประกอบด้วยที่จอดเรือยอชต์จำนวน 210 ลำ เขื่อนกันคลื่น 2 ตัว รวมความยาวประมาณ 1,300 เมตร การขุดลอกร่องน้ำและแอ่งจอดเรือ อาคารอเนกประสงค์เพื่อให้เป็นจุดให้บริการตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ด่านกักกันโรคพืช -โรคสัตว์ ที่ทำการสำนักงานตรวจการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาภูเก็ต และที่ฝึกอบรมคนเรือที่เกี่ยวกับการนำเรือยอชต์ และความปลอดภัยในการเดินเรือ อาคารช่างเพื่อให้บริการซ่อมบำรุงทุ่นจอดเรือและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ในโครงดาร เครื่องหมายช่วยการเดินเรือ ถึงเก็บน้ำดีและโรงสูบน้ำ และบ่อบำบัดน้ำเสีย

อย่างไรก็ตาม จากการจัดรับฟังความคิดเห็นของชุมชนหลายครั้งที่ผ่านมา พบว่า มีชุมชนบางส่วนมีความเห็นไม่ตรงกับบริษัทที่ปรึกษา โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างเขื่อนกันคลื่น และเรื่องของหญ้าทะเลและปะการัง ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมได้มีการ่วมหารือกับทาง อบจ.ภูเก็ต ซึ่ง อบจ.ก็ได้เสนอให้มีการปรับลดในส่วนของขนาดโครงการลง จากเดิมจากเรือได้ 200 ลำให้ลดลงเหลือเพียง 100 ลำ และจากเดิมการสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบหินทิ้งให้เป็นสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบลอยน้ำ เพื่อให้น้ำสามารถผ่านเข้าไปได้

ขณะนี้การแก้ไขปรับปรุงโครงการดำเนินการเสร็จแล้วรอเพียงนำเสนอ อบจ.และให้ อบจ.เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน เพราะขณะนี้กรมมองว่าจะไม่ผลักดันเรื่องนี้แล้วแต่หากชาวบ้านเห็นด้วย ที่จะให้ดำเนินโครงการต่อก็จะทำต่อ แต่ถ้าชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็จะหยุด ส่วนเรื่องของการจัดรับฟังความคิดเห็นนั้นขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการเนื่องจากอบจ.กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ ทำให้ในขณะนี้ยังไม่มีเจ้าภาพที่จะจัดให้มีการประชุม

นายสมชาย โสมนัสขจรกุล วิศวกรโยธา 8 กล่าวภายหลังการชี้แจง ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะจะต้องมีการหารือหลังจากที่ทาง อบจ.ได้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไข ว่าในระยะที่ 2 จะยกเลิกหรือปรับปรุงในส่วนไหนอย่างไร เช่น ตัวอาคารหน้าท่า จำนวนช่องจอดเรือ เขื่อนกันคลื่น เป็นต้น และชาวบ้านรับได้หรือไม่โดยเฉพาะในเรื่องตัวเขื่อนกันคลื่น ซึ่งในแง่การส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญนั้นก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ในเรื่องของการตรวจลงตราทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งมีการใช้งานอยู่แล้ว และที่เราสร้างมานั้นก็ไม่ได้แข่งขันกับทางเอกชนซึ่งสร้างมาเพื่อขายพร้อมอสังหาริมทรัพย์ด้วย แต่ของเราจะเน้นการอำนวยความสะดวกและการจัดระเบียบดังกล่าวแล้ว

ด้านนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง แร่และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในส่วนของ กรรมการสิทธิฯ ก็จะรวบรวมข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากการรับฟังและการขอข้อมูลเพิ่มเติม ในเรื่องของรูปแบบเขื่อน การจัดทำ IEE และข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปสรุปในภาพรวม แล้วเสนอเป็นรายงานของกรรมการฯต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงการแสดงความคิดเห็นประกอบ โดยเฉพาะในเรื่องของเขื่อนกันคลื่น ซึ่งเราค่อนข้างเป็นห่วงมาก เนื่องจากมีตัวอย่างของผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนหินทิ้งกันคลื่นในหลายพื้นที่ให้เห็นอยู่แล้ว
เช่น หาดทรายแก้ว จ.สงขลา ซึ่งมีการกัดเซาะค่อนข้างรุนแรง เป็นต้น รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันที่ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ และก็เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามานั้นเขาต้องการสัมผัสกับธรรมชาติมากกว่าในเรื่องของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น